18 ก.ย. 2020 เวลา 13:25 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Vertigo
Alfred Hitchcock, 1958, US
พิศวาสหลอน…ความลุ่มหลงในอิสตรี
เรื่องราวของ จอห์น “สก๊อตตี้” เฟอร์กูสัน ตำรวจสืบสวนผู้เพิ่งเกษียณอายุจากราชการ ได้รับการร้องขอจากเพื่อนให้ติดตามภรรยาของตนเอง “มาเดลีน เอลสเตอร์” เธอมีอาการคล้ายกับการถูกผีเข้า และสติมักจะไม่อยู่กับตัว การสืบสวนของสก๊อตค่อยๆรับรู้ถึงความแปลกประหลาดนี้ พร้อมทั้งตัวเขาเองที่ดันเผลอหลงรักมาเดลีนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เรื่องราวกลับตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมือ พร้อมทั้งโรคกลัวความสูงก็ตามหลอกหลอนเขาอีกครั้ง สุดท้ายแล้วความวุ่นวายนี้จะมีบทสรุปอย่างไร มาเดลีนโดนผีเข้าสิงหรือแท้จริงแล้วเธอซะเองที่เป็น…ผี
Kim Novak ในเรื่อง Vertigo
หนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของฮิตค็อกซ์ที่ผู้กำกับหลายคนยึดเอาเป็นแนวทางในการทำหนังยุคปัจจุบัน Martin Scorsese บอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่แสนวิเศษ แถมตัวละครในเวอร์ติโกยังไปปรากฏอยู่ในหนังเรื่องล่าสุดของ Christopher Nolan อย่าง Tenet (2020) ที่นำแสดงโดย Elizabrth Debicki อีกด้วย Vertigo ยังถือเป็นหนังที่ติดอยู่ในลำดับหนังต้นๆของการจัดอันดับอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน สำหรับตัวผู้กำกับ ฮิตคอกซ์เป็นคนที่มีลายเซ็นต์ชัดเจน หนังมักจะเป็นแนวอาชญากรรม/ลุ้นระทึก/มีหักมุม ตัวละครชายมักจะใส่สูท ตัวละครหญิงต้องผมบลอนด์เสมอ การกำกับการแสดงของเขาจะกำหนดการเคลื่อนที่ให้กับนักแสดงเอง นักแสดงห้ามเคลื่อนที่ตามใจตนเอง เขายังบอกอีกว่า 50% ของหนังคือบทภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นเขาจะเน้นกับบทภาพยนตร์มากที่สุด แต่สิ่งที่ทำให้ฮิตคอกซ์มีชื่อเสียงเหนือกาลเวลากลับไม่ใช่แค่เรื่องบทที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นความคิดสร้างสรรค์ทางงานภาพที่เล่าเรื่องได้เฉียบคมอีกด้วย
Elizabeth Debicki ในเรื่อง Tenet
Vertigo แบ่งการเล่าเรื่องเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกหนังจะเล่าในแง่ของการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาเงื่อนงำของอาการประหลาดของมาเดลีน ที่ยิ่งลงลึกเท่าไหร่ เรื่องราวก็ยิ่งประหลาดมากขึ้นเท่านั้น จนในที่สุดสก๊อตตี้ก็เผลอหลงรักมาเดลีน (หลงรักเมียเพื่อน) เข้าซะเอง จนเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เค้าไม่ได้อยู่กับมาเดลีน ในส่วนนี้นอกจากเรื่องสืบสวนสอบสวนแล้ว หนังยังมีกลิ่นอายแบบฟิล์มนัวร์หญิงร้ายชายเลวเข้ามาเจือปนอีกด้วย ในส่วนที่ 2 นั้น หนังเปลี่ยนแนวไปเป็นหนังจิตวิทยา เน้นการเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของสก๊อตตี้หลังจากไม่ได้อยู่กับมาเดลีน ให้เห็นถึงความลุ่มหลง ยึดติด ในตัวหญิงสาวมาเดลีนของสก๊อตตี้ ซึ่งตามมาด้วยความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของสก๊อตตี้ที่ต้องพังทลายลงไป ในเรื่องราวของทั้ง 2 ส่วนนี้เองที่ทำให้หนังกลายเป็นหนังที่ ‘ยอดเยี่ยม’ เพราะถือว่าครบองค์ประกอบของหนังฟิล์มนัวร์อาชญากรรม ทั้งการสืบสวน การหักมุม ความลุ้นระทึก การลักลอบเป็นชู้ระหว่างชายหญิง และการสำรวจสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ ที่นำไปสู่การพังทลายด้านความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างโดยเฉพาะกับ ‘ผู้หญิง’
