19 ก.ย. 2020 เวลา 15:18 • ประวัติศาสตร์
"วันนี้ในอดีต" วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) - รัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์
#องค์พระปฐมเจดีย์ #วันนี้ในอดีต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ หลังจากทิ้งรกร้างมานาน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ โดยให้ช่างทหารทำแบบเจดีย์ขึ้นใหม่แบบลังกา มีรูปทรงกลม ไม่มีฐานทักษิณ สูง 17 วา 2 ศอก ครอบเจดีย์องค์เดิม มีการก่อเตาเผาอิฐ และรับซื้ออิฐจากชาวบ้านที่ไปรื้อจากซากวัดร้างมาขาย
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2403 ได้เกิดเหตุการณ์เจดีย์ที่สร้างสวมทับองค์เดิมได้พังทลายลงมา หลังจากเกิดฝนตกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ มีการแก้ปัญหาการพังทลายขององค์เจดีย์ด้วยการใช้ไม้ซุงทั้งต้นปักเรียงกัน แล้วมัดด้วยโซ่ขนาดใหญ่เป็นเปลาะ ๆ เสร็จแล้วจึงก่ออิฐถือปูนหุ้มข้างนอก และเปลี่ยนแปลงรูปเจดีย์ให้มีฐานกว้างขึ้น ส่วนสูงเพิ่มจากเดิม และมีการสร้างวิหารสี่ทิศ และเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงกลมล้อมรอบองค์พระเจดีย์ จากระเบียงออกมาเป็นลาน มีการสร้างหอระฆังไว้เป็นระยะรวม 24 หอ มีการจำลองรูปพระเจดีย์องค์เดิม จำลองพระเจดีย์วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช สร้างภูเขาจำลอง มีหอกลองกับหอระฆัง และมีการปลูกต้นไม้ในพระพุทธศาสนา
ภาพยอดพระเจดีย์
งานก่อสร้างบูรณะพระปฐมเจดีย์สำเร็จลุล่วงในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการประกอบพิธียกยอดพระปฐมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.2413 ยอดพระเจดีย์หล่อด้วยทองเหลือง เป็นรูปยอดนภดล แบบยอดพระปรางค์องค์เดิม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สำหรับประวัติการสร้างพระปฐมเจดีย์มี 2 ตำนาน เรื่องแรกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป ได้ส่งพระมหาเถระ 5 รูป มีพระโสณะและพระอุตตระเป็นประธานอัญเชิญพระไตรปิฎก มาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เวลานั้นตรงกับสมัยของพระเจ้าตวันอธิราชแห่งเมืองทวาราวดี พระมหาเถระทั้ง 5 มาขึ้นที่เมืองท่าแห่งนี้เป็นแห่งแรกในสุวรรณภูมิ จึงขนานมงคลนามว่า "นครปฐม" และเรียกสืบ ๆ กันมานับแต่บัดนั้น
เรื่องที่สองกล่าวถึงพระยากงผู้ครองนครปฐม มีโอรสองค์หนึ่ง โหรทำนายว่าจะฆ่าพ่อ จึงให้เอาไปลอยน้ำทิ้งเสีย ยายหอมเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรให้ชื่อว่าพาน ต่อมาไปศึกษาศิลปวิทยาการที่เมืองราชบุรี เจ้าเมืองราชบุรีต้องชะตาจึงขอไปเป็นพระโอรส ขณะนั้นเมืองราชบุรีกับนครปฐมเป็นศึกกัน พระยาพานโตเป็นหนุ่มจึงยกทัพมาตีนครปฐม พระยากงทำยุทธหัตถีกับลูกชาย ถูกฟันตายคาคอช้าง พระยาพานเข้าเมืองได้สั่งริบของทุกอย่างเป็นราชบาท แม้แต่มเหสีและนางสนมกำนัลทั้งหมด
เทวดา เห็นว่าพระยาพานทำปิตุฆาตเป็นอนันตริยกรรมแล้ว ยังจะเอาแม่เป็นเมียอีก จึงแปลงร่างเป็นแมวแม่ลูกอ่อนนอนขวางประตู พูดกับลูกถึงเรื่องพ่อแม่ที่แท้จริงของพระยาพาน พระยาพานไปเค้นถามจากยายหอม พอทราบความจริงก็โกรธหาว่ายายหอมปิดบังตน จึงฆ่ายายหอมซะอีกคน ต่อมาสำนึกผิด จึงสร้างเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อธิษฐานขอไถ่บาป (พระร่วงโรจนฤทธิ์)
นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่องค์มหาเจดีย์ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทรงให้ช่างหล่อเสริมจนเป็นองค์สมบูรณ์ ประดิษฐานอยู่คู่กับองค์มหาเจดีย์สืบมา ประทานนามให้ว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์" มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์มหาเจดีย์เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ครั้งในหลวงรัชกาลที่ 6 ยังดำรงพระยศ สยามมกุฎราชกุมาร แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ ทรงพบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั้งองค์ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2452 และทรงมีจดหมายเหตุกราบถวายรายงานต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ความว่า
"...ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม ร.ศ.128 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 เวลาดึก 2 ยามกับ 45 นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งเล่นอยู่ที่เรือนสนามจันทร์ มีข้าราชการมหาดเล็กอยู่ด้วยจำนวนมาก เห็นองค์พระปฐมเจดีย์มีรัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านตะวันตกคือด้านที่เล็งกับสนามจันทร์ทาด้วยฟอสฟอรัสพราวเรือง ตั้งแต่คอระฆังลงมาหน่อยหนึ่ง ตลอดจนยอดมงกุฎ แลยังซ้ำมีเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นสูงอีกประมาณ 3-4 วา ปรากฏอยู่อย่างนี้ 17 นาที จากนั้นก็ดับหายไป เหลือสว่างอยู่แค่ข่องมะหวดลงมาอีกกึ่งนาที ก็ดับหายหมด จนมืดแม้จะมองแต่รูปองค์พระก็ไม่เห็นถนัด ข้าพระพุทธเจ้าได้นับผู้ที่เห็นขณะนั้น ตลอดจนทหารที่อยู่ยามสี่คนเป็นจำนวน 69 คน" (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)
พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีพระราชดำรัสว่า เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นผ่านไปทางนครปฐม ก็พบปาฏิหาริย์แบบนี้เช่นกัน มีรับสั่งให้มหาดเล็กตรวจค้นหาดูว่า มีผู้ใดแกล้งทำให้เป็นไปแบบนั้นหรือไม่ ปรากฎว่าไม่มี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สร้าง "พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย" ภายในพระราชวังสนามจันทร์ หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อใช้สำหรับทอดพระเนตรปาฏิหาริย์อีกด้วย
โฆษณา