15 ก.ย. 2020 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
รู้จัก EECi เมืองนวัตกรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย
สหรัฐอเมริกามี ซิลิคอนวัลเลย์ เป็นเมืองเทคโนโลยี
จีนมี เซินเจิ้น ที่เปลี่ยนตัวเองจากอาณาจักรก๊อบปี้ มาเป็นดินแดนนวัตกรรมล้ำสมัย
ทีนี้หลายคนคงถามแล้วเมืองไทย สถานที่นี้อยู่ที่ไหน?
เราคงเคยได้ยิน EEC หรือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวม 1.5 ล้านล้านบาท
ที่จะมีทั้ง รถไฟความเร็วสูง, รถไฟรางคู่, สนามบิน และท่าเรือ
เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้สะดวก และยกระดับอุตสาหกรรมเมืองไทยเทียบชั้นระดับโลก
ซึ่ง 1 ใน 3 จังหวัดนี้ ก็จะมีอยู่พื้นที่หนึ่ง ที่ถูกยกให้เป็น เมืองแห่งนวัตกรรม
โดยใช้ชื่อว่า EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) ซึ่งตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง
มีพื้นที่ถึง 3,454 ไร่
แล้ว EECi จะมีโอกาสเป็น ซิลิคอนวัลเลย์ ของเมืองไทย ได้มากน้อยแค่ไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
EECi มีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมล้ำสมัย
เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศระยะยาว
พอเป็นแบบนี้คงเดาไม่ยากว่า EECi ต้องเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเก่งๆ
มารวมคิดค้นสารพัดงานวิจัยเพื่อต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง
โดยเมืองนวัตกรรมแห่งนี้มี “6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป
1. การเกษตรสมัยใหม่ ที่จะเปลี่ยนการเกษตรสมัยเก่าแบบสิ้นเชิง
เพราะรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตร 6.8 ล้านครัวเรือน
แต่กลับสร้างรายได้แค่ 8% จากมูลค่า GDP ทั้งหมดในประเทศ 1.68 ล้านล้านบาท
จากข้อมูลดังกล่าว ก็แปลความหมายทางอ้อมว่า ครัวเรือนเกษตรกรไทยจะมีรายได้น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็เป็นผลทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นเกษตรกร
EECi จึงมีอีกหนึ่งภารกิจคิดค้นวิจัยเกษตรสมัยใหม่ Modern Farming
ที่จะมาแก้ปัญหานี้ด้วยการทำให้ผลผลิตมากขึ้น แต่ใช้คนน้อยลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น
โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานผลิตพืช (Plant Factory)
เป็นเทคโนโลยีช่วยเกษตรกรยุคใหม่ให้สร้างผลผลิตมีประสิทธิภาพ
เพราะเป็นการปลูกพืชระบบปิดหรือกึ่งปิด ทำให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม
เช่น แสง อุณหภูมิ และธาตุอาหาร ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
1
โรงเรือนเทคโนโลยีฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse) จะมีอุปกรณ์ตรวจวัดลักษณะทางกายภาพของพืช
ที่ปลูกอยู่ในสภาวะต่างๆ ว่ามีความสูง และการเจริญเติบโตดีแค่ไหน
จากนั้นรวบรวมเป็นฐานข้อมูล เพื่อช่วยคัดเลือกพันธุ์พืชที่แข็งแรงนำไปเพาะปลูก
2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
แล้วเมื่อผลผลิตมาก ก็ต้องขายให้ได้ราคาแพงกว่าเดิม
พื้นที่นี้ก็จะทำหน้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ Biorefinery โรงกลั่นชีวภาพต้นแบบ ที่จะแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
ซึ่ง ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารนา ผู้อำนวยการ EECi จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล EECi กล่าวไว้ว่า “EECi จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในประเทศเพื่อไปสู่ตลาดโลก จากเดิมที่ไทยขายข้าวเป็น “ตัน” ก็จะสามารถขายสารออกฤทธิ์จากข้าวเป็น “กรัม” ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า”
โดยโรงกลั่นชีวภาพต้นแบบนี้ จะเริ่มตั้งแต่ออกแบบการทดลองผลผลิตทางการเกษตร
มาถึงกระบวนการหมัก จากนั้นจะแยกผลผลิตออกเป็น 2 ส่วน
คือส่วน Non-GMP ที่จะให้ผลผลิตเป็นเชื้อเพลิง และวัสดุชีวภาพ
และส่วน GMP จะให้ผลผลิตเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และอาหารเสริม
3. แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าประเทศเราเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก
แต่วันนี้.เทคโนโลยีรถยนต์วิ่งไปไกลกว่าที่เราคิด
เทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือเครื่องยนต์สันดาปจะค่อยๆ สูญพันธุ์
และจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้า BEV Car
และหากเราไม่อยากเสียรายได้มหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ก็ต้องให้ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถแห่งอนาคต
