Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ยิปซี สำนักพิมพ์
•
ติดตาม
28 ก.ย. 2020 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
สุสานของอเล็กซานเดอร์อยู่ที่ไหน?
ตั้งแต่ 332 ปีก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา อียิปต์โบราณตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวกรีก นำโดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)
พระองค์สถาปนาเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขึ้นเป็นนครหลวง หลังจากนั้นพระองค์ก็ออกเดินทางไปยังตะวันออกเพื่อหวังจะขยายดินแดนต่อไปยังประเทศอินเดีย 323 ปีก่อนคริสตกาล ทว่าพระองค์กลับสิ้นพระชนม์ในขณะที่มีพระชนมายุเพียงแค่ 32 พรรษาเท่านั้น
และนั่นก็ทำให้ความฝันที่จะขยายดินแดนของพระองค์ต้องจบลงไปด้วย
แน่นอนว่ามหาราชผู้ยิ่งใหญ่สิ้นพระชนม์ทั้งที สถานที่พำนักหลังความตายของพระองค์ก็คงต้องสุดแสนอลังการตามไปด้วย ว่าแต่มันอยู่ตรงไหน จะงดงามเพียงใด ครั้งนี้เราจะลองไปสืบค้นหาสุสานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มต้นที่สาเหตุการสิ้นพระชนม์อันเป็นปริศนาของพระองค์กันก่อนเลย ...
1
หนึ่งในสาเหตุการสิ้นพระชนม์ที่ได้รับการเสนอกันในเอกสารทางประวัติศาสตร์ก็คือพระองค์อาจจะถูก 'วางยาพิษ' ซึ่งคาดว่าอาจจะมาจากพืชที่มีชื่อว่า 'เฮลเลบอร์ขาว' (White Hellebore) ที่ขึ้นอยู่อย่างดาษดื่นในมาซิโดเนียอันเป็นดินแดนของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ แพทย์ในสมัยโบราณทราบดีว่ารากของเฮลเลบอร์ในปริมาณน้อยๆ จะมีคุณสมบัติเป็นยาระบาย แต่แน่นอนว่าถ้าใช้ในจำนวนมากๆ ก็จะเป็นยาพิษโดยไม่ต้องสงสัย
สุดท้ายไม่ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษจริงหรือไม่ ศพของพระองค์ถูกขนย้ายออกจากจุดเกิดเหตุ นั่นคือ กรุงบาบิโลน ประเทศอิรัก เพื่อนำไปฝังในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งนักโบราณคดีหลายต่อหลายท่านกำลังพลิกแผ่นดินตามหามันกันจวบจนทุกวันนี้
มีความเป็นไปได้ว่าด้วยพระองค์เป็นกรีก ร่างของพระองค์ก็น่าจะได้รับการฝังเอาไว้ในดินแดนอันเป็นบ้านเกิดของพระองค์ แต่จากบันทึกที่นักประวัติศาสตร์พอจะมีก็ได้บอกเอาไว้ว่า อเล็กซานเดอร์ต้องการให้ฝังร่างไร้วิญญาณของตนเองเอาไว้ที่โอเอซิสซิวา (Siwa Oasis) ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทรายตะวันตกของประเทศอียิปต์ และเป็นที่ตั้งของวิหารเทพพยากรณ์แห่งซุส-อัมมอน(Zeus Ammon Oracle) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่าอเล็กซานเดอร์เป็นโอรสขององค์เทพ
2
อีกทั้งเรายังพบภาพบนเหรียญที่แสดงอเล็กซานเดอร์ประดับศีรษะของพระองค์เองด้วยเขาแกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับเทพเจ้าซุส-อัมมอน ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 อีกด้วย
1
แต่ความปรารถนาของอเล็กซานเดอร์ที่ต้องการฝังร่างของตนเอาไว้ในโอเอซิสซิวาจะเป็นความจริงหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน
2
อีกหนึ่งตำนานกล่าวเอาไว้ว่าเมื่อทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของอเล็กซานเดอร์แล้ว ปโตเลมีที่ 1 โซเตอร์ (Ptolemy I Soter) ก็จัดแจงเดินทางไปยังกรุงดามัสกัส (Damascus) ติดสินบนก้อนโตให้กับฝ่ายซีเรียเพื่อให้ขบวนขนร่างไร้วิญญาณของผู้นำกรีกเบนจุดหมายปลายทางจากมาซิโดเนียมาเป็นอียิปต์
แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เอกสารที่บันทึกถึงการเดินทางของขบวนพระศพนี้ แทบจะไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเลยเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของมัน
สิ่งที่เราได้ข้อมูลชัดเจนมากที่สุดจากบันทึกกลับกลายเป็นความโอ่อ่าอลังการของรถขนศพ (Hearse) ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ถูกบรรยายเอาไว้ชนิดที่ว่าละเอียดยิบจนนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันสามารถจำลองภาพออกมาได้อย่างง่ายดาย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นเรื่องที่คลุมเครือเป็นอย่างมาก เอกสารโบราณส่วนหนึ่งกล่าวว่าพระศพของอเล็กซานเดอร์ได้รับการขนย้ายไปยังนครเมมฟิส (Memphis) ฝังเอาไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนย้ายอีกครั้งในช่วงปลายรัชสมัยของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 1 ไปยัง
อเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมืองหลวงริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อเล็กซานเดอร์ได้สถาปนาเอาไว้เมื่อครั้งเข้าครอบครองอียิปต์
ว่ากันว่าพระศพของอเล็กซานเดอร์ได้รับการฝังอย่างสมเกียรติในโลงศพทองคำ แต่กระนั้นตำแหน่งที่ว่าไปนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่ใช่สถานที่พำนักแห่งสุดท้ายของจอมทัพผู้เกรียงไกรคนนี้อยู่ดี
ในรัชสมัยของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 4 ฟิโลปาเตอร์ (Ptolemy IV Philopater) พระองค์ได้สร้างสุสานขนาดใหญ่สำหรับบรรจุศพของเหล่าบรรพบุรุษในราชวงศ์ปโตเลมี (Mausoleum) ขึ้นที่เซมา (Sema)ในนครอเล็กซานเดรีย เป็นไปได้ว่าที่ตั้งของนครสุสานแห่งนี้จะอยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิมของสุสานอเล็กซานเดอร์ ซึ่งจากตำนานก็ทำให้เราทราบว่าพระศพของพระองค์ถูกขนย้ายมาฝังเอาไว้ที่เซมาแต่ก็ยังไม่วายถูกรบกวนอีกจนได้
ในสมัยฟาโรห์ปโตเลมีที่ 10 (Ptolemy X) พระองค์ขโมยโลงศพทองคำของอเล็กซานเดอร์มาใช้ อีกทั้งยังมีการสับเปลี่ยนโถคาโนปิก (Canopic Jar) สำหรับบรรจุอวัยวะภายในพระศพอีกด้วย
1
หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่กล่าวถึงที่ตั้งพระศพของอเล็กซานเดอร์ในเซมามาจากจักรพรรดิโรมันนามว่าคาราคัลลา (Caracalla) เข้ามาเยี่ยมชมสุสานในช่วงปี ค.ศ. 215 แต่หลังจากนั้นไม่นานในช่วงปี ค.ศ. 273 ก็ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในเมืองอเล็กซานเดรีย
หนึ่งศตวรรษหลังจากนั้นบันทึกของบาทหลวงที่เดินทางเข้าไปยังนครแห่งนี้อีกครั้งก็ได้กล่าวเป็นนัยให้เราทราบว่าตำแหน่งที่แท้จริงของสุสานอเล็กซานเดอร์นั้นได้หายสาบสูญไปเรียบร้อยแล้ว
หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วเราพอจะมีหลักฐานที่บ่งบอกถึงรูปร่างหน้าตาของสุสานแห่งนี้บ้างหรือไม่ คำตอบคือพอมีอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของสุสานแห่งนี้เลย แต่จากบันทึกของสตราโบ (Strabo) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้บันทึกเอาไว้ว่า สุสานของอเล็กซานเดอร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า พระราชวัง (The Palaces) ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่ซับซ้อนแต่ก็งดงาม ประดับประดาไปด้วยสวนหย่อมและสถูปต่างๆ มากมาย ที่ตั้งของมันอยู่ถัดมาจากท่าเรือฝั่งตะวันออกของอเล็กซานเดรียเล็กน้อย นั่นแปลว่าสุสานของอเล็กซานเดอร์อาจจะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเมืองและอยู่ใกล้ทะเลเสียด้วย กระนั้นก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรที่จะระบุตำแหน่งที่ชัดเจนลงไปกว่านี้อีกแล้วได้
1
ถ้าอ้างอิงหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งของนักกวีละตินสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1 ก็จะพบว่ากวีท่านนั้นได้บันทึกเอาไว้ว่าพระศพของอเล็กซานเดอร์ถูกฝังเอาไว้ในห้องใต้ดินปกคลุมด้วยหลังคารูปทรงพีระมิด แต่ก็ยังมิอาจจินตนาการถึงรูปลักษณ์ที่แท้จริงได้จากปากคำเพียงเท่านี้เป็นแน่
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือกวีท่านนั้นบรรยายสุสานของอเล็กซานเดอร์ด้วยคำว่า ทูมิวลัส (Tumulus) ถ้าว่ากันตามสำนวนคำพูดในเอกสารทางโบราณคดีแล้วมันมักจะหมายถึงสุสานวงกลมที่มีเนินดินปกคลุม แต่กระนั้นมันก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ดีว่า ทูมิวลัสที่กวีท่านนั้นเขียนเอาไว้จะเป็นนัยที่บ่งบอกถึงรูปลักษณ์ที่แท้จริงของสุสานเลยหรือไม่ แต่ตอนนี้นักวิชาการส่วนใหญ่กลับเสนอว่ามันน่าจะเป็นเพียงแค่การเลือกใช้คำในบทกวีให้สละสลวยเสียมากกว่า
เป็นที่น่าเสียดายที่เรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ณ เวลานี้ แต่ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 มีการค้นพบโลงศพสีดำลึกลับขนาดใหญ่กลางกรุงอเล็กซานเดรีย ชาวเน็ตต่างก็ฮือฮา และพากันตั้งข้อสมมติฐานกันไปต่างๆ นานา บ้างก็เสนอว่านี่คือโลงศพต้องคำสาป ถ้าเปิดออกแล้วโลกจะมืดมิด ก็ว่ากันไป แต่หนึ่งในสมมติฐานที่ฟังดูไม่หลุดโลกมากเกินไปก็คือบางทีโลงศพนี้อาจจะเป็นของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่สาบสูญก็เป็นได้!
1
แต่หลังจากนั้นไม่นานทางการอียิปต์ก็คลี่คลายทุกข่าวลือด้วยการเปิดโลงศพออกเสียเลย และพบว่าภายในคือโครงกระดูกสามโครงที่เชื่อว่าน่าจะเป็นนักรบ ด้วยว่ากะโหลกของหนึ่งในนั้นมีร่องรอยบาดแผลจากลูกธนู
นอกจากนั้นโครงกระดูกทั้งสามยังนอนแช่ในน้ำเสีย (Sewage water) สีน้ำตาล-แดงจากบ้านเรือนในอเล็กซานเดรียมาพักใหญ่แล้วด้วย นั่นหมายความว่านี่ไม่ใช่โลงศพและโครงกระดูกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์อย่างแน่นอน เพราะผลการตรวจสอบล่าสุดพบว่าสองร่างในนั้นเป็นบุรุษ อีกร่างหนึ่งเป็นสตรี ซึ่งนักอียิปต์โบราณยังไม่ทราบความสัมพันธ์ที่แน่ชัดของทั้งสามร่างนั้นแต่อย่างใด
สุดท้ายสุสานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ยังไม่ถูกค้นพบ พระองค์น่าจะถูกฝังเอาไว้ที่ใดที่หนึ่งในนครอเล็กซานเดรียแห่งนี้ เพียงแค่ว่าบางทีสุสานของพระองค์อาจจะจมอยู่ใต้บ้านเรือนของประชาชนไปแล้วก็เลยทำให้ไม่สามารถทำการขุดค้นได้โดยง่ายนั่นเอง.
เรื่อง : ณัฐพล เดชขจร
ภาพประกอบ : ชุติมณฑน์ ปทาน
13 บันทึก
12
5
13
12
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย