27 ก.ย. 2020 เวลา 10:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรื่องจริงอาจารย์ใหญ่ ผู้ให้ที่ไม่สิ้นสุด
เมื่อเอ่ยถึง “อาจารย์ใหญ่” คนส่วนมากคงนึกถึงภาพของศพที่ถูกดองเอาไว้เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษากายวิภาคศาสตร์
ซึ่งไม่แปลกที่หลายคนอาจจะรู้สึกกลัว หากต้องเข้าไปสัมผัสกับร่างของอาจารย์ใหญ่
แต่แท้จริงแล้ว สำหรับนักศึกษาแพทย์นั้น “อาจารย์ใหญ่” ถือเป็นผู้มีพระคุณที่อุทิศร่างกายให้พวกเขาได้ศึกษาและนำความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยต่อไป
เรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างไร และสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้หลายคนได้รู้จักอาจารย์ใหญ่มากขึ้น มาดูกันครับ
เมื่ออยากเป็นอาจารย์ใหญ่
ใครที่ต้องการบริจาคร่างกายการสามารถติดต่อได้ตามสถานพยาบาล ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ หรือคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดรับการบริจาคร่างกาย ในปัจจุบันหลายแห่งก็สามารถบริจาคแบบออนไลน์ได้ด้วย
การบริจาคร่างกายสามารถทำได้ทุกคน โดยผู้ที่จะบริจาคจะต้องมีอายุตั้งแต่ 17 ปี ขึ้นไป และหากอายุต่ำกว่า 20 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
โดยที่การบริจาคแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามวัตถุประสงค์ในการนำร่างกายไปใช้ ได้แก่ บริจาคเพื่อใช้ในการเรียนของนักศึกษาแพทย์ บริจาคเพื่อใช้ฝึกผ่าตัดหรือหัตถการของแพทย์เฉพาะทาง และบริจาคเพื่อเก็บโครงกระดูกไว้ศึกษา
ซึ่งผู้บริจาคสามารถเลือกได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น
เมื่อบริจาคเรียบร้อยแล้วจะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคร่างกายมาเก็บไว้ ที่สำคัญอย่าลืมบอกคนในครอบครัวด้วยครับ
บัตรผู้บริจาคร่างกาย ภาพจาก today.line.me
เริ่มต้นกับหน้าที่อาจารย์ใหญ่
เมื่อผู้บริจาคร่างกายได้เสียชีวิตลง ญาติจะต้องรีบแจ้งไปยังสถานที่ตามบัตรประจำตัวผู้บริจาคภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมกับเตรียมใบมรณบัตรไว้ด้วย
ขั้นตอนเริ่มจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น เช่น เพศ อายุ สาเหตุการตาย หลังจากนั้นก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาเพื่อฉีดน้ำยารักษาศพแบบพิเศษที่จะไม่ทำให้ร่างแข็งตัว
จากนั้นญาติสามารถนำไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ไม่เกิน 5 วัน แต่ต้องให้ร่างอยู่ในท่านอนราบและห้ามมัดตราสังข์
เมื่อประกอบพิธีศพเสร็จเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ก็จะมารับร่างเพื่อนำไปดำเนินการต่อ
คุณสมบัติอาจารย์ใหญ่
ผู้ที่บริจาคร่างกายอาจจะไม่ได้เป็นอาจารย์ใหญ่กันทุกท่าน
เพราะว่าร่างที่บริจาคเพื่อการศึกษานั้นจะต้องมีความสมบูรณ์ มีอวัยวะครบถ้วน และต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม
หากผู้บริจาคเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อร้ายแรง มีร่องรอยการผ่าตัดบริเวณศีรษะและสมอง เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ หรือมีคดีความที่ต้องผ่าพิสูจน์ศพ หน่วยงานที่รับบริจาคสามารถปฏิเสธในการรับร่างผู้บริจาคได้
ถึงแม้ว่าบางท่านอาจไม่มีโอกาสได้เป็นอาจารย์ใหญ่ เพียงแค่เจตนารมย์ที่ได้บริจาคร่างกายก็ถือว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่แล้วครับ
