๓๒ รัตนสูตร : ธรรมรัตนะ
๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๗
นโม ...
วนปฺปคุมฺเพ ยถา ...
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาตามที่ทรงตรัสรู้เพื่อปลุกสัตว์โลกซึ่งยังหลับอยู่ให้ตื่นขึ้นโดยแปลได้ความว่า
วนปฺปคุมฺเพ ฯ
ครั้นเมื่อพุ่มไม้ในป่ามียอดอันแย้มแล้วในต้นฤดูร้อนฉันใด
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐให้ถึงซึ่งพระนิพพานอันประเสริฐเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายฉันนั้น
อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ไม้ในป่าเพียงผลัดใบ หาได้ตายไม่ และจะแตกใบใหม่ตรงยอดแต่ในต้นเดือนฤดูร้อน จึงเรียกว่ายอดอันแย้ม หรือฤดูใบไม้ผลิ ครั้นแล้ว ก็จะแตกใบและมีดอกฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันประเสริฐให้ถึงนิพพาน เมื่อเห็นธรรมนั้นก็เหมือนเห็นดอกไม้ที่แย้มออกแล้ว
ธรรมอันประเสริฐที่เกื้อกูลมนุษย์ คือ ธรรมที่ทำให้มนุษย์เป็นอยู่ที่เรียกว่า “มนุษยธรรม”
มนุษยธรรมมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ?
ธรรมนั้นเป็นสัณฐานกลม สีขาวใสเหมือนแก้ว โตเล็กตามส่วนของธรรมนั้น ๆ ถ้าไม่มีธรรมดวงนั้นก็ต้องตาย และต้องคอยหล่อเลี้ยงเหมือนคอยเติมเชื้อไฟให้ถูกส่วนเข้าไปไม่ให้ดับ ธรรมของมนุษย์ต้องคอยให้ข้าวและอาหารอยู่เสมอ
ส่วนธรรมของเทวดาก็เรียก “เทวธรรม” ธรรมต่อไปเป็นชั้น ๆ เป็นพรหมธรรม อรูปพรหมธรรม เป็นต้น
จะได้ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ได้ ต้องบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ ในชาติก่อน เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์จากมนุษย์ จึงได้กลับมาเป็นมนุษย์อีก คือ เป็นกายมนุษย์ละเอียดเข้าไปหยุดนิ่งอยู่ในธรรม ดวงนั้น อาศัยครรภ์โอบอุ้มธรรมนั้น จนออกมาเป็นกายมนุษย์ เมื่อเป็นมนุษย์ ธรรมดวงนั้นก็อยู่กลางตัว ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงไก่ ใสขาวแบบกระจกคันฉ่อง ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่ในกลางดวงธรรมนี้ทั้งนั้น ดวงนี้จึงเป็นเหมือนหีบพระไตรปิฎก ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว อยู่ในนี้เสร็จ ทำบาป บาปก็ติดอยู่กลางดวงนั้น ทำบุญก็ติดอยู่เช่นกัน รวมทั้งเป็นที่อยู่ของดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ดังนั้นถ้าไม่พบธรรมดวงนี้ เอาตัวไม่รอด เมื่อเข้าถึงธรรมนี้ได้ ได้ชื่อว่า เข้าต้นทางพระนิพพาน เหมือนกับเห็น “ดอกไม้ที่แย้มออก” แล้ว นี่คือธรรมอันประเสริฐ ที่กล่าวไว้ในคาถาต้น
เราจึงต้องเอาใจหยุดนิ่ง อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น พอหยุดถูกส่วน ก็เห็นดวงปฐมมรรค จนถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายต่าง ๆ จนถึงกายพระอรหัตละเอียด ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไปไปนิพพานได้ แต่ยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนพระอรหัต เพราะสัตว์โลกนี้มีกามคุณเป็นอารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สวรรค์ ๖ ชั้นก็มีอารมณ์อย่างเดียวกัน เพราะอยู่ในกามภพ
รูปพรหม ๑๖ ชั้น มีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นอารมณ์
อรูปพรหมก็ติดอยู่กับอรูปฌาน แบบถอนไม่ออกจนสุดภพทั้งหมด
ส่วนกายธรรม ถึงอรหัตละเอียด ใจจรดอยู่ที่นิพพานไม่ถอย ละเอียดหนักขึ้นเป็นลำดับ จึงได้กล่าวว่าธรรมนั้นประเสริฐ เกื้อกูลสัตว์ให้ถึงนิพพาน พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย กามภพ รูปภพ อรูปภพ
“พระพุทธเจ้าเกิดมาในโลกมากน้อยเท่าใด ขนรื้อเอาเวไนยสัตว์ให้ไปนิพพาน ไม่ให้เวียนว่ายในกรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ ให้จิตหลุดจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หลุดจากปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน นี้เขาเรียกว่า ไตรวัฏฏ์* หลุดจากไตรวัฏฏ์ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า”
พระพุทธเจ้าจะเกิดมามากน้อยเพียงใด ท่านก็ตั้งใจขนสัตว์ไปนิพพานทุกพระองค์ จึงได้กล่าวว่า วโร วรญฺญู ฯ อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธศาสนา ฯ
วโร แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
วรญฺญู แปลว่า ทรงทราบธรรมอันประเสริฐ
วรโท แปลว่า ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ
วราหโร แปลว่า ทรงนำธรรมอันประเสริฐมา
อนุตฺตโร แปลว่า หาผู้ใดผู้หนึ่งเสมอถึงมิได้
ธมฺมวรํ อเทสยิ แปลว่า ทรงแสดงซึ่งธรรมอันประเสริฐ
พุทฺเธ ปณีตํ แปลว่า นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า นี้ชั้นที่หนึ่ง
พระพุทธเจ้า คือ พระวโร วโร แปลว่า ผู้ประเสริฐ
ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐตรงนี้ (ธรรมที่อยู่ตรงดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์) เมื่อมนุษย์ฟังธรรมก็ต้องเอาใจจรดไว้ตรงดวงธรรม ให้ใจหยุดนิ่ง ถ้าไม่จรดตรงนั้นไม่ถูกรัตนะอันประณีตชั้นที่สอง
ดังที่ทรงสรรเสริญไว้ว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” สุขอื่นนอกจากความหยุดความนิ่งไม่มี
"หยุดตรงนั้นแหละเป็นสุขละ ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทีเดียว แล้วก็ถูกความสรรเสริญของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทีเดียว นี่แหละถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนาละ”
นี่จึงเป็นความอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า เป็นรัตนะอันประณีต
เราจึงอย่าได้ไปติดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ แต่เข้าไปเป็นชั้น ๆ ให้ถึงกายพระอรหัตละเอียด จะได้พ้นจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ถึงวิราคธาตุวิราคธรรม พ้นจากไตรวัฏฏสงสาร มีนิพพานเป็นที่ไป
“เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ก็ประสงค์แง่นี้ แม้พระพุทธเจ้ารุ่นหลังจะมาอีกเท่าไร ก็ประสงค์อย่างนี้แบบเดียวกัน เมื่อรู้จักเช่นนี้แล้ว ก็อุตส่าห์พยายามทำให้เข้าถึงธรรมเหล่านี้ให้ได้ เมื่อเข้าถึงธรรมเหล่านี้แล้ว เราจะได้พ้นทุกข์ออกจากไตรวัฏฏสงสารมีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า”
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๑๑๑ - ๑๑๓
*ไตรวัฏฏ์
คือ วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก
เรียกเต็มว่า
๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ
๓. วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวย เกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้น จึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น
หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรม คือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ; ไตรวัฏ ก็เขียน
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
โฆษณา