22 ก.ย. 2020 เวลา 02:00 • หนังสือ
วรรณกรรมจีนสมัยใหม่ อ่านอะไรดี?
WIKIPEDIA PD
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ผู้อ่านรู้จักวรรณกรรมของจีนเรื่องไหนกันบ้าง เราอาจจะคุ้นเคยกับ สามก๊ก หรือ ไซอิ๋ว หรือนิยายกำลังภายในเช่น มังกรหยก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อ้างอิงจากตำนานเก่าแก่ 400 - 500 ปี หรือเป็นพันปีซะเสียส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ร่วมสมัยหน่อยเราคงจะนึกไม่ค่อยออกเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
ไซอิ๋ว - สามก๊ก (WIKIPEDIA PD)
คอหนังสืออาจจะร่ายชื่อวรรณกรรมที่โด่งดังของของนักเขียนฝั่งตะวันตกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ใคร ๆ ก็รู้จัก George Orwell คนที่เขียนเรื่องแอนนิมอล ฟาร์ม หรือ Ernest Hemingway กับ oldman and the sea , Milan Kundera กับ The Unbearable Lightness of Being ที่แปลเป็นชื่อภาษาไทยได้สาแก่ใจผู้อ่านมากว่า “ความเบาหวิวเหลือทนแห่งชีวิต” หรือผู้หญิงก็มี Virginia Woolf ที่นักอ่านต้องรู้จัก Mrs.Dalloway และอีกเล่มที่อ่านยากแต่เท่ชะมัดเลยก็คือ Orlando และ Sylvia Plath ผู้เขียน The Bell Jar ที่สาว ๆ ออฟฟิศน่าจะได้อ่านกัน หรือ Margaret Atwood ที่เขย่าโลกยุคใหม่ด้วยนิยายสายโหดในโลกสามารถเกิดขึ้นได้จริงทุกเมื่อ คือ The Hand Maid’s Tale และอีกเยอะแยะมากมาย ให้ไล่ชื่อทั้งวันก็ไม่หมด
Ernest Hemingway - George Orwell (WIKIPEDIA PD)
แต่พอให้เปลี่ยนเป็นคนเอเชียก็เริ่มยากขึ้น อาจจะเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่นสักสองสามเรื่อง เช่น บตจัง ของ โซเซกิ นัตสึเมะ คนที่มีใบหน้าอยู่บนธนบัตรหนึ่งพันเยน เรื่องราโชมอน ของ อากุตะงาวะ ริวโนะซุเกะ แต่ถ้าเปลี่ยนให้นึกถึงวรรณกรรมจีนคลาสสิคบ้าง นี่ยากมากๆ ไม่ใช่ ไซอิ๋ว ไม่ใช่สามก๊ก ไม่ใช่มังกรหยก แล้วมีอะไร?
อากุตะงาวะ ริวโนะซุเกะ (WIKIPEDIA PD)
วรรณกรรมจีนสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษ ที่ 20 หรือช่วงปลายราชวงศ์ชิง และ ช่วงต้นของยุคสาธารณจีน ตอนนั้นสังคมจีนเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบมโหฬาร เกิดการปฏิวัติซินไห่ เปลี่ยนระบบการปกครองจากระบอบฮ่องเต้ที่อยู่มาเป็นพันปี ก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ เป็นการปะทะกันของค่านิยมดั้งเดิมของจีนคือการให้คุณค่าแบบขงจื๊อ อนุรักษ์นิยม กับวิถีและแนวคิดแบบใหม่จากตะวันตก ทั้งวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี การเลือกตั้งและอื่นๆ อีกมากมายที่ถาโถมเข้ามาในสังคมจีน
WIKIPEDIA PD
