15 ก.ย. 2020 เวลา 05:02 • ความคิดเห็น
บทความที่ส่งต่อกันมาดีมากบทความหนึ่ง แต่ไม่ทราบผู้เขียน จึงขออนุญาตนำมาแชร์
ทำไมโซเชียลมีเดียจึงเป็นศัตรูของความสามารถในการยอมรับการคิดต่างของคนอื่นในสังคมของเรา
เมื่อสองวันที่แล้วผมได้นั่งดูหนังสารคดีที่มีชื่อว่า The Social Dilemma ที่ออกฉายทาง Netflix แล้วมีหลายจุดที่ชอบ (ถ้าใครยังไม่ได้ดูแล้วไม่อยากถูกสปอยก็ไปดูหนังก่อนแล้วค่อยมาอ่านนะครับ) แต่จุดที่ผมชอบที่สุดในหนังก็คือ theme ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์และอคติทางด้านความคิดของคน โดยเฉพาะอคติที่มีชื่อว่า confirmation bias
สำหรับใครยังไม่รู้จักว่า confirmation bias คืออะไรล่ะก็ confirmation bias ก็คือการที่คนเราส่วนใหญ่มักจะแสวงหาแต่ข้อมูลที่รองรับความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วตั้งแต่ต้นเท่านั้น
ส่วนข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีอยู่แล้ว เรามักเลือกที่จะไม่อ่านมัน ไม่รับมัน เพราะการรับข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีอยู่มักจะก่อให้เกิด cognitive dissonance หรือความรู้สึกไม่สบายใจจากการมีข้อมูลที่ขัดกันในหัวของเรา (ยกตัวอย่างเช่นคนที่ติดบุหรี่มักจะไม่อยากได้ยินคนอื่นมาบอกเขาว่าการสูบบุหรี่มันไม่ดีต่อสุขภาพ
คนที่ติดบุหรี่มักจะชอบเสพข้อมูลอื่นๆที่ทำให้เขาสบายใจ เช่นข้อมูลที่ว่ามีคนที่สูบบุหรี่ที่มีชีวิตอยู่เกือบถึงร้อยปี อะไรแบบนี้เป็นต้น)
Confirmation bias เป็นอะไรที่เกิดขึ้นกับคนเราเกือบทุกคนตั้งแต่ก่อนที่จะโลกเราจะมีโซเชียลเดียเสียอีก แต่ว่าในโลกก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียนั้น
คนเราส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการรับรู้ข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีได้เสมอ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าในสมัยก่อนนั้นเราไม่ได้มีแหล่งข่าวที่คัดเอาแต่ข้อมูลที่เราต้องการจะเสพเพื่อความสบายใจของเราเพียงแค่อย่างเดียว
มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่รับรู้ข้อมูลที่สามารถก่อให้เกิด cognitive dissonance ในหัวของเราได้
แต่ด้วยกลไก หรือ algorithm ของโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook หรือ Twitter ทำให้เราถูก expose ต่อความคิดเห็นของคนอื่นที่ตรงกันกับเราเพียงแค่อย่างเดียว มันทำให้เราเสพแต่ข่าวที่รองรับความเชื่อและความรู้สึกที่เรามีอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่ากลไกของโซเชียลมีเดียจะคัดเลือกในแต่ละสิ่งที่มันคิดว่าเราอยากจะเสพ อยากจะอ่านมาให้เราเท่านั้น (จะเห็นได้เช่น ถ้าคุณคลิกดูวีดีโอแมวไปหนึ่งครั้ง คุณก็จะเห็นว่า Facebook มักจะนำวีดีโอแมวอื่นๆมาแนะนำให้คุณคลิกดูต่อไปเรื่อย …
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมมีดูวีดีโอหมาเกือบทุกๆคืนก่อนนอน) ส่วนสิ่งที่เราไม่เคยคลิกเข้าไปอ่านหรือเข้าไปดู กลไกของโซเชียลมีเดียก็จะไม่นำมาให้เราเห็นอีก
Twitter ก็เช่นเดียวกัน คนเราส่วนใหญ่มักจะเลือก follow แต่คนที่คิดเหมือนกันกับเขาแทนคนที่คิดต่างกันกับเขา
มันจึงไม่เป็นอะไรที่แปลกเลยที่คุณแทบจะไม่เคยเห็นโพสต์ของคนที่คิดต่างจากคุณใน Facebook News Feed
มันจึงไม่เป็นอะไรที่แปลกเลยที่คุณคิดว่าคนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันกับคุณ
มันจึงไม่เป็นอะไรที่แปลกเลยที่คุณจะคิดว่าคนที่คิดต่างจากคุณนั้นเป็นคนโง่ และที่คุณคิดว่าเขาโง่ก็เพราะคุณคิดว่าพวกเขาเห็นข้อมูลเดียวกันที่คุณเห็นแต่เขาก็ยังไม่ตาสว่างซักที
แต่ในความเป็นจริงนั้นกลไกของโซเชียลมีเดียทำให้เขาไม่เห็นในข้อมูลที่คุณเห็น ส่วนตัวคุณเอง คุณก็ไม่เห็นในข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เขาเห็นเช่นเดียวกัน
พูดง่ายๆก็คือ algorithm ของโซเชียลมีเดียนั้นทำให้ confirmation bias ของเราทำงานเหมือนกับมันพึ่งจะกินกาแฟไปร้อยแก้ว
แล้วเราจะทำยังไงดี ทางออกทางหนึ่งคือเราอาจจะต้องลองคลิกไปอ่านในสิ่งที่เราไม่อยากจะอ่านบ้าง เลือก follow คนที่เราไม่เห็นด้วยบ้าง เลือกที่จะไปเข้ากลุ่มกับคนที่คิดต่างกับเราเยอะๆบ้าง
จะสามารถช่วยทำให้เราฝึกการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) ได้ เพราะ empathy เท่านั้นที่จะสามารถช่วยคนเราทุกคนในสังคมได้
ผมขอทิ้งท้ายไว้ด้วยคำพูดของ Daniel Patrick Moynihan นักการเมืองสหรัฐที่เคยพูดเอาไว้ว่า
“You are entitled to your opinion. But you are not entitled to your own facts.”
คุณมีสิทธิ์ในการออกความคิดเห็นของคุณ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าข้อมูลของคุณเป็นข้อมูลเดียวที่สำคัญ
นิรนาม
โฆษณา