15 ก.ย. 2020 เวลา 02:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จริงหรือไม่ที่ว่าค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์
ด้วยความร่วมมือของนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ Jane Greaves จากมหาวิทยาลัย Cardiff
ดอกเตอร์ William Bains และศาสตราจารย์ Sara Seager จาก MIT อีกทั้งภายใต้ความร่วมมือจากนักดาราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่น ยืนยันการค้นพบ Phosphine ในเมฆชั้นกลางในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ เมฆและฝุ่นของดาวศุกร์เต็มไปด้วยกรดซัลฟิวริก มีความหนาชั้นบรรยากาศตั้งแต่ 45 - 66 กิโลเมตร
ทำไมการค้นพบ Phosphine ถึงสำคัญ
เนื่องจาก Phosphine เป็นสารที่สังเคราะห์ได้บนโลก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือห้องแลป และพบได้จากของเสียของสิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่ภายใต้ภาวะไร้ออกซิเจน นั่นหมายถึงในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้
ค้นพบได้อย่างไร
เป็นระยะเวลาเกือบร้อยปีที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่าชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งอบอุ่นพอเหมาะแก่การดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตได้
จนกระทั่งปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์หลายแห่งตรวจพบสัญญาณที่เชื่อได้ว่าแนวคิดดังกล่าวนั้นอาจเป็นจริงได้ โดยเฉพาะกล้องโทรทรรศน์ James Clerk Maxwell ในฮาวาย และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Atacama Large Millimeter (จากความร่วมมือระหว่าง ESO, NSF, NINS และพาร์ทเนอร์จากองค์กรอื่น ๆ)
กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวตรวจจับจากการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในเมฆของดาวศุกร์ โดยมีเอกลักษณ์การดูดกลืนคล้ายกับสาร Phosphine (สสารแต่ละชนิดดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ดีไม่เท่ากัน นำมาใช้จำแนกชนิดของสสารได้)
แต่นักดาราศาสตร์ยังไม่ฟันธงว่าการพบ Phosphine จะมาจากสิ่งมีชีวิต ยังต้องตรวจสอบต่อไปว่ายังมีปฏิกิริยาทางเคมีอื่นใดอีกหรือไม่ที่ยังไม่ค้นพบ
อ่านมาถึงตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการตรวจพบ Phosphine สร้างความน่าสนใจและความเป็นไปได้ในการจะพบสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากโลกของเรา (และอาจนำไปสู่วิธีการหาสิ่งมีชีวิตจากดาวอื่นต่อไป)
และถ้าหากยืนยันว่ามาจากสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์จริง ๆ ก็อย่าพึ่งจินตนาการว่ามีหัวมีแขนมีขาอย่างชาวโลก เขาอาจจะเป็นแค่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแต่เพียงเท่านั้น
เรียบเรียงโดย Einstein@min | thaiphysicsteacher.com
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
โฆษณา