14 ก.ย. 2020 เวลา 13:05 • กีฬา
FSG เจ้าของทีม ลิเวอร์พูล มีฐานะร่ำรวยก็จริง แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีเงินเป็นถุงเป็นถังในระดับเดียวกับเจ้าของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ เชลซี
ดังนั้นพวกเขาจึงต้องดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ฉลาดกว่าและดีกว่าทีมอื่น ๆ
และต่อไปนี้คือเรื่องราวของการทำงานเบื้องหลัง, การวิเคราะห์, การวางแผนงานต่าง ๆ โดยมีตัวละครที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาวุธลับของทีมเรา นั่นคือ วิลเลี่ยม สเปียร์แมน
...
หลาย ๆ สโมสรใน พรีเมียร์ลีก มองว่า วิลเลี่ยม สเปียร์แมน เป็นเหมือน -อาวุธลับของ ลิเวอร์พูล'-
แม้เขาจะไม่ได้รับความสนใจมากเหมือนกับ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการกีฬาของ ลิเวอร์พูล หรือ เอียน เกรแฮม หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำสโมสร แต่ชื่อของ สเปียร์แมน ก็มักจะไปโผล่ตามบทความเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล ในฐานะนักวิเคราะห์
และนอกจากนี้ ครั้งเดียวที่เขาปรากฏตัวในที่สาธารณะ กลับเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาจากความตั้งใจของตัวเองเลย..
นั่นคือตอนที่มีใครบางคนจับภาพ เจอร์เก้น คล็อปป์ โชว์สเตปแดนซ์ ที่คลับ คืนวันปาร์ตี้ คริสต์มาส หลังชัยชนะเหนือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 3-1 ในเดือนธันวาคม ปี 2018 ที่ แอนฟิลด์ แล้ว สเปียร์แมน ก็ยืนอยู่ในเฟรมนั้นและออกท่วงท่าลีลาในแบบฉบับของตัวเอง
วิลเลี่ยม สเปียร์แมน คือ นักวิทยาศาสตร์ ที่เพื่อนร่วมงานใน เมลวู้ด มักเรียกเขาแบบน่ารัก ๆ ว่า -นักวิทย์มะกัน-
หน้าที่หลักของเขาคือเน้นไปที่การสรรหาตัวผู้เล่น ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สเปียร์แมน ต้องทำงานใกล้ชิดกับบรรดาแมวมอง โดยถึงขั้นใช้ออฟฟิศเดียวกับสเกาท์เหล่านั้น
สเปียร์แมน ไม่ค่อยได้คุยกับนักฟุตบอลสักเท่าไหร่นัก เว้นแต่ว่าจะได้เจอกันที่โรงอาหารตอนมื้อเที่ยง ซึ่งนี่ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นแทบไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้วงานของเขาคืออะไรกันแน่
ขณะที่ เอ็ดเวิร์ดส์ กับ คล็อปป์ ต่างชอบที่เป็นแบบนี้ แต่ สเปียร์แมน กลับรู้สึกว่ามันยุ่งยากสำหรับเขา
พื้นเพของ เอ็ดเวิร์ดส์ คือเป็นคนที่รับได้กับการนั่งดูตัวเลขบนกองเอกสารหลายชั้น แต่ข้อมูลของ สเปียร์แมน จำเป็นต้องถูกทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสุด ๆ เพื่อทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับการวิเคราะห์เข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้
ตรงจุดนี้เองที่เป็นหน้าที่ของทีมวิเคราะห์ข้อมูล ทีมงานทั้งหมดต้องเปลี่ยนสิ่งที่ สเปียร์แมน พบให้เป็นคลิปวิดีโอเพื่อนำไปเปิดในที่ประชุมของทีม
ตอนที่ คล็อปป์ บอกว่าแรงสนับสนุนที่ ลิเวอร์พูล มันยอดเยี่ยมเอามาก ๆ จนทำให้ตัวเองถึงขั้นอึ้งถึงขั้นประหลาดใจนั้น เขาหมายถึงข้อมูลที่มีคนเอามาให้ ไม่ว่าจะเป็น เกร็ก แมทธีสัน และ เจมส์ เฟร้นช์ ที่ทำหน้าที่ศึกษาคู่แข่ง รวมถึง แฮร์นิสัน คิงสตัน กับ มาร์ค ลีย์แลนด์ ที่เป็นทีมวิเคราะห์หลังเกม
คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ต้องทำหน้าที่ในวันที่มีการแข่งขัน ด้วยการดูว่าเกมในสนามเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผ่านทางจอมอนิเตอร์ที่พวกเขาสามารถทำงานจากในห้องแต่งตัวได้
3
แต่ในทางกลับกัน สเปียร์แมน มักนั่งดูเกมบนอัฒจันทร์มากกว่า เขาเป็นเหมือนขั้นตอนแรกของสายพานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโปรแกรมและอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดข้อมูลต่าง ๆ ออกมา แล้วจากนั้นค่อยมาสรุปอีกที
60 % จากเวลาทั้งหมดของ สเปียร์แมน หมดไปกับการปรับปรุงคิดค้นเพื่อแผนระยะยาว มันเป็นเหมือนสิ่งที่เขาเคยทำในงานด้านวิชาการตอนอยู่หาวิทยาลัยฮาวาร์ด
อีก 30 % ใช้ไปกับการประสานงานกับโค้ชและนักวิเคราะห์ทั้งในด้านโปรเจกต์ระยะสั้น หรือไม่ก็ทำงานตามที่ถูกสั่งมา สเปียร์แมน อาจทุ่มเทให้กับการทำงานด้านนี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน หรือไม่ก็ทำงานแบบไม่กี่วันต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 2-3 เดือน
ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้นจะทำให้เขามีเวลากลั่นกรองความคิดจนเกิดเป็นไอเดียขึ้นมา
ส่วนที่เหลือ 10 % เป็นการทำงานด้านเดิม ๆ เช่น รายงานหลังจบเกมการแข่งขัน หรือทำงานในประเด็นที่อาจคว้าผู้เล่นมาร่วมทีม โดยกรณีหลังนี้มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ
...
ตอนที่ สเปียร์แมน ย้ายจาก เท็กซัส มาอยู่ อังกฤษ เมื่อปี 2017 เขาตัดสินใจเช่าบ้านในย่านที่ไม่ห่างจาก เมลวู้ด มากนัก เพราะไม่มั่นใจว่าการได้ใบขับขี่ใน อังกฤษ มันจะยากมากแค่ไหน
สเปียร์แมน จะคอยส่งรายงานให้แก่ เกรแฮม ซึ่งพักอาศัยและทำงานที่บ้านของตัวเองใน เชลท์แน่ม ที่อยู่ห่างจาก สนามซ้อม ลิเวอร์พูล 140 ไมล์
ถึงแม้ว่า เกรแฮม จะเดินทางมายัง เมอร์ซี่ย์ไซด์ แค่ 2 ครั้งต่อเดือน แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการพูดคุยกับทีมงานวิจัยที่เต็มไปด้วยอัจริยะหัวกะทิ เพราะพวกเขาติดต่อกันผ่านโปรแกรม Slack ตลอดทั้งวัน และมันก็พิสูจน์แล้วว่าวิธีการนี้มีประโยชน์อย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ สเปียร์แมน ที่บินไปกลับไปอยู่ที่ สหรัฐฯ ในช่วงที่เกาะอังกฤษ ล็อคดาวน์
บ้านของ เกรแฮม ที่มณฑล กลอสเตอร์เชอร์ ไม่ได้ห่างจากบ้านของ ทิม วาสเก็ตต์ อีกหนึ่งทีมงานของ ลิเวอร์พูล ที่มักจะทำตัวให้โลว์โปรไฟล์ แต่ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะเขาคือนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ที่ทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ และเป็นนักวิจัยเชิงสถิติมาตั้งแต่ปี 2012 และในระหว่างสัปดาห์ วาสเก็ตต์ กับ เกรแฮม ก็จะทำงานในบ้านของพวกเขาเอง
ทีมงานนี้ประกอบไปด้วยนักวิจัยทั้งหมด 6 คน
วาสเก็ตต์ คือคนแรกที่ เกรแฮม ดึงมาทำงานด้วย
 
โดยหลัก ๆ แล้ว วาสเก็ตต์ ถูกดึงเข้ามาอยู่กับทีมเพื่อทำให้โมเดลด้านข้อมูลเกิดประโยชน์มากที่สุด หลังจากที่ตัว เกรแฮม เองรู้สึกว่าเขาไม่สามารถใช้ข้อมูลนั้นเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ได้
ในงานก่อนหน้านี้ของ สเปียร์แมน ที่เคยเป็นนักวิเคราะห์ด้านศักยภาพให้กับบริษัท ฮูเดิ้ล(Hudl) นั้น เขาต้องจัดการกับข้อมูลมากมายก่ายกอง ต้องทำให้ข้อมูลขนาดใหญ่มาอยู่ด้วยกันจนให้เกิดความสอดคล้องในโมเดลของตัวเอง
ซึ่งที่ ลิเวอร์พูล ก็มี วาสเก็ตต์ ที่เป็นคนคอยช่วยจัดการเรื่องเหล่านั้นให้
ดาฟีดด์ สตีล ก็คล้ายๆ กับ เกรแฮม คือเกิดในประเทศเวลส์
สตีล เป็นอดีตแชมป์หมากรุกระดับเยาวชนที่เข้ามาร่วมงานกับ ลิเวอร์พูล ในปี 2013 โดยมาจากบริษัท ปีโตรนาส ซึ่งเขามีหน้าที่คอยหาคำตอบสำหรับคำถามบางอย่าง
ส่วน มาร์ค ฮาวเล็ตต์ ซึ่งเป็นคนดูแลระบบ มีหน้าที่ดูแลฐานข้อมูลของ ลิเวอร์พูล และสุดท้าย มาร์ค สตีเวนสัน คือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีหน้าที่จำลองเรื่องต่างๆ รวมถึงจัดเตรียมผลจากการหาข้อมูลให้กันแผนกอื่นๆ
นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลและการทำงานด้านแมวมองเหล่านั้น ทีมนักวิจัยยังมีหน้าที่สร้างอุปกรณ์ให้หน่วยงานด้านสภาพความฟิตและด้านการเตรียมความพร้อมของสโมสรที่มี อันเดรียส คอร์นเมเยอร์ เป็นหัวหน้าอีกด้วย
...
สเปียร์แมน ถูกสโมสรว่าจ้างเพราะเขาเข้าใจข้อมูลด้านการสะกดรอยแบบใกล้ชิด
เขาเป็นคนสร้างเครื่องมือด้านสถิติการประเมินระดับของการคุมเกมทั่วทั้งสนามของที่ ฮูเดิ้ล(Hudl)
ข้อมูลด้านการสะกดรอยแบบใกล้ชิดเป็นการแกะรอยติดตามการเคลื่อนที่ของบอลและผู้เล่น ซึ่งโดยปกติแล้วจะวัดผลในทุก ๆ วินาทีที่ 25 ของแต่ละนาทีด้วยการใช้กล้องภายในสนาม
ข้อมูลนี้เป็นส่วนประกอบของบรรดาสถิติที่บันทึกโดยสื่อด้านสถิติชื่อดังรายต่าง ๆ เช่น ออปต้า(Opta) ที่แสดงให้เห็นถึงการสัมผัสบอลทุกจังหวะของผู้เล่น
เครื่องมือดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อ ลิเวอร์พูล มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการที่มันสามารถประเมินระยะห่างระหว่างนักเตะกับลูกบอล และความน่าจะเป็นที่แท้จริงของเปอร์เซ็นต์การครอบครองบอล เพราะยังไงเสีย ความสามารถของนักเตะในการไล่กดดันคู่แข่งก็เป็นสิ่งที่ คล็อปป์ ให้ความสำคัญเอามาก ๆ อยู่แล้ว
นับตั้งแต่นั้นมา ลิเวอร์พูล กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ทีมที่ลงทุนกับข้อมูลด้านการสะกดรอยด้วยคลิปจากกล้องถ่ายทอดสดเป็นทีมแรก ๆ
ข้อมูลด้านนี้เป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ในด้านการวิเคราะห์เกมฟุตบอลที่ดูตำแหน่งการยืนของนักเตะและตำแหน่งของลูกบอลโดยที่ไม่ได้ใช้กล้องในสนาม แต่วิเคราะห์จากคลิปถ่ายทอดสดแทน
ซึ่งการที่พวกเขาจับมือเป็นพันธมิตรกับ สกิลคอร์เนอร์(SkillCorner) ทำให้ ลิเวอร์พูล สามารถเข้าถึงตัวอุปกรณ์ที่ตามดูการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทุกคนได้
ในขณะเดียวกัน สเปียร์แมน ก็ได้พัฒนาโมเดลที่ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ของ ลิเวอร์พูล สามารถประเมินโอกาสที่จะเกิดประตูจากการยิงในทุกพื้นที่ของสนามล่วงหน้าเป็นเวลา 15 วินาทีได้
เครื่องมือนี้ถูกใช้เพื่อประเมินศักยภาพของนักเตะหลังจบเกม พรีเมียร์ลีก ทุกนัด ซึ่งมันไม่ได้ใช้แค่กับนักเตะ ลิเวอร์พูล เท่านั้น
"เราสามารถประเมินนักเตะหลายคนจากทั่วทุกมุมโลกได้ด้วยการใช้ข้อมูลการสัมผัสบอล" วอสเก็ตต์ เผยในตอนที่เขาขึ้นบรรยายที่ สถาบันรอยัล เมื่อเดือนธันวาม ปี 2019
"มันทำให้เรามีข้อมูลที่ดีในเรื่องที่ว่านักเตะคนไหนกำลังทำผลงานได้ยอดเยี่ยม และทำให้เราได้ข้อมูลของนักเตะที่เราอาจจะสามารถดึงมาร่วมทีมได้ในอนาคตด้วย"
...
คอลเลจ สเตชั่น (College Station) คือเมืองสำหรับการศึกษาของสหรัฐอเมริกา เดิมทีถูกสร้างขึ้นหลังจากที่มีการวางรางรถไฟรางแรก ๆ ของคนในรัฐเท็กซัส
สถานที่แห่งนี้อยู่ตรงใจกลางของสามเหลี่ยมที่ประกอบไปด้วย 3 เมืองใหญ่ประจำรัฐอย่าง ดัลลัส, ฮุสตัน และ ออสติน
 
ซึ่งหลัก ๆ แล้วการว่าจ้างงานของที่นี่จะเป็นในด้านการศึกษา โดยการสำรวจประชากรครั้งล่าสุดก็พบว่ามีการว่าจ้างงานด้านการศึกษาในเมืองดังกล่าวถึง 16,000 ตำแหน่งด้วยกัน
พ่อของ วิลเลี่ยม.. มาร์ค สเปียร์แมน จบจากปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Texas A&M (Agricultural & Mechanical) ในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ เมื่อปี 1986
ช่วงแรก มาร์ค เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น แถว ๆ ชิคาโก้ ก่อนจะมารับตำแหน่งที่สถาบันเทคโนโลยีแห่ง จอร์เจีย ใน แอตแลนต้า จากนั้นเขาก็กลับมาทำงานที่สถาบันเดิม(Texas A&M) อีกครั้งหลังสั่งสมประสบการณ์ทำงานมากว่า 2 ทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม หลังผ่านไปไม่ถึง 1 ปี เขาเริ่มไม่สนุกกับการได้ตำแหน่งผู้นำของมหาวิทยาลัยเลย จึงกลับไปรับงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ แฟ็คตอรี่ ฟิสิกส์(Factory Physics) บริษัทของเขาเอง
 
โดยบริษัทนี้ถูกตั้งขึ้นตามชื่อหนึ่งในหนังสือเรียนเล่มแรก ๆ ของเขาที่ถูกตีพิมพ์ระหว่างตอนที่ มาร์ค อยู่ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น
แบลร์ ภรรยาของ มาร์ค เป็นนักชีววิทยา และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อย่างน้อย 1 ในลูก ๆ 3 คนของพวกเขามีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์
ยาค็อบ คือลูกคนโตของครอบครัว, วิลเลี่ยม เป็นคนรอง และคนสุดท้ายคือ รีเบ็คก้า แต่คนหลังสุดหันเหไปสนใจเรื่องงานศิลปะคลาสสิค ซึ่งตอนนี้เธอกำลังเรียนในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ โดยที่ยังเป็นอาจารย์ของที่นั่นด้วย
...