เส้นทางการเป็นอาจารย์ใหญ่
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับร่างของผู้บริจาคมาแล้ว จะมีการทำความสะอาด ตัดผมให้สั้น และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาร่าง
โดยจะฉีดน้ำยาเข้าทางเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขา หลังจากนั้นนำร่างไปแช่ในถังน้ำยาเป็นเวลา 6 -12 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสภาพน้ำยาอย่างสม่ำเสมอ
จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาต้องใช้ศึกษาก็จะยกร่างอาจารย์ใหญ่ขึ้นจากถังแช่น้ำยามาทำความสะอาดและจัดส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ
ภาพจาก empire-sci
อาจารย์ใหญ่มีหลายแบบ
หลายคนน่าจะคุ้ยเคยกับภาพของอาจารย์ใหญ่ที่อยู่บนโต๊ะเรียนในห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ตามที่ได้เห็นจากสื่อต่างๆ
แต่ที่จริงแล้วอาจารย์ใหญ่มีด้วยกัน 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 แบบดั้งเดิม
เป็นกรรมวิธีที่ใช้รักษาร่างโดยการฉีดและแช่น้ำยาฟอร์มาลีน สภาพร่างจะค่อนข้างแข็ง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถงอได้ แต่ข้อดีก็คือสามารถเก็บร่างไว้ใช้ได้นานและประหยัดค่าใช้จ่าย
 
แบบที่ 2 แบบนุ่ม
เมื่อได้รับร่างแล้วก็จะนำมาฉีดน้ำยาพิเศษแล้วก็นำไปแช่ไว้ในน้ำยาประมาณ 3 เดือน วิธีนี้เมื่อนำร่างออกมาใช้ศึกษาแล้วก็ยังสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 2 ปี
แบบที่ 3 แบบแช่แข็ง
เมื่อได้ร่างอาจารย์ใหญ่มาแล้วก็จะทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและซี หากได้ผลเป็นลบก็จะนำร่างไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เมื่อต้องการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ก็จะนำมาทำการละลายเป็นเวลา 3 วัน ร่างกายและเลือดที่แข็งตัวจากความเย็นจัดก็จะกลับมาเป็นเหมือนครั้งที่ยังมีชีวิต
อาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งจะมีลักษณะเหมือนมนุษย์มากที่สุด แต่ข้อจำกัดของวิธีการนี้ก็คือเมื่อนำร่างออกมาใช้ครั้งแรกแล้วสามารถใช้ได้เพียง 3 เดือน เท่านั้น เนื่องจากไม่มีการฉีดน้ำยารักษาร่างจึงทำให้ร่างเสียได้ง่าย
ซึ่งอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มและแบบแช่แข็งจะใช้เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัดหรือฝึกทำหัตถการชั้นสูง
นอกจากนี้ ผู้บริจาคที่ต้องใช้ร่างเป็นอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มและแบบแช่แข็ง หลังจากที่เสียชีวิตแล้วต้องรีบนำมาเข้าสู่กระบวนการรักษาร่างโดยเร็ว การประกอบพิธีศพญาติสามารถนำไปได้เพียงผมและเล็บเท่านั้น
ทำไมถึงเรียกว่า “อาจารย์ใหญ่”
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่ามาจากทางคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาที่เริ่มเรียกศพที่ใช้เพื่อการศึกษาว่า “อาจารย์ใหญ่” เป็นแห่งแรก หลังจากนั้นจึงมีการใช้เรียกกันต่อๆ กันมา
อาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน นักศึกษา 4 คน
ในห้องเรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์ (Gross Anatomy) ร่างของอาจารย์ใหญ่หนึ่งท่านจะให้นักศึกษาแพทย์ใช้ในการศึกษาจำนวน 4 คน
ในการเรียนจะเริ่มตั้งแต่ผิวหนังด้านนอก ค่อยๆ ลงลึกเข้าไปในระบบต่างๆ ของร่างกาย และจบลงด้วย สมอง ไขสันหลัง และหูชั้นใน
โดยนักศึกษาแพทย์ต้องศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่ทั้ง 2 เพศ เพื่อให้รู้ถึงความแตกต่าง
โดยในห้องเรียนจะจัดเรียงอาจารย์ใหญ่แต่ละโต๊ะเรียนแบบสลับเพศ
และตลอดปีการศึกษานี้ต้องคอยทาน้ำยาเพื่อไม่ให้ร่างอาจารย์ใหญ่แห้งหรือเกิดเชื้อรา
ภาพจาก Wongkarnpat
อาจารย์ใหญ่วิชากระดูก
อาจารย์ใหญ่ที่ใช้สำหรับศึกษาเรื่องกระดูกนั้นไม่ต้องผ่านกระบวนการรักษาร่าง แต่จะนำร่างไปทำการตัดเนื้อและเส้นเอ็นออกจากกระดูกก่อน
จากนั้นนำไปฝังทรายประมาณ 2 เดือน เพื่อให้กระดูกเกลี้ยง แล้วจึงนำมาทำความสะอาดและร้อยกลับเป็นโครงกระดูกจึงสามารถนำไปใช้ศึกษาได้
ผู้บริจาคที่จะเป็นอาจารย์ใหญ่เรื่องกระดูกได้ ตอนเสียชีวิตต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี เพราะว่าหลังนี้กระดูกจะเริ่มเสื่อมไปตามวัยของผู้บริจาค
ภาพจาก mgronline
ได้รับพระราชทานเพลิงศพ
เมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษาของทุกๆ ปี ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ของแต่ละสถาบันจะร่วมกับนักศึกษาแพทย์เป็นเจ้าภาพจัดงานพระราชทานเพลิงศพให้กับอาจารย์ใหญ่ทุกท่าน
โดยจะส่งจดหมายถึงญาติของผู้บริจาค เพื่อแจ้ง วัน เวลา และสถานที่ทำบุญอาจารย์ใหญ่ พร้อมทั้งรวบรวมประวัติอาจารย์ใหญ่เพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์ด้วย
แต่ถ้าญาติของอาจารย์ใหญ่ประสงค์ที่จะนำร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเองก็สามารถทำได้
ภาพจาก Wongkarnpat
อาจารย์ใหญ่ในสมัยก่อน
ย้อนไปในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในชื่อ “โรงเรียนแพทยากร” (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) การเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ในสมัยนั้นจะเรียนด้วยหุ่นจำลอง
ต่อมาเมื่อโรงพยาบาลมีศพของผู้ป่วยที่ญาติไม่รับกลับ ทางโรงเรียนจึงได้ขอไว้เพื่อใช้ศึกษา
แต่สมัยนั้นยังไม่มีกรรมวิธีรักษาศพจึงต้องผ่ากันแบบสดๆ นักศึกษาต้องหยุดเรียนทุกวิชาเพื่อมาเรียนวิชากายวิภาคและต้องเรียนให้มากที่สุดจนกว่าศพจะเน่า
หลังจากนั้นจึงมีการคิดค้นน้ำยารักษาศพขึ้นและพัฒนาจนกระทั่งได้สูตรที่เหมาะสม ทำให้เราได้มีร่างอาจารย์ใหญ่ที่ใช้เรียนกันในปัจจุบัน
ภาพจาก Brokemedstudentblog
อาจารย์ใหญ่ท่านแรกของประเทศไทย
จากยุคสมัยที่การเรียนกายวิภาคต้องผ่ากันแบบสดๆ นั้น ต่อมาได้เริ่มมีการบริจาคร่างกายขึ้น
ซึ่งผู้บริจาคร่างกายคนแรกคือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 และในวาระสุดท้ายท่านได้อุทิศร่างกายของตัวเองเพื่อการศึกษาทางการแพทย์
พร้อมคำพูดที่ว่า “ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป”
และประโยคนี้ได้เขียนติดไว้ที่ตู้โครงกระดูกของท่านในพิพิธภัณฑ์กายวิภาค คองดอน
พระยาอุปกิตศิลปสาร ภาพจาก Wikipedia
เคยมีอาจารย์หมอกล่าวไว้ว่า "อาจารย์ใหญ่เปรียบเสมือนตำราเล่มใหญ่ที่ทำให้นักศึกษาแพทย์เห็นรายละเอียดในร่างกายมนุษย์อย่างชัดเจน รวมทั้งยังได้สัมผัสกับความรู้สึกหลังจากที่กรีดมีดลงไปบนผิวหนังมนุษย์ของจริงที่มีความยืดหยุ่น ไม่ใช่เป็นเพียงรูปปั้นหรือคอมพิวเตอร์กราฟิก"
"อาจารย์ใหญ่จึงทำให้รู้ว่าอวัยวะอยู่บริเวณตำแหน่งใด มีความลึกลงจากผิวหนังเท่าไหร่ รวมไปถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใดๆ ก็ไม่สามารถนำมาทดแทนอาจารย์ใหญ่ได้"
โฆษณา