Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์
•
ติดตาม
19 ก.ย. 2020 เวลา 00:00 • หนังสือ
การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
.
ผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วว่าคำว่า “ไทย” มีหลักฐานการใช้งานอย่างแพร่หลายมายาวนานมาก ไม่ได้เกิดขึ้นในยุครัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือเป็นศัพท์บัญญัติใหม่โดย จอมพล ป. ดังที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด ดังที่ได้นำเสนอหลักฐานในบทความ “คำว่า ไท-ไทย ในสมัยอยุทธยา” (
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/3357211281008985
)
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุค "รัฐนิยม" คือการนำคำว่า “ไทย” ซึ่งมีการใช้งานอยู่แล้ว มานิยามความหมายตามแนวคิดลัทธิชาตินิยม (Nationalism) อย่างเข้มข้น โดยเน้นเรื่องความบริสุทธิ์และความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติไทย เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยให้ตรงกับเชื้อชาติไทย สร้างสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการปกครองโดยการทำให้ชนทุกกลุ่มประเทศกลายเป็นไทย (Thaification) ด้วยการกำหนดสัญชาติ
.
.
ในเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ต้องเท้าความว่าเดิมในสมัยกรุงศรีอยุทธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนทั่วไปเรียกดินแดนว่า เมืองไทย กรุงไทย (มีทั้งสะกด ไท และ ไทย สลับกัน) หรืออาจเรียกตามชื่อราชธานีคือ กรุงศรีอยุทธยา ซึ่งใช้เป็นนามราชธานีมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ ในขณะที่คำว่า สยาม มักพบในวรรณกรรมทางศาสนาที่ใช้ภาษาบาลี-สันสกฤตหรือในวรรณคดีเป็นส่วนใหญ่ ไม่แพร่หลายเท่าคำว่า “ไทย”
จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงมีการกำหนดให้เรียกชื่อราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการว่า “สยาม” และถูกใช้เป็นชื่อของประเทศต่อมาเมื่อสยามได้วิวัฒนาการเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ แต่คำว่า “ไทย” ก็ยังมีการใช้งานอย่างแพร่หลายโดยทั่วไป
.
เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” ซึ่งอ้างอิงจากแนวคิดชาตินิยมไทยที่มี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญ โดยมีหนึ่งในจุดประสงค์คือการรวบรวมชนชาติไทยในดินแดนต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเพื่อสร้าง “มหาอาณาจักรไทย” (Pan-Thaiism) ในรูปแบบเดียวกับการรวมชนชาติเยอรมันของฮิตเลอร์เพื่อสร้างมหาจักรวรรดิไรช์เยอรมัน (Großdeutsches Reich)
.
บทความเรื่อง “ความเป็นมาของชื่อ ‘ประเทศสยาม’ และ ‘ประเทศไทย’” เรียบเรียงจากเค้าความบางตอนในต้นฉบับของหนังสือ Ma Vie Mouvementeeฯ โดย ปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายว่า
“เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีแห่งรัฐบาลนั้นมีข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่ว่าการกระทรวง)
ต่อมาประมาณอีก ๔-๕ เดือน (หลังจาก ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) หลวงวิจิตรวาทการได้เดินทางไปฮานอย เพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส เมื่อหลวงวิจิตรฯ กลับจากฮานอย ได้นำแผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสนั้นได้จัดทำขึ้น แสดงว่ามีคนเชื้อชาติไทยอยู่มากมายหลายแห่งในแหลมอินโดจีน ในประเทศจีนใต้ พม่า และในมณฑลอัสสัมของอินเดีย
ครั้นแล้วผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงได้ยิน และหลายคนยังคงจำกันได้ว่า สถานีวิทยุกรมโฆษณาการ (ต่อมาปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) ได้กระจายเสียงเพลงที่หลวงวิจิตรฯ รำพันถึงชนเชื้อชาติไทยที่มีอยู่ในดินแดนต่าง ๆ และมีการโฆษณาเรื่อง “มหาอาณาจักรไทย” ที่จะรวมชนชาติไทยในประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ทำนองที่ฮิตเลอร์กำลังทำอยู่ในยุโรป ในการรวมชนเชื้อชาติเยอรมันในประเทศต่าง ๆ ให้เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรเยอรมัน
ในการประชุมวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปัญหาด่วนนอกระเบียบวาระ โดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงให้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” โดยนำสำเนาแผนที่ฉบับที่สำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศสทำไว้ ว่าด้วยแหล่งของชนเชื้อชาติไทยต่าง ๆ มาแสดงในที่ประชุมด้วย โดยอ้างว่า “สยาม” มาจากภาษาสันสกฤต “ศยามะ” แปลว่า “ดำ” จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่ผิวดำ และอ้างว่าคำว่า “สยาม” แผลงมาจากจีน “เซี่ยมล้อ”
ข้าพเจ้าได้คัดค้านว่า โดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ค้นคว้ากฎหมายเก่าของไทย โดยอาศัยหลักฐานเอกสารที่จารึกโดยพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน รวมทั้ง “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งรัชกาลที่ ๑ (พระพุทธยอดฟ้าฯ) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนา (ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวในข้อ ๒) และมิใช่คำว่า “สยาม” แผลงมาจากคำจีนแต้จิ๋ว “เซี่ยมล้อ” (ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในข้อ ๑) แต่จุดประสงค์เบื้องหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศว่าประเทศไทย เพื่อรวมชนชาติไทยในดินแดนต่าง ๆ เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรไทย ดังนั้นรัฐมนตรีส่วนมากจึงตกลงตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น “ประเทศไทย" ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี”
.