วรรณกรรมจีนสมัยใหม่ไม่ถูกพูดถึงในประเทศไทยมากนัก แม้จะมีการแปลเป็นภาษาไทยมากที่สุดในช่วงปี ค.ศ. 1960 - 1980 ซึ่งโลกก็กำลังอยู่ในสงครามเย็น วรรณกรรมจีนร่วมสมัยจึงถูกแปลในฐานะวรรณกรรมสำหรับคนฝ่ายซ้าย ซึ่งในไทยเราก็จะเป็นฝ่ายซ้ายในแบบของเหมา เจ๋อตง พอกระแสฝ่ายซ้ายแบบจีนหายไปจากสังคมไทย วรรณกรรมเหล่านี้ก็หายตามไปด้วย ไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังจำกัดอยู่ในหมู่ผู้อ่านกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทั้งที่งานพวกนี้จัดเป็นงานคลาสสิคระดับนานาชาติๆ วันนี้เราจึงจะมาแนะนำวรรณกรรมสมัยใหม่ของจีนกัน
คนแรกที่จะหยิบมาพูดถึงก็คือ หลู่ ซวิ่น (หรือ หลู่ ซุน) ชื่อจริง โจว ซูเหริน (Zhou Shuren) หลู่ ซวิ่น ถือว่าเป็นบิดาแห่งเรื่องสั้นจีนสมัยใหม่ เขาเป็นคนแรกที่ใช้ภาษาพูดมาเขียนเป็นหนังสือ ผิดจากสมัยโบราณที่การเขียนหนังสือเป็นภาษาจีนจะต้องใช้ภาษาเต็มรูปแบบที่เป็นทางการ เขียนอะไรก็เป็นกลอนไปหมด อ่านแล้วเข้าใจยาก ผู้อ่านต้องแปลจีนเป็นจีนอีกรอบถึงจะเข้าใจ แต่ หลู่ ซวิ่น หยิบเอาวิธีเขียนแบบตะวันตกมาปรับใช้ และเป็นจุดเริ่มต้นของภาษาจีนสมัยใหม่ ซึ่งมีประโยชน์มากๆ ทำให้ภาษาจีนเขียนคำใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ใช้เรียน ใช้แปล ใช้เขียนทับศัพท์ ใช้เขียนแสดงความรู้สึกและเขียนงานเชิงสร้างสรรค์ออกมามากมายเช่นเรื่องสั้นเป็นต้น
WIKIPEDIA PD
หลู่ ซวิ่น มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายของราชวงศ์ชิง เขาเกิดมาในครอบครัวที่เคยร่ำรวยมาก่อน เคยเป็นขุนนาง เคยเป็นข้าราชการ แต่ในช่วงที่เขาเติบโต ฐานะของครอบครัวก็เริ่มตกต่ำ สมบัติตระกูลร่อยหรอ ตัวเขาได้ทุนจากรัฐบาลชิง ไปเรียนแพทย์ที่ญี่ปุ่น แต่เรียนได้ไม่กี่ปีก็ลาออก เพราะประสบกับเหตุการณ์ที่สร้างความคับข้องใจให้กับเขามาก
WIKIPEDIA PD
เรื่องมีอยู่ว่าในวันหนึ่งหลังคาบเรียนจุลชีววิทยา อยู่ๆ อาจารย์ของเขาก็เอาสไลด์ข่าวสงครามมาเปิดให้ดู ซึ่งช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังทำสงครามกับรัสเซีย สมรภูมิส่วนใหญ่อยู่ในจีน แล้วก็มีภาพข่าวหนึ่ง เป็นภาพคนจีนโดนทหารญี่ปุ่นจับมาตัดหัวเพราะถูกชี้ว่าเป็นสายลับให้รัสเซีย ทุกคนก็ดูกันโดยไม่สนใจคนจีนแบบเขาที่นั่งหัวโด่อยู่ หลู่ ซวิ่น เล่าว่าต้องจำใจ ตบมือเชียร์ไปกับเขาด้วย หนำซ้ำ ภาพนี้ก็ยังสะเทือนใจเขามาก เพราะคนที่มุงดูการประหารอยู่ในภาพ ก็เป็นคนจีนที่พากันมุงดูคนจีนด้วยกันถูกตัดหัวแบบไร้เยื่อใย
WIKIPEDIA PD
เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เขาคิดได้ว่า สิ่งที่คนยุคนี้ต้องได้รับการเยียวยาไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่จิตวิญญาณต้องได้รับการดูแลด้วย ซึ่งสิ่งที่จะทำหน้าที่เยียวยาได้ก็คือวรรณกรรมนั่นเอง หลังจากนั้นเขาก็หันมาศึกษางานเขียนตะวันตก เช่น วรรณกรรมรัสเซีย และงานเขียนทางปรัชญาจากเยอรมัน โดยเฉพาะงานของ เฟรเดริก นิตเช่ และเมื่อประเทศจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ หลู่ ซวิ่นก็เดินทางกลับประเทศและยึดอาชีพเป็นอาจารย์และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน
หลู่ ซวิ่นเห็นประเทศจีนล้มเหลวในช่วงหลังการปฏิวัติ ประเทศจีนไม่สามารถก้าวหน้าได้ มีแต่การแก่นแย่งอำนาจและสงคราม ทำให้เขาตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้จีนไม่พัฒนา ตั้งคำถามกับค่านิยมเก่า ๆของสังคม ระบอบครอบครัวเป็นใหญ่ ความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ยังคงถูกครอบงำด้วยระบบชนชั้น
ตัวอย่างเรื่องสั้นที่น่าหามาอ่านของ หลู่ ซวิ่น ก็เช่นเรื่อง“ขง อีจี๋” (Kong Yiji) เป็นเรื่องของเด็กเสิร์ฟ หรือ เสี่ยวเอ้อในโรงเตี๊ยมกับลุงขี้เมาคนหนึ่งที่มาดื่มเหล้าในโรงเตี๊ยมบ่อยๆ ลุงขี้เมาคนนี้แต่งตัวเหมือนปราชญ์จีนโบราณ ชอบโม้เสียงดังว่าเป็นคนฉลาด การศึกษาดี เรียกตัวเองว่า “ขง” เพื่อให้เหมือนขงจื๊อ แต่พฤติกรรมกลับตรงกันข้ามทุกอย่าง แถมชอบกินแล้วชักดาบ สุดท้ายโดนจับได้ว่าไม่มีเงินเลย แล้วยังเป็นหัวขโมยอีกต่างหาก
เรื่องนี้ก็เขียนขึ้นเพื่อเสียดสีคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมปล่อยค่านิยมแบบเดิมๆ ถึงแม้ว่าสิ่งที่พวกเขายึดถือจะทำให้พวกเขาเดินตามโลกไม่ทัน และเอาตัวไม่รอดในโลกสมัยใหม่แล้วก็ตาม
เรื่องสั้นของ หลู่ ซวิ่น ก็จะมีจุดเด่นที่สามารถเสียดสีสังคมได้เฉียบคม อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ “บันทึกของคนบ้า” (A Madman’s Diary) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน ของนักเขียนรัสเซีย“นิโคไล โกกอล” โดยผู้อ่านจะได้อ่านบันทึกของผู้ชายคนหนึ่ง ที่เล่าว่าเขาเริ่มรู้สึกหวาดระแวงว่าคนรอบข้างเขาเป็นมนุษย์กินคน เริ่มจากคนในหมู่บ้าน ลามไปถึงคนในครอบครัวตัวเองก็เป็นมนุษย์กินคนด้วย เขากลัวว่าน้องสาวเขาอาจจะถูกสมาชิกในครอบครัวกินไปแล้วก็ได้? หรือแม้แต่ตัวเขาเองอาจจะเคยกินใครเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า? เรื่องนี้ก็เสียดสีสังคมจีน ณ ตอนนั้น ว่าระบบที่เป็นรัฐข้าราชการ ใคร ๆ ก็อยากเป็นใหญ่ อยากไปสอบจอหงวน ซึ่งระบบชนชั้นที่แข็งแกร่งแบบนี้ มันทำให้คนกินคน กล่าวคือมันทำให้คนมองคนไม่เท่ากัน คนมองคนไม่เป็นคน คนรวยเอาเปรียบคนจน หนักสุดคือแม้แต่คนในครอบครัวก็ยังเป็นไปกับเขาด้วย
นิโคไล โกกอล (WIKIPEDIA PD)
ซึ่งตัว หลู่ ซวิ่น เองก็โตมาจากครอบครัวหัวโบราณเต็มขั้น เมื่อครั้งที่ตัวเขายังเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น แม่เขากลัวลูกจะเตลิดมาก ถึงกับอ้างว่าป่วยเพื่อให้เขากลับบ้าน และก็จับเขาคลุมถุงชนกับผู้หญิงที่เขาไม่รู้จัก ซึ่งผู้หญิงคนนี้ยังเป็นผู้หญิงที่ต้องมัดเท้าเป็นรูปดอกบัวอยู่เลย สุดท้ายเขาก็จำใจแต่งๆ ไป แล้วก็หนีกลับญี่ปุ่นทันที
WIKIPEDIA PD
และเรื่องที่ดังที่สุดของ หลู่ ซวิ่น ชื่อว่า “ชีวิตจริงของอาคิว” (The True Story of Ah Q) เป็นเรื่องของ“อา Q” ที่เป็นคนจน ทำอะไรก็ล้มเหลว สู้กับใครก็แพ้ แต่อาคิวก็เชื่อว่า ตนเป็นผู้แพ้ที่ไม่เคยแพ้ เพราะเขามีจิตใจที่สูงกว่าคนที่มารังแกเขา แต่ในขณะเดียวกัน แทนที่จะจิตใจสูงจริง พออาคิวมีโอกาส เขาก็ไปรังแกและเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่าเขาเสมอ
ในเรื่องก็จะมีเหตุการณ์เพี้ยนๆ มากมายเช่น ตอนที่อาคิวไปเล่นไพ่แล้วโดนอันธพาลกระทืบ เขาก็จะตบหน้าตัวเองซ้ำ แล้วก็บอกกับตัวเองว่า ฉันเป็นคนตบหน้าตัวฉันเอง ฉันไม่ได้โดนพวกนั้นรังแกฝ่ายเดียวซักหน่อย ฉันไม่ได้แพ้พวกนั้น ฉันยังมีเกียรติอยู่ หรือ ตอนโดนขาใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพลรังแก เขากลับรู้สึกยินดีกับตัวเองที่ได้รับความสนใจจากคนใหญ่โต ได้มีคอนเน็กชั่น
ในเรื่องก็ยังมีเหตุการณ์การปฏิวัติซินไห่ด้วย เมื่อบ้านเมืองเกิดการปฏิวัติและเกิดจลาจล อาคิวก็ไปขโมยของตามบ้านคน เพราะเห็นคนอื่นขโมยก็ขโมยตามๆ คนอื่นเขาไป ตัวเขาก็ไม่รู้ว่าการปฏิวัติคืออะไร เข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะขโมยของใครก็ได้ สุดท้ายอาคิวก็โดนทางการจับขังคุก พอผู้คุมเอาคำรับสารภาพมาให้เซ็นชื่อ อาคิวก็ไม่ได้สนใจเนื้อหาที่ให้เซ็น กลัวอย่างเดียวคือกลัวเสียหน้าว่าจะเขียนชื่อตัวเองผิด พอผู้คุมบอกว่าถ้าเขียนหนังสือไม่เป็นก็วงกลมไปก็พอ อาคิวก็ยังกลัวเสียหน้าอยู่ดีว่าตัวเองจะวงกลมไม่สวย จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่รู้ตัวเลยว่าเขาเป็นคนแบบไหนจนจบเรื่อง กลัวเสียหน้าอย่างเดียว
หลู่ ซวิ่น ก็ใช้ อาคิว แสดงความบื้อแบบสุดขีดจนเกินจริง เพื่อประชดประชัน ว่าคนที่เป็นคนขี้แพ้ที่สุดคือคนแบบไหน? คนแบบไหนที่กลวงเปล่า? คนที่มือถือสากปากถือศีล เอาแต่ท่องว่าตนใจสูง มีศีลธรรมอันดี จนละทิ้งตรรกะและความเป็นจริงที่ตั้งอยู่ตรงหน้า คนแบบนี้คือคนที่ฉุดรั้งสังคมจีนไม่ให้ก้าวหน้าในช่วงเวลาที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเป็นที่สุด เอาแต่คิดว่าจีนดีที่สุดเพราะจีนมีประวัติศาสตร์และประเพณียาวนานหลายพันปี เรายังคงยิ่งใหญ่ถึงแม้จะแพ้สงครามฝิ่นกับอังกฤษก็ตาม อันนี้พูดถึงสังคมจีนยุคสาธารณรัฐ
งานเขียนของ หลู่ ซวิ่น ถือว่าเป็นไอคอน ของขบวนการ “4 พฤษภา” (May Fourth Movement) ซึ่งเป็นขบวนการของนักศึกษาที่ลุกฮือขึ้นมา เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในปี 1919 ต่อต้านค่านิยมเก่าๆ เพื่อที่จะได้พัฒนาประเทศไปสู้กับพวกชาติล่าอาณานิคมทั้งหลาย ทั้งยุโรปหรือญี่ปุ่น
WIKIPEDIA PD
และถึงแม้งานเขียนของ หลู่ ซวิ่น จะถูกใจฝ่ายซ้ายมากๆ เพราะลีลาการเสียดสีสังคมแบบชั้นชนเก่าๆ แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด และเสียชีวิตในปี ค.ศ.1936 ยังไม่ทันได้เห็นเป็นประเทศกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่ผู้ติดตามผลงานตัวยงของ หลู่ ซวิ่น คือ เหมา เจ๋อตง ก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน สรรเสริญผลงานของ หลู่ ซวิ่น มากๆ ออกมารับรองว่าเป็นวรรณกรรมที่ถูกต้อง สมควรแก่การอ่าน และเป็นแนวทางสำหรับสำหรับจีนยุคใหม่ ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน หลู่ ซวิ่น แทบจะถูกเทิดทูนเป็นนักบุญ รัฐบาลคอมมิวนิสต์นำบ้านที่เขาเคยอยู่ในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ทำเป็นอนุสรณ์สถาน ปากกาและเตียงถูกตั้งบูชาไว้ประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สวนทางกับสิ่งที่เขาสั่งเสียไว้ว่าอย่าเอาเขามารำลึก อย่าสร้างอนุสรณ์ใดๆ ให้เขาทั้งสิ้น
WIKIPEDIA PD
และสุดท้ายก็กลายเป็นว่ามีการอ้างว่า หลู่ ซวิ่น ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่งานเขียนของ หลู่ ซวิ่น วิจารณ์ก็คือโลกของอำนาจนิยมต่างหาก ใครอ่านก็เข้าตัวได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา
ทุกวันนี้ประเทศจีนที่เปิดประเทศแล้ว มีสถาบันขงจื่อ คอยสนับสนุนให้คนทั่วโลกได้เรียนภาษาจีน หนังสือของ หลู่ ซวิ่น ก็ยังคลาสสิค ยังต้องนำมาอ่าน นำมาสอนกันเสมอในสถาบันขงจื่อ ตลกดีเหมือนกันที่สถาบันขงจื่อให้อ่าน หลู่ ซวิ่น เพราะ ว่า หลู่ ซวิ่น ก็เคยเสียดสี ขงจื๊อแบบตรงๆ มาแล้วในงานเขียนอย่างเรื่อง ขง อีจี๋
นอกจาก หลู่ ซวิ่น ก็ยังมีอีกหลายคนมากที่เข้าขั้นผลงานคลาสสิค คนต่อมาที่จะแนะนำก็คือ ติง หลิง (ding ling) หรือชื่อจริง เจี่ยง ปิงจือ (Jiang Bingzhi) คือนักเขียนหญิงที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในกลุ่มนักเขียน 4 พฤษภา เธอโตมาในครอบครัวชนชั้นเจ้าของที่ดิน เธอเกิดในช่วงที่ประเทศจีนเพิ่งกลายเป็นประเทศสาธรณรัฐสดๆ ร้อนๆ แม่ของเธอหัวสมัยใหม่ ส่งเสริมให้เธอได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เธอได้ไปเรียนในมหาลัยในเมืองที่เต็มไปด้วยอาจารย์หัวก้าวหน้า รวมทั้ง หลู่ ซวิ่น ก็เคยสอนเธอด้วย
WIKIPEDIA PD
ชีวิตของ ติง หลิง นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในยุคพรรคก๊กมินตั๋งหรือช่วงคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ เธอก็จะถูกตีตราว่าเป็นคนทรยศจากทั้งสองฝ่าย คนรักของเธอ หู เยี่ยผิง (Hu Yepin) ซึ่งเป็นนักเขียนเหมือนกัน ถูกทหารของเจียง ไคเชก จับกุมตัวไปด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์และถูกยิงเป้าประหารชีวิตไปในที่สุด ทำให้เธอโกรธแค้นผิดหวัง และสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
WIKIPEDIA PD
แต่พอเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว เธอก็ขัดแย้งกับ เหมา เจ๋อตงอีก เพราะความคิดเรื่องการปฏิวัติไม่ตรงกัน ติง หลิง บอกว่าจะปฏิวัติสำเร็จ ต้องเริ่มจากการปฏิวัติครอบครัวก่อน ผู้หญิงต้องออกมาจากบทบาทความเป็นแม่เป็นเมีย ทำงานปฏิวัติเท่าเทียมผู้ชาย แต่เหมา ก็จะบอกว่า ศัตรูเบอร์หนึ่งของเราคือนายทุน สังคมยังต้องการแม่และเมีย คอยทำกับข้าวและเลี้ยงลูกอยู่
ที่จริงแล้วความคิดของเหมา เรื่องผู้หญิงก็ค่อนข้างไปไกลกว่าสังคมอื่นในเวลาเดียวกันอยู่เหมือนกัน เช่น เหมา มีวาทะเด็ดอันหนึ่งที่เขาบอกว่า “ผู้หญิงนั้นแบกฟ้าไว้ครึ่งหนึ่ง” หมายถึงผู้หญิงนั้นเท่าเทียมกับผู้ชาย กองทัพประชาชนก็มีทหารผู้หญิงมากมาย แต่ในขณะเดียวกันฟ้าที่ผู้หญิงแบกไว้ครึ่งหนึ่งของเหมา คือแบกอยู่ในห้องครัว ยังหนีภาระแม่และเมียไม่พ้น
ถึงแม้จะเป็นสมาชิกพรรคแต่ ติง หลิง เขียนงานวิพากษ์วิจารณ์ พรรคและประธานเหมา จนทำให้เธอถูกจับและถูกส่งไปทำนารวมอยู่บ่อยครั้ง พอเธอเอาชีวิตรอดจากการปฏิวัติวัฒนธรรมอันโหดร้ายมาได้ ช่วงที่จีนเปิดประเทศ ในช่วงปี 1970 มีผู้นำเป็น เติ้ง เสียวผิง เธอก็กลับมาอยู่ในพรรค แต่พรรคก็ไม่เห็นความสำคัญ ไม่โปรโมทผลงานของเธอมากนัก จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
WIKIPEDIA PD
สิ่งที่ ติง หลิง คิดยังทันสมัยมากๆ อยู่ เพราะในปัจจุบันถึงผู้หญิงจะได้รับการศึกษาเท่าเทียมผู้ชาย แต่ในเรื่องหน้าที่การงาน ผู้หญิง จะถูกคาดหวังไม่เหมือนผู้ชาย เมื่อมีลูกจะถูกคาดหวังให้เป็นฝ่ายเลี้ยงลูก ทำให้บริษัทมักไม่เลื่อนขั้นให้ผู้หญิง หรือคนที่ออกจากงานไปเลี้ยงลูกกลับมา หน้าที่การงานก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ทุกวันนี้ประเทศที่ใช้ระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ก้าวหน้ามากๆ หลายประเทศในสแกนดิเนเวีย ก็ทดลองแก้ปัญหาโดยใช้วิธีออกกฎหมายลาเลี้ยงลูกสำหรับผู้ชาย คือเป็นทางเลือกให้ผู้หญิงกลับมาทำงาน และให้ผู้ชายอยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ เพื่อเป็นตัวเลือกให้ครอบครัวนั้นๆ แก้ปัญหา
