17 ก.ย. 2020 เวลา 13:46
#คุกครอบเวียง,#ยันต์ครอบเมือง,#เรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา,
สวัสดีครับ เพื่อนๆ
วันนี้ขอส่งคลิปเพลงนิโคตินของน้องเปรม กับวิวทะเลจากหัวหิน พร้อมกับเรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา ให้อ่านเพลิดเพลินในคืนวันพฤหัสนี้นะครับ
สุขสันต์คืนวันพฤหัสนะครับ
🧡🧡🧡🎶🎵🥛🐈🧡🧡
#คุกครอบเวียง
เมืองเชียงใหม่นั้นออกแปลกกว่าเมืองอื่นๆในภาคเหนือ หลายประการ แต่ประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การไม่ปรากฏนาม..
“คุ้มหลวง” หรือ “คุ้มแก้ว” หากแต่เรียกที่พำนักของผู้ครองนครว่า “เวียงแก้ว” ..
เหตุไฉนจึงเรียกคุ้มหลวงว่า “เวียงแก้ว”..
คงจะสันนิษฐานไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่า เมื่อครั้งที่เชียงใหม่เสียเมืองให้แก่พม่าในรัชสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ในจุลศักราช ๙๒๐ (พ.ศ. ๒๑๐๑) นั้น พระเจ้าหงสาวดีบยินนอง (บุเรงนอง) คงมอบให้พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ครองเมืองนครเชียงใหม่
ต่อมา ..ดังมีความปรากฏในพงศาวดารโยนก ว่า
“ครั้นอยู่มา ท้าวพระยารามัญผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่กระทำการอุกอาจมิได้อ่อนน้อมต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ กิตติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดี จึงมีตราให้ข้าหลวงถือมาบังคับท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ ให้ฟังบังคับบัญชาพระเจ้านครเชียงใหม่ และน้อมนำคำรพต่อพระเจ้านครเชียงใหม่สืบไป” 
ครั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เจ้านครพิงค์เชียงใหม่กับพระยากระมลผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดแข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดีเมื่อปีชวดฉศก จุลศักราช ๙๒๖ (พ.ศ. ๒๑๐๗) นั้น ..
พระเจ้าหงสาวดีจึงได้ยกกองทัพหลวงมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ และเอาตัวพระเมกุฏิฯ และพระยากระมลส่งไปไว้กรุงหงสาวดีแล้ว พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ตั้งราชเทวีซึ่งเป็นเชื้อสายพระเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อนขึ้นเป็นราชินีทรงนามว่า พระวิสุทธิเทวี ให้ครองเมืองเชียงใหม่ร่วมกับขุนนางรามัญผู้เป็นข้าหลวงกำกับเมืองเชียงใหม่แล้ว ข้าหลวงพม่าผู้กำกับเมืองนครเชียงใหม่ก็คงจะพำนักอยู่ที่เวียงหน้าคุ้มแก้วซึ่งเป็นค่ายพักของพม่าต่อมา ตราบจนนางพญาวิสุทธิราชเทวีถึงพิราลัยใน พ.ศ. ๒๑๒๑ แล้ว ..
คุ้มแก้วซึ่งคงจะปลูกสร้างด้วยไม้ก็คงจะถูกปล่อยให้ทิ้งร้างและผุพังจนถูกรื้อถอนไปในที่สุด จากนั้นมาคำว่าคุ้มแก้วจึงน่าจะสูญหายไปจากนครเชียงใหม่ และคำว่า “เวียงหน้าคุ้มแก้ว” คงจะกร่อนลงเป็น “เวียงแก้ว” ในเวลาต่อมา..
ส่วนปริศนาเรื่อง “คุก” กับ “หอคำ” “เวียงแก้ว” นี้ โคจรมาพัวพันกันได้อย่างไร ทำไมอยู่ดีๆ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นถึง “หอคำ” หรือปราสาทพระราชวังหลวง จึงถูกปรับเปลี่ยนสภาพจนตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังเท้า กลายเป็น “คอกหลวง” ได้นั้น ..ขออดใจรอติดตามตอนต่อไปในวันพรุ่งนี้นะครับ
#ยันต์ครอบเมือง,
ป้อมปราการสี่มุมเมืองสงขลาในอดีต มีการตั้งชื่อเรียกได้แก่ ป้อมไพรีพินาศ ป้อมพิฆาตข้า​ศึก ป้อมป้องกันศัตรูและป้อมเทเวศ​
พบหลักฐานแผ่นศิลาจารึกเป็นตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลขและอักขระอยู่ใต้ป้อม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์สี่” มีตัวเลขอยู่ในช่องตารางทั้ง ๓๗ ช่อง.. ซึ่งใช้ขับไล่ภูตผีปีศาจและกำกับเหนือดวงเมืองในเมืองนั้นๆ..
และนี่เป็นบทเกริ่นนำของพิธีครอบเมือง.. ในตอนหน้าจะเล่ารายละเอียดเพิ่มเติม และพูดถึงพิธีครอบเมืองของชาวตะวันตกที่เข้ามาในสยาม และประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงยุคล่าอาณานิคม .. ครับ
สวัสดี และขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงข้อมูล
(T.Mon)
17/9/2020
ข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง: อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. น. ๒๑๐-๒๑๑.
โฆษณา