โดยหนึ่งในโครงสร้างสำคัญก็คือ “การผลิตแบตเตอรีประสิทธิภาพสูง”
จากเหตุผลดังกล่าว ก็เลยทำให้ EECi จะเป็นพื้นที่ในการระดมวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญ ในภาครัฐและเอกชน ให้มาคิดวิธีทำให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของเอเซีย ไปจนถึงพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ
4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
เราคงเคยได้ยินบ่อยครั้งว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่แรงงานคน
เพื่อให้ต้นทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกลง และมีสินค้าคุณภาพมากขึ้น
เรื่องนี้ทาง EECi ก็ไม่มองข้ามด้วยการสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ และจักรกลอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อให้สามารถรองรับและทดสอบกระบวนการพัฒนาต้นแบบการผลิตสินค้าต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ
ทำให้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) พัฒนาคนให้มีองค์ความรู้
จนถึงมีตัวอย่างสายการผลิต เพื่อให้ภาคผลิตทั้งเล็กและกลางได้ทดลองกระบวนการผลิตทั้งกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ ทำให้รู้ว่าเหมาะกับธุรกิจตัวเองหรือไม่ เพื่อนำผลที่ได้มาเป็นข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุนจริงในธุรกิจของตัวเอง
5. การบินและอวกาศ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าประเทศเราสามารถทำเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่?
แต่ทางภาครัฐมองว่าในเมื่อประเทศไทย
เป็นฐานการผลิตและชิ้นส่วนยานยนต์ติดอันดับต้นๆของโลก
เราก็น่าจะสามารถพัฒนาอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคตได้ด้วย เช่นกัน
 
พอเป็นแบบนี้ EECi ก็จะเป็นที่ชุมนุมของวิศวกรเก่งๆ เพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน
อากาศยานไร้คนขับ ไปจนถึงดาวเทียม
 
6. เครื่องมือแพทย์
จากข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยเราผลิตถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
1
แต่..อีกมุมหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนคือ
แต่ละปีเรานำเข้าอุปกรณ์การแพทย์เทคโนโลยีชั้นสูงปีละ 7 - 8 หมื่นล้านบาท
ซึ่งหากจะให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในสายตาคนทั่วโลก
ก็จำเป็นที่ต้องลดการนำเข้า แล้วหันมาเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์แพทย์เทคโนโลยีขั้นสูง
ซึ่งก็จะทำให้ EECi มีทีมคิดค้นผลิตเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ในพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ในพื้นที่ EECi จะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV
ซึ่งผลิตลำแสงได้สว่างกว่าแสงอาทิตย์ตอนกลางวันหลายล้านเท่า
ด้วยความสว่างขนาดนี้ เปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์แบบพิเศษ
ที่เราสามารถมองเห็นโมเลกุลวัตถุทุกชนิดบนโลกใบนี้ได้อย่างละเอียด
ที่น่าสนใจคือ ลำแสง นี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ
ต่อการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย
เมื่อมองไปที่ EECi รอบด้าน ก็ต้องบอกว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของประเทศ
เรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสูงขึ้น และมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ
เพื่อเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจไทย
เพราะถ้าเราไม่รีบทำในวันนี้.. ในวันข้างหน้า เราอาจเป็นประเทศที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
มารู้สึกตัวอีกทีก็ยากเกินจะวิ่งตามโลกที่ตอนนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยไทยที่คิดค้นจนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อส่งต่อถึงมือผู้ใช้ประโยชน์ เพราะเรามีจุดอ่อนที่ไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกลไกในการขยายผลงานวิจัย และอีกด้านหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศได้มากนัก เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับการปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของไทย
ซึ่งในอนาคตข้างหน้า EECi ก็น่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่สำคัญของประเทศที่จะมาปิดจุดอ่อนในเรื่องนี้..
Reference
- เอกสาร Fact Sheet EECi
โฆษณา