20 ก.ย. 2020 เวลา 02:14 • ธุรกิจ
3 องค์ประกอบ เพื่อสร้างคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในกระบวนการทำงานของฝ่ายผลิต
ก่อนที่จะทำความรู้จักกับองค์ประกอบเหล่านั้น ขออนุญาตนำพวกเราทำความเข้าใจ คำว่าคุณภาพ เบื้องต้นดังนี้
คุณภาพ คือ ความสอดคล้องกับข้อกำหนด
คุณภาพ คือ ความสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ต้องการ โดยสินค้าหรือบริการนั้นจะต้องสร้างความพอใจให้กับลูกค้า หรือกระบวนการถัดไป เมื่อส่งมอบงาน
ทั้งนี้การที่จะสร้างงานที่มีคุณภาพเกิดขึ้นในการทำงานได้นั้น ทุกส่วนงานต้องมีความพร้อมครบถ้วนทั้ง 3 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้ คือ
องค์ประกอบที่ 1 :
ความรับผิดชอบที่ชัดเจน
Clear consistency
นโยบายการสร้างคุณภาพ ณ สถานีงานที่ผลิต (In-station Quality หรือ ISQ) คือ การที่ไม่ปล่อยให้ข้อบกพร่องนั้นถูกส่งไปยังสถานีถัดไป ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของการผลิตนั้น สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ และก็ยังสามารถผลิตข้อบกพร่องได้ด้วย เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอน คือแหล่งกำเนิดของข้อบกพร่องและแหล่งกำเนิดของงานคุณภาพได้ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งนี้หากทุกขั้นตอนการทำงานของเรา ใช้คนเป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนการทำงาน ดังนั้นผู้ที่จะต้องมีความรับผิดชอบในงานด้านคุณภาพ จึงต้องเป็นหน้าที่ของทุกๆคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน ในแต่ละขั้นตอน
หลักการนี้หมายถึง การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบด้านคุณภาพที่ชัดเจนกับพนักงานทุกคน ไม่ใช่การผลักความรับผิดชอบให้กับพนักงานผู้ตรวจสอบชิ้นงาน (QC) หรือผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการประกันคุณภาพ (QA) เท่านั้น แต่เป็นการปลูกฝังพนักงานทุกคนผลิตงานที่มีคุณภาพในทุกๆขั้นตอนของการทำงาน
สำหรับสโลแกน ที่นิยมใช้ในการปลูกฝังให้กับพนักงานทุกท่านคือ “รับดี ทำดี ส่งดี” กล่าวคือการรับงาน จะรับเฉพาะของที่ดีเท่านั้น การทำงาน ก็จะผลิตแต่ของดีเท่านั้น และการส่งมอบงาน ก็จะส่งมอบเฉพาะของดีเท่านั้น
หรือ อีกสโลแกนหนึ่งที่นิยมไม่แพ้กันคือ “ไม่รับ ไม่ทำ ไม่ส่ง ของเสีย” ซึ่งเป็นการใช้คำตรงกันข้าม กับสโลแกนก่อนหน้านี้นั่นเอง
องค์ประกอบที่ 2 :
มาตรฐานการทำงานคงเส้นคงวา
Consistency standards
ในแต่ละสถานีงานจะต้องมีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน โดยเนื้อหาสำคัญที่จะต้องระบุไว้ในมาตรฐานการทำงาน คือ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และจุดพึงระวังด้านคุณภาพ สำหรับมาตรฐานการทำงานนี้ มีไว้สำหรับพนักงาน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ใช้สำหรับทบทวน และตรวจสอบการทำงานของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานการทำงาน ดังนั้นเจ้าของเอกสารมาตรฐานการทำงานที่แท้จริง คือพนักงานที่กำลังปฏิบัติงานในขั้นตอนงานนั้นๆอยู่นั่นเอง
ทั้งนี้ การที่พนักงานสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานแล้ว โอกาสที่จะเกิดข้อบกพร่องก็จะลดลง แต่หากว่าเมื่อปฏิบัติแล้วยังเกิดข้อบกพร่องอยู่ แสดงว่ายังมีบางอย่างที่อยู่นอกเหนือสิ่งที่เราควบคุมไว้ในมาตรฐาน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องร่วมกันปรับปรุงมาตรฐานอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
องค์ประกอบที่ 3 :
เงื่อนไขการตอบสนองต่อปัญหา
Condition response
องค์ประกอบข้อนี้เป็นองค์ประกอบลำดับที่ 3 หลังจากที่เราได้ดำเนินการในลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการสร้างระบบที่ใช้ในการตอบสนองเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น สัญญาณอันดง (Andon) คือ สัญญาณการเรียกขอความช่วยเหลือเมื่อพนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานการทำงาน หรือมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นขณะทำงาน
หลักการนี้คือการหยุดกระบวนการทำงาน เพื่อทำการจัดการแก้ไขปัญหาในทันที หลักการนี้นอกจากจะต้องมีระบบที่ใช้ในการแจ้งเตือน และหยุดปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ยังรวมถึงการจัดโครงสร้างการตอบสนองต่อปัญหา เพื่อสร้าง Sense of urgency หรือ ความตระหนักในความเร่งด่วนในการจัดการต่อปัญหา
โครงสร้างที่ว่านี้จะเป็นการกำหนดกรอบเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เมื่อพนักงานพบปัญหา และเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาของหัวหน้างานในแต่ละลำดับขั้น ตลอดจนการยกระดับของปัญหาให้หัวหน้างานในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไป เข้าร่วมจัดการแก้ไขปัญหา
ทั้งหมดนี้เป็นการสื่อสารอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการปัญหา ให้กลับมาอยู่ในสภาวะการทำงานปรกติให้เร็วที่สุด ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมการหยุดเพื่อแก้ไขปัญหา และการสร้างงานให้เกิดคุณภาพที่ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกในการผลิตให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
ร่วมแบ่งปันมุมมองแบบลีน
Mr.Boat - เล่าเรื่องลีน
และ อีก 1 ช่องทางแบ่งปัน ที่...
Facebook Page Dr. Lean - หมอลีน
#Lean #ลีน #QualityView #มุมมองด้านคุณภาพ
โฆษณา