ผลงานเข้าขั้นคลาสสิคของ ติง หลิง ก็คือเรื่อง “บันทึกของนางสาวโซเฟีย” (Miss Sophia's Diary) เป็นบันทึกของผู้หญิงที่ชื่อว่า“ซาเฟย” (Shafei) แต่ก็ออกเสียงให้เหมือนคำว่า“โซเฟีย” แบบฝรั่งได้เหมือนกัน ชื่อของตัวละครก็เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องนี้ เพราะนางเอกของเรื่องติดอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นจีนยุคเก่าที่ทุกอย่างอยู่ในกรอบจารีตประเพณี และ โลกใบใหม่ในอุดมคติที่ชายหญิงเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในเรื่องความรักและความคิดเรื่องความโรแมนติก เรื่องแสดงให้เห็นความสับสนของผู้หญิงจีนยุคใหม่ที่เจอทางตัน ว่าจะมีความรักตามอุดมคติอย่างไร เมื่อเติบโตมาในสังคมที่มีระบบครอบครัวแบบดั้งเดิม ความรักคือการคลุมถุงชนมาตลอด และตอนนี้ความรักจริงๆ คืออะไร?
ในเรื่องเราจะได้อ่านบันทึกของโซเฟีย เธอป่วยเป็นวัณโรค อาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ ตามลำพัง เราจะเห็นความแปรปรวนและเคลือบแคลงในความรักเพราะจัดการกับมันไม่ถูก เราจะเห็นเธอเป็นผู้นำทางความคิดของผู้ชายที่มาชอบเธอ ในขณะเดียวกันเมื่อผู้ชายคนนี้เปิดเผยความรู้สึกและร้องไห้ออกมา เธอก็บอกกับเขาว่า“อย่าคิดว่าฉันจะอ่อนแอเหมือนผู้หญิงคนอื่น ที่ทนเห็นน้ำตาไม่ไหว ถ้าจะร้องไห้ก็กลับไปร้องที่บ้าน น้ำตาทำให้ฉันรำคาญ” หรือเธอบรรยายถึงผู้ชายที่เธอใฝ่ฝันว่า มีบุคลิกภาพแบบเดียวกับอัศวินยุโรปในยุคกลาง ผนวกเข้ากับความนุ่มนวลอ่อนโยนแห่งโลกตะวันออก
นักเขียนคนต่อมาที่จะแนะนำ คือ เป็นนักเขียนหญิง จาง ไอหลิง (Eileen Chang) เธอเกิดที่เซี่ยงไฮ้ในช่วงที่เป็นเขตเช่าของชาติอาณานิคมต่างๆ และเธอก็มีชีวิตอยู่ในโลกเสรีตะวันตกซะส่วนใหญ่ เธอเรียนในฮ่องกง และหลังสงครามโลกครั้งที่สองเธอก็ไปอยู่ที่อเมริกาจนจบชีวิต งานเขียนของเธอจะพูดถึงผู้หญิงจีนสมัยใหม่ ที่ปัญหาของตัวละครคือปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงว่าจะไปอยู่ตรงไหนในโลกแห่งทุนนิยม พูดเรื่องการแต่งงาน พูดเรื่องสถานภาพและฐานะ
ถ้าลองเปรียบเทียบกันกับ ติง หลิง ที่เป็นนักเขียนฝ่ายซ้าย เรื่องของ ติง หลิง มักจะเป็นเรื่องของ “ผู้หญิงจีน ปะทะ กับโลกในอุดมคติที่ทุกคนเท่ากันตามแบบสังคมนิยม” ส่วน จาง ไอหลิง จะเป็นเรื่องของ "ผู้หญิงจีน ปะทะ กับการเอาตัวรอดโลกทุนนิยม”