หนังมีการพูดถึงผู้หญิงในลักษณะ ‘เครื่องมือ’ ของเพศชาย ที่หนีไม่ได้ไปไม่พ้น สิ่งที่ตนเองต้องพบเจอนั้นคือความเจ็บปวด ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร สุดท้ายคนที่เจ็บปวดก็คือฝ่ายหญิงอยู่ดีท่ามกลางโลก (ในหนัง) ที่ชายเป็นใหญ่ ในแง่ความสัมพันธ์ในส่วนที่ 2 ของเรื่อง เราจะได้เห็นสก๊อตตี้ต้องการควบคุมผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่มาเดลีน ให้เป็นไปตามดั่งใจของตนเองทุกระเบียบนิ้ว ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการลุ่มหลงยึดติดในตัวมาเดลีนนั่นเอง ตรงนี้ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมการแสดงของ James Stewart ที่แสดงอารมณ์ความลุ่มหลง ความต้องการควบคุม ให้เป็นไปได้อย่างน่าเชื่อ และการแสดงของ Kim Novak ที่แสดงเป็น ‘เครื่องมือ’ ของเพศชายได้อย่างมีเสน่ห์และน่าเห็นใจในขณะเดียวกัน
Jame Stewart (ขวา) แสดงเป็นผู้ชายที่ลุ่มหลงผู้หญิงอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ในเรื่องสก๊อตตี้เป็นโรคกลัวความสูง หนังจึงเซ็ตติ้งให้สก๊อตตี้เป็นโรคกลัวความสูงอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ในอดีตของตัวเขาเองที่ต้องเห็นเพื่อนตำรวจตกจากที่สูง หนังนำโรคกลัวความสูงนี้มาใช้ได้อย่างชาญฉลาดทั้งเรื่อง ทั้งยังเป็นสัญญะในเชิงของการยึดติดกับอดีต ก้าวข้ามอดีตไม่ได้ สำหรับเรื่องราวความรักและความรู้สึกผิดระหว่างตัวเขากับมาเดลีนเอง
หนังมีการถ่ายภาพที่โดดเด่น ทั้งการจัดตำแหน่งของตัวละครในภาพ รวมทั้งการเคลื่อนกล้องเพื่อเสริมอารมณ์ ซึ่งหนังมีช็อตของกล้องที่โดดเด่นที่สุดคือ “Vertigo Effect” หรือภาษาอย่างเป็นทางการคือ “Zoom Out and Track In” ที่ใช้การซูมออกขณะเคลื่อนกล้องเข้าหาตัวละคร เป็นช็อตที่ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนจะตกจากที่สูงจากอาการกลัวความสูงของสก๊อตตี้ในเรื่อง โดยช็อตที่ว่านี้ยังคงถูกใช้มาถึงปัจจุบันซึ่งเราสามารถหาดู Video Essay จากทาง Youtube ได้เลย Vertigo ถ่ายภาพโดย Robert Burks ตากล้องขาประจำของฮิตคอกซ์ ทั้งในหนังยังมีช็อต Visual Effect ที่แปลกประหลาดอันสื่อถึงฝันร้ายภายในจิตใจของสก๊อตตี้ที่เรียกได้ว่าจะทำให้คนดูลืมไม่ลงแน่นอน รวมถึงการออกแบบไตเติ้ลของหนัง การออกแบบโปสเตอร์หนัง ก็จัดเป็นดีไซน์ที่มินิมอลอย่างโดดเด่น ซึ่งจะไม่พูดถึงก็ไม่ได้สำหรับเขาคนนี้ “Saul Bass” นักออกแบบโลโก้ชื่อดังที่ออกแบบงานให้หนังหลายต่อหลายเรื่อง รวมถึงงานในยุคหลังอย่าง Goodfellas (1990) ของ Martin Scorsese
Visual Effect ฝันร้ายของสก๊อตตี้
ต่อมาคือ Composer หรือคนทำดนตรีประกอบหนังที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้อย่าง Bernard Hermann ที่งานของเขามักจะเป็นดนตรีที่ทำขึ้นเพื่อเสริมอารมณ์ให้หนังฟิล์มนัวร์ (ดนตรีที่ให้อารมณ์อันไว้วางใจต่อเหตุการณ์ไม่ได้) มาใน Vertigo พอบทที่จะโรแมนติก เขาก็ทำดนตรีซะหวานเยิ้มอย่างไม่เคอะเขินแต่อย่างใด แม้ดนตรีส่วนมากในเรื่องจะคงเป็นแบบฟิล์มนัวร์ก็ตาม ฮา Bernard Hermann ยังเป็น Composer ที่ส่งอิทธิพลต่องานดนตรีของ Ryuichi Sakamoto นักดนตรีชาวญี่ปุ่นอีกด้วย (เชิญฟังงานของ Bernard Hermann ในเรื่อง Vertigo ได้ที่ลิงก์ข้างล่าง)
สรุปว่า Vertigo จัดเป็นหนังที่ควรหามาดูให้ได้ เพราะเราจะเห็นองค์ประกอบของหนังอาชญากรรมฟิล์มนัวร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แถมหนังยังพูดถึงความลุ่มหลงในตัวหญิงสาวได้อย่างเซ็กซี่และอันตรายจนอดคิดไม่ได้ว่าที่นักวิจารณ์เทคะแนนให้หนังเรื่องนี้อย่างท่วมท้นเป็นเพราะว่าหนังมันเซ็กซี่ชวนลุ่มหลงหรือเปล่า ถึงหนังจะไม่ได้มีฉากโป๊เปลือยซักฉากเลยก็ตาม
โฆษณา