.
เมื่อคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เห็นชอบ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นวันชาติ รัฐบาลออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย “รัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ” มีเนื้อหาว่า
โดยที่ชื่อของประเทศนี้มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ "ไทย" และ "สยาม" แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "ไทย" รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้
ก. ในภาษาไทย
ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า "ไทย"
ข. ในภาษาอังกฤษ
๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand
๒. ชื่อประชาชนและสัญชาติ ให้ใช้ว่า Thai
แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า "สยาม" ไว้
อ้างอิงจากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ในเวลานั้นยังเป็น พลตรี หลวงพิบูลสงคราม) ได้แถลงต่อสภาว่า การออกรัฐนิยมฉบับดังกล่าวเป็นมีจุดประสงค์เพื่อหยั่งเชิงประชาชนว่าเห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อประเทศหรือไม่ ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านและมีการใช้งานคำว่า “ไทย” โดยทั่วไป และรัฐบาลได้ลองสอบถามความเห็นของสมาชิกผู้แทนราษฎรแล้ว ส่วนมากเห็นว่าเป็นนามอันเป็นสิริมงคล
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒” ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ไทย” โดยให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
.
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชี้แจงเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อประเทศต่อสภาว่า คำว่า “ไทย” มีการใช้งานโดยทั่วไปอยู่แล้ว (เป็นพยานว่า จอมพล ป. ไม่ได้บัญญัติคำนี้ขึ้น) ในขณะที่สยามไม่ปรากฏที่มาชัดเจนและใช้ในทางราชการหรือใช้โดยชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
“ในการที่ทางรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศนั้น ก็ด้วยพิจารณาเห็นกันเป็นเอกฉันท์ว่า นามประเทศของเราซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ที่เรียกว่า ประเทศสยามนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่ได้ตั้งขึ้นไว้ คือไม่มีพระราชบัญญัติ หรือไม่มีสิ่งใดที่เป็นหลักฐาน นามประเทศของเราที่ใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้ด้วยความเคยชิน หรือได้จดจำเรียกกันต่อ ๆ มา และได้พยายามให้เจ้าหน้าที่ค้นในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นคนที่ได้ตั้งขึ้นคราวแรก และตั้งแต่ครั้งใดก็ไม่ทราบ เป็นแต่ว่าเราได้เรียกมาเรื่อย ๆ เรียกว่าประเทศสยาม และคำว่า ประเทศสยามนั้น ก็มักจะใช้แต่ในวงราชการ และนอกจากนั้นก็ในวงของชาวต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนคนไทยของเราโดยทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งตามชนบทด้วยแล้ว เราจะไม่ค่อยใช้คำว่าประเทศสยาม เราใช้คำว่า ไทย”
.
อีกเหตุผลหนึ่งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ ควรตั้งชื่อประเทศให้ตรงกับเชื้อชาติของคนในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างด้าวที่อาจจะอพยพเข้ามาในประเทศจำนวนมากในอนาคตมาอ้างสิทธิ์ในประเทศ เป็นการสงวนประเทศไว้สำหรับคนเชื้อชาติ “ไทย” เท่านั้น
“การที่เราได้เปลี่ยนให้ขนานนามว่า ประเทศไทยนั้น ก็เพราะเหตุว่าได้พิจารณาดูเป็นส่วนมากแล้วนามประเทศนั้น เขามักเรียกกันตามเชื้อชาติของชาติที่อยู่ในประเทศนั้น เพราะฉะนั้นของเราก็เห็นว่าเป็นการขัดกันอยู่ เรามีเชื้อชาติเป็นชาติไทย แต่ชื่อประเทศของเราเป็นประเทศสยาม จึงมีนามเป็นสองอย่าง ดังนี้ ส่วนมากในนานาประเทศเขาไม่ใช้กัน และเมื่อเราพิจารณาให้กว้างออกไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าการที่เราใช้คำว่า ประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ก็อาจที่จะถือสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้ คือว่าเราเป็นชาวไทย เราก็อยู่ในประเทศสยาม ชาวจีนก็อยู่ในประเทศสยาม ถ้าหากว่าการที่อพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้นในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น”
สภาผู้แทนราษฎรได้ใช้เวลาอธิปรายประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงทำการลงมติ นอกจากประธานสภาผู้แทนราษฎรที่งดออกเสียง สมาชิกสภาที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ๑๖๔ เสียงลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบรับร่าง
.
