15 ก.ย. 2020 เวลา 18:23 • ประวัติศาสตร์
ตำนานพระนางสามผิว วัดน้ำบ่อซาววา
การเสียสละชีพของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา เพื่อรักษาประชาชน ด้วยสำนึกอันมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ทรงรักไพร่ฟ้าประชนชน ยิ่งชีพ
สมัยหนึ่ง เมื่อพญาเชียงแสนได้ครองเมืองฝาง เฉลิมนามว่า “พระเจ้าฝางอุดมสิน” มีชายาเป็นราชธิดาเจ้าเมืองล้านช้างนามว่า “พระนางสามผิว” พระชายามีสิริโฉมงดงามนัก ความพิเศษของพระนางอยู่ที่ผิวที่มีถึงสามสีผิวด้วยกัน
ยามเช้าผิวกายนางมีสีขาวบริสุทธิ์ดุจปุยฝ้าย
ยามบ่ายผิวเป็นสีแดง
ยามตะวันอ่อนผิวจะกลายเป็นสีชมพู
วัดน้ำบ่อซาววา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
สมัยนั้นเมืองฝางเป็นประเทศราชอยู่ในความปกครองของเมืองอังวะ พระเจ้าฝางคิดจะกอบกู้เอกราช ซ่องสุมฝึกปรือไพร่พล สะสมเสบียงอาหารไว้มากมาย เมื่อพร้อมแล้วก็ทำการแข็งเมืองไม่ยอมส่งเครื่องบรรณาการดั่งเคย พระเจ้าสุทโธธรรมราชาผู้ครองอังวะจึงกรีธาทัพมาล้อมเมืองเอาไว้ รบพุ่งกันอยู่หลายวัน เมืองฝางสู้ไม่ได้ ผู้คนล้มตาย เสบียงอาหารร่อยหรอลง ผู้คนอดอยากได้รับความลำบาก
พระเจ้าฝางและพระนางสามผิวเห็นดังนั้นก็โทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้ชาวเมืองเดือดร้อน จึงตัดสินใจสละชีพด้วยการไปกระโดดลงบ่อ “ซาววา” อันเป็นบ่อน้ำลึก 20 วา เพื่อยุติสงคราม
พระเจ้าฝาง และ พระนางสามผิว
ยังมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ต่างกันเล็กน้อย ว่าพระเจ้าฝางมีชายาที่มีผิวงดงาม ยามเช้าสีขาวบริสุทธิ์ ยามเที่ยงผิวจะมีสีชมพูอ่อน งามตา ถึงยามเย็นผิวกายนางเป็นสีแดงระเรื่อ
ข่าวความงามรู้ไปถึงพระเจ้าสุทโธธรรมราชา แห่งพม่า กษัตริย์พม่าอยากยลโฉมงามจึงปลอมตัวเป็นพ่อค้านำสินค้ามาขายที่เมืองฝาง และทำอุบายขอเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อดีแก่พระชายา ครั้นได้ยลโฉม ก็เกิดหลงรักสุดจะหักห้ามใจ จึงกลับไปกรีธาทัพมาตีเมืองฝาง ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
น่ำบ่อซาววา ตามตำนาน
ในที่สุดพระเจ้าฝางต้องสละราชสมบัติแล้วกระโดดลง “บ่อซาววา” พร้อมกับชายา เช่นเดียวกับที่เล่ามาดังข้างต้น
แต่อีกกระแสหนึ่งกลับว่า อำมาตย์หลวงขอให้พระเจ้าฝางและชายาหนีไปอยู่เมืองกุสินารา แล้วแต่งคนชาย-หญิงกระโดดลง “บ่อซาววา” แทน ลวงกษัตริย์พม่าว่าพระเจ้าฝางและพระชายาฆ่าตัวตายแล้ว เพื่อยุติการศึก
โฆษณา