๓๑ รัตนสูตร: สังฆรัตนะ
๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗
นโม ...กิญจาปิโส ...
รัตนสูตรบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานเชิดชูพระอริยสงฆ์ เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ ได้มีการสังคายนา มีวาระพระบาลี แปลความ โดยย่อว่า
กิญจาปิ โสฯ พระโสดาบันบุคคลยังทำกรรมเป็นบาปอยู่ ไม่ควรปกปิดบาปกรรมอันนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่ง แล้วอย่างนี้แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในสงฆ์
เราไม่อาจรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคา พระอนาคา หรือพระอรหัตเพราะท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเช่นเรา อาจเป็นหญิง ชาย ภิกษุ สามเณร เช่นเดียวกับเรา
ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล มีสามเณรอรหันต์อายุ ๗ ขวบ ภิกษุหนุ่มไม่ทราบว่าเป็นพระอรหันต์จึงได้พูดจาล้อเล่น และลูบศีรษะ พระพุทธเจ้าทรงเห็น จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ และทรงรับสั่งว่า ต้องการน้ำในสระอโนดาต มาชำระพระบาท สามเณรจึงเอาหม้อต้มกลักเหน็บเข้าข้างหลังและเหาะไป พระภิกษุที่ลูบศีรษะสามเณรจึงตกใจ และได้ทราบว่าสามเณรเป็นพระอรหันต์
พระโสดาบันยังมีทำชั่วด้วยกาย วาจา ใจ แต่เป็นความพลั้งเผลอ ยกตัวอย่าง ลูกสาวเศรษฐีเป็นโสดาบันแล้ว อยู่บนปราสาท ๗ ชั้น นึกรักนายเนสาท พรานป่าฆ่าเนื้อที่ผ่านมา ถึงกับแอบตามเกวียนนายพรานเข้าป่าไป นายเนสาทสงสารจึงอยู่เป็นสามีภรรยามีลูก ๗ คน เวลาค่ำ นางจะจัดบ่วงแหลนเตรียมไว้ที่หน้าประตู สำหรับสามีไปล่าสัตว์เวลาเช้า ตอนเย็นก็แล่เนื้อเป็นอาหาร ตามที่สามีล่ามาได้
ธิดาเศรษฐีผิดศีลหรือไม่?
ฝ่ายพระธรรมวินัย ท่านปรับตามเจตนา เพราะว่า เจตนาฆ่าสัตว์ของพระโสดาบันไม่มี คือ ธิดาเศรษฐีไม่มี แต่ต้องทำเช่นนั้น เช่น เตรียมอาวุธ และทำอาหารจากสัตว์ที่ล่ามาเพราะปฏิบัติตามหน้าที่ภรรยา มิฉะนั้นก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ คือทำตามหน้าที่ ไม่มีเจตนาจะให้ฆ่าสัตว์เลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนานั้นแหละเป็นศีล
เมื่อพระโสดาบันทำบาปด้วยกาย วาจา ใจ ท่านเพลี่ยงพล้ำ แต่ไม่ได้เจตนา เมื่อเป็นอันตราย หรือเกือบเป็นอันตรายต่อศีล ถ้าเป็นพระภิกษุ ท่านก็แก้ไขด้วยการแสดงอาบัติต่อเพื่อนพรหมจรรย์ ว่าจะไม่ทำอีกต่อไป เหมือนพวกเรารู้ว่าศีลไม่บริสุทธิ์ ก็สมาทานศีล แก้ไขตัวให้สะอาด เหตุที่พระโสดาบันท่านไม่ปกปิดบาป เพราะท่านเห็นทางไปนิพพาน
จะรู้จักทางไปนิพพาน ก็ต้องรู้จักพระโสดาบันว่าอยู่ที่ไหน ท่านเป็นกายธรรมที่ละเอียดเป็นชั้น ๆ เข้าไป
ทางมรรคผล คือ เริ่มต้นทำใจหยุดที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ซึ่งเป็นที่เกิด ดับ หลับ ตื่น ใจต้องหยุดตรงนี้ที่เดียว
พอใจหยุดเข้ากลางเห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ หยุดเข้ากลางอีกถึง ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้ากลาง ๖ ดวง เข้าถึงกายต่าง ๆ คือ กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด จนถึงกายธรรม
เมื่อถึง “กายธรรม” ก็ถึงพุทธรัตนะ ใจของพระธรรมกาย หยุดนิ่งกลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นธรรมกาย ดวงธรรมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย เป็นธรรมรัตนะ หยุดถูกส่วน เข้าไปในกลางดวงธรรมรัตนะ เข้าถึงกายธรรมละเอียด ใสหนักขึ้นไป เรียก “ธรรมกายโคตรภู” คือ สังฆรัตนะ แต่ยังไม่ใช่พระโสดา
วิธีเข้าถึงพระโสดาบัน
เอาใจธรรมกายละเอียด หยุดนิ่งกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จึงเข้าถึงกายพระโสดา เกตุดอกบัวตูม เป็นพุทธรัตนะเหมือนกัน แต่เป็นธรรมกายพระโสดา ธรรมกายพระโสดาละเอียดยังมีอีก ต้องใจนิ่งเข้าไปอีก
กว่าจะเข้าถึงพระโสดา ท่านเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ธรรมกายพระโสดาเป็น“ พุทธรัตนะ” ท่านเป็นผู้ตรัสรู้สัจธรรมทั้ง ๔ จนเข้าเป็นพระพุทธเจ้า
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายเป็น “ธรรมรัตนะ” รักษาไม่ให้ตกไปในฝ่ายชั่ว (ธรรม แปลว่า ทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ให้สูง ให้ดี ให้เจริญขึ้นไป)
ธรรมกายพระโสดาละเอียด อยู่ในดวงธรรมรัตนะเป็น “สังฆรัตนะ” คอยรักษาดวงธรรมรัตนะไว้ไม่หายไป รักษาทั้งวันทั้งคืน
สงฺเฆน ธาริโต ธรรมนั้นแหละสังฆรัตนะทรงไว้ไม่ให้หายไป
เมื่อเข้าถึงกายพระโสดาบันได้ อย่าหยุดแค่นั้น ให้เข้าไปให้ถึงกายพระอรหัตละเอียด จึงจะเสร็จกิจในพุทธศาสนา
“พระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นในโลกละก็ ธรรมอันนี้ไม่มีใครแสดง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเล่าให้ฟัง ถึงกระนั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับเสียเกือบ ๒,๐๐๐ ปี มาเกิดขึ้นที่วัดปากน้ำนี้แล้ว อุตส่าห์พยายามทำกันไป อย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนหนา อย่าได้เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยแก่ยากแก่ลำบาก แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ
เมื่อมาประสบพบพุทธศาสนา พบของจริงละเข้าถึงของจริงให้ได้ เอาของจริงใส่กับตัวไว้ให้ได้ ติดกับตัวไว้ให้ได้ อย่าดูถูกดูหมิ่นหนา ตั้งให้มั่นแท้แน่นอนในใจของตัวแล้วละก็ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา"
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๑๐๙ - ๑๑๐
โฆษณา