งานเขียนของ จาง ไอหลิง ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ มากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นงานคลาสสิคที่สุดของนักเขียนจีนสมัยใหม่ คนไทยเราอาจเคยเห็นบ้าง เมื่อเรื่องของเธอถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่น Love in a fallen city (ชื่อไทย : รักในฝัน) เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ฮ่องกงเมื่อปี 1984 โดยผู้กำกับ แอน ฮุย (Ann Hui) นำแสดงโดย โจว เหวินฟะ กับ โคร่า เมียว (Cora Miao) เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่กลับมาอยู่กับครอบครัวหลังจากหย่าแล้ว และแทบไม่มีที่ยืนในครอบครัว แต่เธอก็ได้พบรักกับพระเอกที่เป็นนักธุรกิจหนุ่ม ที่กำลังถูกคนในครอบครัวจับคู่กับหลานสาวของเธอเอง โดยมีฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองเซี่ยงไฮ้ และ ฮ่องกงเป็นแบ็คกราวด์ของเรื่อง
เนื้อเรื่องก็สะท้อนถึงคุณค่าของผู้หญิงกับความรัก คุณค่าของขึ้นอยู่กับการถูกรักหรือแต่งงาน หรือถูกหย่าเท่านั้นหรือ?
และอีกเรื่อง ที่หลายๆ คนต้องร้องอ๋อ คือเรื่อง Lust, Caution ที่เป็นภาพยนตร์ในปี 2007 โดยผู้กำกับ อั้ง ลี่ นำแสดงโดย เหลียง เฉาเหว่ย กับ ทัง เหวย เป็นเรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน เมื่อเซี่ยงไฮ้ถูกรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่นปกครอง กลุ่มนักศึกษาชายหญิงจากฮ่องกง ถูกสั่งให้เป็นสายลับ เพื่อจัดการกับนักการเมืองของรัฐบาลหุ่นเชิดจอมขายชาติ ซึ่งเหล่าสายลับก็เลือกให้นางเอกใช้ความเป็นผู้หญิงเข้าหานักการเมืองและใช้ร่างกายแลกเพื่ออุดมการณ์ของความเป็นชาติจีน
Lust, Caution นอกจากมีโครงเรื่องที่นำมาจากเหตุการณ์จริงแล้ว เรื่องนี้ยังจัดว่าเป็นเรื่องกึ่งชีวะประวัติด้วย เพราะชีวิตจริงของ จาง ไอหลิง ตอนอายุ 23 ปี ก็เคยแต่งงานกับนักหนังสือพิมพ์อายุห่างกันหลายสิบปี ซึ่งสามีของเธอก็ทำงานให้รัฐบาลหุ่นเชิดและถูกเรียกว่าคนขายชาติเหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนผิดจากในนิยายก็คือ ความสัมพันธ์พวกเขาจบลงเพราะฝ่ายชายนอกใจเธอเอง ไม่เกี่ยวกับการขายชาติเลย
ทั้งหมดนี้เป็นการแนะนำแบบคร่าวๆ อยากให้ผู้อ่านได้ลองหามาอ่านด้วยตัวเอง เพราะวรรณกรรมจีนสมัยใหม่นั้น สะท้อนเรื่องของผู้คนที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสังคมจารีต สังคมชนชั้น เดินเข้าไปสู่สังคมแบบใหม่ที่เราอยากเจริญตามแบบตะวันตก แต่เราก็ก้าวข้ามความขัดแย้งบางอย่างไปไม่พ้นสักทีไม่ว่าจะผ่านมาเป็นสิบปี เป็นร้อยปี ซึ่งเป็นเรื่องร่วมสมัยที่ปรากฎในวรรณกรรมตะวันออกอีกหลายๆ ประเทศ ถ้าเรารู้จักเปรียบเทียบก็จะสามารถเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างในสังคมไทยได้ รวมถึงเห็นชีวิตเราเองด้วย และเห็นประเทศที่เราอยากจะเห็น หรืออยากจะให้เป็นได้ด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
โฆษณา