วิลเลี่ยม สเปียร์แมน เกิดในเมืองชิคาโก้ แต่ย้ายไปอยู่ คอลเลจ สเตชั่น ตั้งแต่ตอนอายุเพียง 6 ขวบ เพราะเขาต้องตามคุณพ่อที่ไปทำงานที่นั่นในปี 2005
สเปียร์แมน เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยดัลลัส โดยศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และด้านฟิสิกส์เป้นหลัก
หลังจากไปศึกษาที่ เจนีวา ด้วยการเป็นนักเรียนทุนได้ 1 ปี สเปียร์แมน ก็กลับมาที่สหรัฐฯ และเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกด้านอนุภาคพลังงานสูงที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยวิทยานิพนธ์ของเขาเป็นการประเมินปริมาณและความกว้างของสนามพลังฮิกส์โบซอน
และถึงแม้ว่าบางรายงานจะบอกว่า สเปียร์แมน มีบทบาทอย่างมากในโปรเจกต์ที่มีผลกระทบ แต่ ดิ แอธเลติก ทราบมาว่าที่จริงแล้วยังมีอีกหลายคนที่มีส่วนร่วมด้วย โดยเขาเป็นหนึ่งในทีมงานขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยนักวิจัย 5,000 คน ที่ทำงานกับโครงการนั้น
สเปียร์แมน ไม่ต่างอะไรจากคุณพ่อของเขา นั่นคือการบอกลาวงการด้านการศึกษาแล้วมุ่งหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจในปี 2015 ด้วยการไปอยู่กับ ฮูเดิ้ล(Hudl) บริษัทที่ทำเครื่องมือด้านการวิเคราะห์ศักยภาพ
โดยหลายทีมกีฬาใน สหรัฐฯ ใช้เครื่องมือของบริษัทนี้ และแม้ว่า สเปียร์แมน จะชอบดูอเมริกัน ฟุตบอล แต่เขาไม่ใช่นักกีฬา อย่างตอนสมัยเรียนที่วิทยาลัยใน ดัลลัส นั้น สิ่งที่สื่อให้เห็นว่าเขาจริงจังกับเรื่องการแข่งขันมากสุดก็มีแค่การเข้าร่วมทีมจานร่อนเท่านั้น
สเปียร์แมน เริ่มสนใจกีฬาที่คนทั่วโลกเรียกว่า 'ฟุตบอล' ก็ตอนที่เข้ามาทำงานกับ ฮูเดิ้ล แล้ว โดยความสนใจของ สเปียร์แมน มาจากการที่ฟุตบอลเล่นกันต่อเนื่อง และเต็มไปด้วยข้อมูลอันซับซ้อน
แม้ว่าบริษัทนี้จะเอาดีด้านการประเมินการตัดสินใจในกีฬาเบสบอลมานานแล้ว แต่ สเปียร์แมน กลับรู้สึกว่าการวิเคราะห์ตัวเลขในกีฬาที่ฮิตที่สุดของ อเมริกา มันทำได้ง่ายกว่าฟุตบอล เพราะตัวเลขด้านผลลัพธ์ของกีฬาเบสบอลมันตายตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยึดฐานแรก(first base), ยึดฐานสอง(second base), ยึดฐานสาม(third base), การทำโฮมรันได้(home run) หรือการโดนจับเอ๊าท์
ด้วยเหตุนี้ สเปียร์แมน จึงสามารถทำโมเดลได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าอเมริกัน ฟุตบอล จะแตกต่างกับฟุตบอลในระดับหนึ่ง แต่ในด้านการวิเคราะห์แล้วบาสเกตบอลกลับถือว่าใกล้เคียงกับฟุตบอลมากที่สุด และสามารถวิเคราะห์ได้อย่างง่ายดายด้วยเพราะการวิเคราะห์โอกาสการทำแต้มของกีฬาบาสเกตบอลสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์การทำประตูในกรอบเขตโทษด้วยการผ่านบอลแบบจังหวะเดียวได้ทันที
จริงอยู่ในกีฬาฟุตบอล มีเรื่องความอันตรายของการเล่นเกมสวนกลับเร็ว แต่สนามของกีฬาฟุตบอลมันใหญ่กว่าคอร์ทบาสเกตบอล และความเป็นไปได้ของการผ่านบอลระยะไกลที่นำไปสู่การทำประตูโดยตรงก็มีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่า
สเปียร์แมน มองอออกทันทีว่าฟุตบอลมีการต่อบอลขึ้นเกมกันมากกว่าบาสเกตบอล และผลลัพธ์ของการขึ้นเกมก็ขึ้นอยู่กับการใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง
เมื่อ 5 ปีก่อน สเปียร์แมน มองออกว่าข้อมูลแบบนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในกีฬาฟุตบอล ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ
มันไม่ใช่ทุกทีมที่สนใจกับการใช้ข้อมูลแบบนั้น ซึ่งในความคิดของเขานั้น ยังมีอีกหลายอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลที่ยังไม่ได้รับการอธิบายออกมาให้เห็นภาพแบบชัดเจน แม้ว่าตอนนั้น สเปียร์แมน จะเป็นหนึ่งในนักเรียนหลายพันคนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่กำลังวิจัยเรื่องสนามพลังฮิกส์โบซอน แต่ประสบการณ์ ทำให้เขามีความรู้ในสิ่งที่แปลกใหม่ของกีฬาฟุตบอลที่ไม่เคยมีใครคิดจะสำรวจมาก่อน
การวิเคราะห์สิ่งที่มีเพียงไม่กี่คนทั่วโลกกำลังศึกษาอยู่มันทำให้ สเปียร์แมน ตื่นเต้นมาก ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าถึงข้อมูลแบบเดียวกับเขาได้ แต่เขาชอบคิดว่าตัวเองมองมันในทางที่ต่างจากคนอื่น ๆ มากกว่า
ในปีแรกของเขาที่ ฮูเดิ้ล เขาออกแบบโมเดลด้านการครองบอลที่ไปเตะตา ลิเวอร์พูล
ตอนที่โมเดลดังกล่าวถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในปี 2016 นั้น เกรแฮม กับ สตีล อยากเจอ สเปียร์แมน ตัวเป็น ๆ มาก ๆ และหลังจากนั้นทั้ง 3 คนก็ติดต่อกันอยู่ตลอด
ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วเป็นการติดต่อกันผ่านทางอีเมล์ จนกระทั่ง เกรแฮม ตัดสินใจถาม สเปียร์แมน เมื่อปี 2017 ว่าเขาสนใจจะย้ายไปทำงานที่ ลิเวอร์พูล หรือเปล่า?
ที่จริง สเปียร์แมน มีบ้านอยู่ที่ คอลเลจ สเตชั่น ซึ่งทำให้เขาสามารถทำงานให้กับ ฮูเดิ้ล จากที่ห่างไกลได้ และการต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หากต้องไปอยู่ใน อังกฤษ มันก็ทำให้เขากลัวอยู่เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้น สเปียร์แมน ก็ไม่สามารถทนต่อแรงยั่วยวนของการได้พยายามทำสิ่งที่เขามองว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ได้
...
ปกติแล้วบรรดานักวิจัยของสโมสรฟุตบอลมักจะไม่ป่าวประกาศงานของตัวเองจนเหมือนเป็นการโฆษณา เพราะนั่นอาจทำให้คู่แข่งลองพัฒนาสิ่งที่แปลกใหม่ได้
นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าทีมไหนกำลังเป็นผู้นำในด้านการวิเคราะห์อยู่
วิลเลี่ยม สเปียร์แมน เป็นคนที่มองว่านวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และแน่นอน ลิเวอร์พูล ไม่นิ่งนอนใจและทำพลาดเหมือนที่ทีมอื่น ๆ เคยทำได้
จริงอยู่ว่าเจ้าของทีม ลิเวอร์พูล รวยมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้รวยในระดับเดียวกับเจ้าของทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ เชลซี ดังนั้นพวกเขาเลยต้องดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ฉลาดกว่าและดีกว่าทีมอื่น ๆ
เชลซี กำลังสร้างทีมนักวิเคราะห์ที่ดูดีขึ้นมา ขณะที่ ซิตี้ เพิ่งจ้างพนักงานใหม่ 3 คน และกำลังทำงานร่วมกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เหมือนว่า สเปียร์แมน จะประทับใจการทำงานของ มลาเดน ซอร์มาซ เพื่อนร่วมรุ่นของเขาที่กำลังทำงานอยูที่ เลสเตอร์ ซิตี้ และ ซาราห์ รุดด์ ของ อาร์เซน่อล มาก ๆ ซึ่งในรายของ รุดด์ เพิ่งย้ายมาจาก สแตทดีเอ็นเอ(StatDNA) ในตอนที่ "ไอ้ปืนใหญ่" เริ่มทำงานกับกลุ่มดังกล่าวเมื่อ 7 ปีก่อน
รุดด์ กับ ฮาเวียร์ เฟร์นานเดซ ของ บาร์เซโลน่า ถูกยกให้เป็นนักวิจัยอันดับต้น ๆ ของวงการฟุตบอล แต่หลายคนในวงการลูกหนังมองว่าที่จริงแล้วในตอนนี้ สเปียร์แมน เก่งกว่า 2 คนนั้น เพราะกลุ่มเจ้าของทีมกับทีมงานด้านการจัดการเชื่อฟังคำพูดของเขามากกว่าอีก 2 คน
ในตอนที่ สเปียร์แมน มาอยู่กับ ลิเวอร์พูล เมื่อ 3 ปีก่อน หนึ่งในสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดก็คือการที่คนใหญ่คนโตของทีมจะไม่รับฟังคำพูดของเขาแบบจริงจัง หรือเรื่องที่ว่ามันอาจจะใช้เวลาหลายปีก่อนที่ผู้บริหารของทีมจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขา
สาเหตุที่เขาเกิดความกลัวแบบนั้นเป็นเพราะบรรดาเพื่อน ๆ ของตัวเองที่อยู่กับสโมสรอื่นต่างเจอปัญหาในการเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาภายหลังเสนอไอเดียที่ฟังดูครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ทว่า สเปียร์แมน ไม่เคยต้องรู้สึกแบบนั้นที่ ลิเวอร์พูล เลย เพราะเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาอยู่เสมอว่าเวอร์ชั่นแรกของโปรเจกต์ต่าง ๆ ของเขามันฟังดูสวยงามเกินกว่าจะเป็นจริงได้ มีตัวอย่างหลายครั้งที่โมเดลเกี่ยวกับนักเตะของ สเปียร์แมน มันไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นของแมวมอง
อย่างไรก็ตาม คนที่ได้ร่วมงานกับเขาก็มักจะพูดอยู่เสมอว่าพวกเขากับ สเปียร์แมน มีการสนทนาที่ดีต่อกัน ในขณะที่บรรดาแมวมองที่ได้เรียนรู้จาก สเปียร์แมน นั้น ตัว สเปียร์แมน เองก็ได้เรียนรู้เรื่องความจริงของฟุตบอลจากแมวมองมากขึ้นเช่นกัน
ก็เหมือนกับที่แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกับ ดิ แอธเลติก นั่นแหละว่า "ลิเวอร์พูล เหนือกว่าทีมอื่นก็เพราะพวกเขามีสมดุลที่ดีระหว่างคนด้านฟุตบอลกับโปรแกรมเมอร์"
#WilliamSpearman #Data #Liverpool #hossalonso #BootRoom
Ref. Meet William Spearman, Liverpool’s secret weapon, The Athletic
โฆษณา