.
ต่อมา นายแก้ว สิงหะคเชนทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร ได้เสนอคำแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยเสนอให้ตัดตัว “ย” ออกจากคำว่า “ไทย” จึงได้นำเรื่องเข้าพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า
“ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้นามแห่งเชื้อชาติและประเทศของเราเป็นภาษาไทยแท้ เป็นไทที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะได้เห็นหรือได้ยินชื่อเชื้อชาติและประเทศของเราเป็นภาษาไท-ปน ไท-ปลอม หรือไทพันธุ์ทางให้เป็นการเสื่อมสิริมงคล”
.
ผู้เสนอแปรญัตติระบุว่าหากสภาตัดตัว “ย” ทิ้งจะได้ภาษาไทยที่แท้ นอกจากจะได้ประโยชน์ในการดำรงภาษาไทยแท้ให้คงอยู่ และอาจได้ประโยชน์อื่นๆ คือ ๑. ตรงกับชื่อจริงและตรงกับชาวไทในถิ่นอื่นๆ จะได้ไม่เป็นการแบ่งแยกกับไทกลุ่มอื่น ๒. ได้ผลในทางที่จะช่วยกันรักษาวัฒนธรรมของชาติให้คงไว้เป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนชั้นหลัง ๓. เป็นการประหยัดการใช้ตัว “ย” ที่ทำให้สิ้นเปลืองกระดาษและหมึกไปกับการพิมพ์
ผู้เสนอแปรญัตติยังอ้างอิงหลักภาษาศาสตร์การใช้งานคำว่า ไท-ไทย ในสมัยโบราณตั้งแต่สุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การใช้งานของไทในถิ่นอื่น สมัยดึกดำบรรพ์ และสมัยปัจจุบันอย่างละเอียด เพื่อชี้แจงว่าคำว่า ไท ดั้งเดิมไม่มี “ย”
พร้อมกันนี้ยังอ้างรายงานของกรรมการชำระปทานุกรม เรื่องการเขียนคำ “ไท” และ “ไทย” เสนอต่อที่ประชุม โดยกรรมการฝ่ายที่เห็นควรใช้คำว่า “ไท” มี ๕ ท่าน ฝ่ายเห็นควรใช้ “ไทย” มี ๔ ท่าน อีกท่านหนึ่งไม่ออกเสียง ในกรณีที่เสียงไม่เท่ากัน ประธาน (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งเป็นฝ่ายเห็นควรใช้ ‘ไทย’) ก็ออกเสียงไม่ได้ ฝ่ายที่เห็นควรใช้คำว่า “ไท” จะได้เสียงข้างมากเป็น ๕ ต่อ ๓ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรทรงชี้แจงต่อสภาตอนอภิปรายว่า คณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันหมดว่าควรมีตัว ‘ย’ ไม่ได้มีการลงมติแบ่งฝ่ายแต่อย่างใด)
จึงมีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่าคำว่า ไทย ควรมี "ย" หรือไม่ ฝ่ายที่เห็นว่าไทยควรมี “ย” ชนะไปด้วยคะแนน ๖๔ ต่อ ๕๗ เสียง
.
.
ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามตราเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้ระบุเหตุผลของการแก้ไขว่า
“โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรเรียกนามประเทศให้ต้องตามชื่อ เชื้อชาติ และความนิยมของประชาชน”
.
จึงปรากฏเป็นความตามมาตรา ๓ ว่า
“นามประเทศนี้ ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทน”
เป็นการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” อย่างเป็นทางการ
.
.
ภาพประกอบ : จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวปราศรัยเรียกร้องดินแดนคืนต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หน้ากระทรวงกลาโหม ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
บรรณานุกรม
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ. (๒๔๘๒, ๒๔ มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๕๖, ตอน ๐ ก. น. ๘๑๐.
- รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒. (๒๔๘๒, ๖ ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๕๖, ตอน ๐ ก. น. ๘๙๐–๘๙๑.
- สุพจน์ ด่านตระกูล. (๒๕๔๕). ไทย หรือ สยาม จากบันทึกของ นายปรีดี พนมยงค์ และจากรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๐๔. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๒). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๙ (สมัยสามัญ สมัยที่ ๒) (น. ๔๖๔-๕๐๐). กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (๒๘ กันยายน ๒๔๘๒). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗ (สมัยสามัญ สมัยที่ ๒) (น. ๙๗๙-๑๐๓๓). กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ทางเฟซบุ๊กที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
:วิพากษ์ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย