16 ก.ย. 2020 เวลา 08:04
“ชิงเปรต”(ประเพณีบุญเดือนสิบ)
ปักษ์ใต้แดนดิน ถิ่นสะตอ คำที่เรียกขานภูติในอีกมิติ ในนามว่า “เปรต” ใช่จะจำกัดความอยู่แค่พลพรรควิญญาณบาปหนาตาโปนที่ว่ากันว่าสูงปานต้นตาลโตนด มีปากเล็กเท่ารูเข็ม ที่คอยร่ำร้องโหยไห้ขอส่วนบุญอย่างน่าเวทนาเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงยังพวกสัมภเวสีไม่สังกัดกลุ่มรึสีเสื้อใดๆ หรือทั้งวิญญาณของญาติมิตรชิดใกล้ ห่างไกล ที่ยังล่องลอยนิราศัยไม่ยอมไปผุดไปเกิด แต่ได้วีซ่าจากพิภพพญายมให้กลับมาเยี่ยมลูกเยี่ยมหลานได้รวมอยู่ด้วย ความเชื่อของชาวพุทธและมุสลิมในแดนใต้ มีความเชื่อว่า ในรอบปีสุริยะคตินั้น ทางอบายภูมิทุกขุม จะมีน้ำใจปลดปล่อยวิญญาณกลับมาเยี่ยมบ้านพบปะลูกหลานญาติพี่น้องอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง คล้ายๆดังวันพบญาติของกรมราชทัณฑ์ เขาก็ไม่ปาน
ชาวพุทธในทางใต้จึงมีการระลึกถึงและทำบุญกุศลอุทิศให้กับผู้ล่วงลับในแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี มีการยก “หมรับ” (สำรับ) ในวันสารทกันอันเป็นประเพณีมหากุศลโดยจัดทำของกินเฉพาะถิ่นอุปมาถึงการแบ่งปันข้ามภพ ประเพณีนี้ น่าจะเป็นกุศโลบายหนึ่งของชาวพุทธ เพื่อให้ลูกหลานได้เผื่อแผ่ต่อผู้ยากไร้คล้ายๆงานเทกระจาดของจีน เพราะผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเปรต (ยังไม่ตาย) ก็สามารถเข้าแย่งชิงแบ่งปันจากอาหารเหล่านี้ได้โดยจัดให้มีคล้ายๆโรงทานที่นำของกินของใช้รวมทั้งเงินทองมาแจกจ่าย และของตั้ง “เปรตพลี” โดยผู้รับหาได้คิดว่าเป็นของเหลือเดนจากภูตผี ตรงข้ามกลับเป็นสิ่งมงคลในการดำรงชีพหากผู้ใดได้นำไปบริโภค ส่วนแตกต่างที่เห็นชัดของงานทิ้งกระจาดกับการชิงเปรตคือ งานทิ้งกระจาดจะทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผีไม่มีญาติเท่านั้น ทว่าการชิงเปรตของแดนใต้ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผีที่เป็นญาติ ของตนเอง ผีญาติผู้อื่น และผีอาภัพไม่มีญาติ (คนใต้ใจกว้าง) นับว่าเป็นประเพณีเอื้ออาทรต่อสัมภเวสีและฝึกความใจกว้างของผู้ให้ที่ไม่ต้องเจาะจงทำบุญให้แต่ญาติพี่น้องตนฝ่ายเดียว โดยต้องเผื่อแผ่ไปยังถึงวิญญาณเร่ร่อนไร้ญาติทั่วไปด้วย (รวมถึงคนเป็นที่ขาดแคลน) นับเป็นวัฒนธรรมแห่งการให้กุศโลบายแห่งธรรมทานแผ่ไพศาลจากเมตตาบารมีแห่งองค์ตถาคตโดยแท้ เชื่อว่าถ่ายทอดกันมาจากแดนชมพูทวีปตามรอยกงล้อแห่งธรรมจักรอันแผ่ไพศาลมานานนับพันปี..
---------------สิ่งของที่นำมาใช้ในพิธีไม่ใช่ของที่เหลือจากการทำถวายสงฆ์ในพิธียกหมรับ(สำรับ) แต่เป็นอีกชุดที่ทำขึ้นเพื่อการนี้ โดยมี ขนมลา ขนมบ้า ขนมรู ขนมกง พอง ฯลฯ โดยคนเป็นอนุมานว่าเปรตผู้รับคงชอบ ก็แปลกดี ที่คนเรานั้นช่างรู้ไปเสียทุกเรื่อง รู้ทะลุปรุโปร่งไปถึงโลกแห่งวิญญาณ ทราบไปถึงความชอบของภูติในอีกมิติด้านที่เร้นลับที่คนส่วนใหญ่ยังไม่อยากย้ายไปอยู่ ทว่าจุดอ่อนก็ย่อมมี เช่น ไม่ค่อยรู้ซึ้งถึงจิตใจมนุษย์ผู้ใกล้ชิดด้วยกันเองที่แสนจะยอกย้อนเกินคาดเดา
ขนมที่นำมาทำบุญนั้นบางทีก็ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการห่วงหาอาทรข้ามภพ แบบ ทูอินวัน ดังเช่น ขนมลาที่ลักษณะจะเป็นแผ่นๆบางๆ เปรียบเสมือนเสื้อผ้าที่ผู้ยังอยู่อุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ เรียกได้ว่า กินก็ได้ ห่มก็ดีว่างั้น บ้างก็ว่าทำให้เปรตกินง่ายด้วยมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ เพราะทึกทักเอาว่าแต่ดึกดำบรรพ์โดยไม่ต้องใช้โพลวิจัยว่าบรรดาเหล่าเปรตนั้นมีปากเท่ารูเข็ม ส่วนของขนมกง ขนมดีซำอุปมาเป็นทรัพย์สมบัติ เครื่องประดับ ส่วนขนมบ้า ไว้ให้ผู้ตายได้เล่นเป็นกิจกรรมเพลิดเพลิน (ตายแล้วยังไม่ทิ้งกิจกรรมว่างั้น)
ส่วนขนมพองใช้เป็นแพเดินทางลอยล่องข้ามห้วงมหรรณพในปรโลก ส่วนขนมอื่นๆแล้วแต่ใครจะจัดอะไรไปตามความชอบความอยาก(ของตัวเองด้วย)มีกำลังซื้ออะไรไปก็เอาแบบนั้น จะจัดหมูย่างเมืองตรังสักตัวอันนี้เปรตเขาก็ไม่ขัดคอเลยแล้วแต่จิตกุศลอันเป็นทานของลูกหลานผู้ให้เลยขอรับ
“ชิงเปรต” รึประเพณีงานบุญเดือนสิบ มีใช่หากเป็นเพียงแค่ประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวใต้ในเชิงของพุทธศาสนา แต่มันเหมือนประเพณีการพบปะ การกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านสำหรับผู้ที่ห่างไกล ทำงานต่างถิ่น ได้กลับมาพบหน้าพ่อแม่พี่น้อง ได้ทำบุญร่วมกัน เสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น สร้างความอบอุ่นและความรักให้กลมเกลียวในสถาบันครอบครัว สถาบันญาติพี่น้องผู้มีบรรพบุรุษจากแหล่งเดียวกัน ให้กลับมาชิดใกล้กันอีกครั้ง บุญเดือนสิบ มิใช่มีเพียงแค่ “เปรต”ที่ได้เดินทางกลับมา แต่มันรวมถึงใครหลายๆคน ที่ได้หวนคืนกลับมา สู่อ้อมกอดของแผ่นดินเกิด...อีกครั้ง...พรุ่งนี้ ไป”ชิงเปรต”กันไหมครับ? Cr.ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
โฆษณา