1.
พูดถึงคำว่า spirit เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึง วิญญาน
แต่บางครั้งในภาษาไทยเราก็ใช้คำนี้ทับศัพท์ไปเลยและมีความหมายกว้างๆทำนองว่าการมีน้ำใจ เช่น สปิริตนักกีฬา อาจจะหมายถึงการเสียสละเพื่อหมู่คณะ หรือถ้าพูดถึงสปิริตขององค์กรก็อาจจะหมายถึงจิตวิญญานขององค์กร
.
.
คำว่า spirit อีกความหมายที่น่าสนใจคือการหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอลบางชนิด เช่น บรั่นดี วิสกี้ รัม ยิน และวอดก้า
.
คำถามที่น่าสนใจคือ spirit ที่ความหมายแตกต่างเหล่านี้เป็นคำเดียวกันหรือไม่?
มีรากที่มาเกี่ยวข้องกันหรือไม่?
.
จะตอบคำถามนี้ได้เราก็คงต้องย้อนเวลากลับไปหาที่มาของคำว่าสปิริตกันครับ
.
.
.
2.
คำว่า spirit มีใช้ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ประมาณกลางๆศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 500-600 ปีมาแล้ว
ความหมายแรกสุดของคำว่า spirit เมื่อพบในภาษาอังกฤษจะมีความหมายว่า วิญญาน โดยคำนี้ภาษาอังกฤษรับมาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า espirit อีกที
.
.
ส่วนคำนี้ในภาษาฝรั่งเศสก็วิวัฒนาการมาจากคำในภาษาลาตินว่า spiritus
.
ที่น่าสนใจคือคำว่า spiritus คำนี้ไม่ได้แปลว่าวิญญานตรงๆ แต่จะมีความหมายว่าลมหายใจ
.
.
จุดที่น่าสังเกตคือ คำโบราณในหลายภาษา คำที่แปลว่าลมหายใจหลายครั้งจะมีความหมายว่าชีวิตร่วมไปด้วย ซึ่งคิดดูแล้วก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะในอดีตสมัยที่คนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายมากนัก ไม่รู้ว่าร่างกายต้องหายใจไปเพื่ออะไร ลมหายใจจะเทียบเท่ากับชีวิต ถ้าหยุดหายใจก็คือไร้ชีวิต
.
ภาษาลาตินก็เช่นเดียวกัน คำว่า spiritus นอกจากจะแปลว่าลมหายใจแล้ว ยังแปลว่าชีวิตได้อีกด้วย
.
คำว่า spiritus ที่แปลว่า ลมหายใจยังเป็นรากที่มาของคำว่า inspire (อินสปาย) คือหายใจเข้า และ expire (เอ็กซ์ปาย) คือ หายใจออก
.
ถ้าเติม re ที่แปลว่า ทำซ้ำหรืออีกรอบ ไว้ด้านหน้าก็จะได้คำว่า respiration (เรสไปเรชั่น) ที่แปลว่าการหายใจ เพราะมันคือการหายใจเข้าและออกแล้วเข้าและออก ซ้ำไปเรื่อยๆ
ถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าอีกเลยก็ถือว่า expired ที่แปลว่าตาย หรือ สิ้นสุด เช่น expiration date หรือวันหมดอายุ
.
.
ส่วนคำว่า inspiration ที่หมายถึงแรงบันดาลใจก็มาจากความหมายตามรูปศัพท์คือ เป่าลมเข้าไป ในที่นี้จะหมายถึง เทพเจ้าเป่าลมเข้าสู่เรา แล้วทำให้ไฟที่กำลังมอดลุกโชนขึ้น
คำว่า aspire (แอสปาย) ที่แปลว่าอยากได้มาก ต้องการมาก มาจากการเติม ad ที่แปลว่า “ไปถึง” หรือ “ไปสู่” เข้าไปด้านหน้า ทำให้แปลว่าหายใจเข้าออกเป็นสิ่งนั้น
ถ้า aspiration จะหมายถึงความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยานอยากได้ (ความหมายเป็นไปในทางบวก)
.
.
แต่ถ้าทางการแพทย์ คำนี้จะหมายถึง สำลักอาหาร (เพราะหายใจเอาอาหารเข้าไปในหลอดลม) แต่ถ้าภาษาทั่วไปคำว่า สำลัก จะนิยมใช้คำว่า choke (โช๊ค) มากกว่า
คำว่า perspiration ที่แปลว่าเหงื่อ มาจากการเติมคำว่า per ที่แปลว่า ผ่านหรือทะลุไปข้างหน้า ทำให้แปลว่า การหายใจผ่านทะลุ เพราะเดิมเคยเข้าใจว่า ความชื้นหรือไอน้ำที่ไหลผ่านทะลุผิวหนังออกไปจากร่างกายเป็นการหายใจแบบหนึ่ง
.
.
คำว่า conspire หมายถึงการสมคบคิด วางแผนร่วมกัน มาจากคำว่า con ที่แปลว่าด้วยกันหรือร่วมกัน + spirare ในภาษาลาตินที่แปลว่าหายใจ เชื่อว่าความหมายนี้อาจจะเริ่มมาจากเครื่องดนตรีพวกเครื่องเป่า ที่เป่าให้เสียงพ้องกัน เข้ากัน ความหมายดั้งเดิมจึงหมายถึง การเป่าพร้อมๆกัน
.
.
ต่อมาคำนี้ถูกนำไปใช้เปรียบเทียบในบริบทอื่น จึงนำมาสู่ความหมายว่าสมคบคิดกัน จากนั้นก็ไปสู่คำใหม่อีกคำว่า conspiration theory หรือทฤษฎีสมคบคิด คำนี้จะหมายถึงทฤษฎีหรือเรื่องเล่าของกลุ่มคน ที่ออกมาในลักษณะเอาเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันมาโยงกันแล้วเชื่อว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน ประมาณว่ากลุ่มคนมานั่งมโนพร้อมๆกับจับเรื่องนู้นมายำปนกับเรื่องนี้มั่วซั่วไปหมด
.
.
จากความหมายว่าวิญญานของคนหรือสัตว์ ความหมายว่าสปิริตอีกนัยหนึ่งจึงเกิดขึ้น คือความหมายที่แปลว่า แก่นแท้ของสิ่งมีชีวิต (รูปกายภาพนอกเป็นของปลอม จิตวิญญานคือตัวตนจริงๆของเขา)
.
.
ต่อมาในศตวรรษที่ 15 spirit ในความหมายว่าแก่นแท้ นี้ก็ขยายออกไปสู่สิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ เช่น สปิริตขององค์กร สปิริตของสถาบันการศึกษา ซึ่งการใช้ spirit ในแง่นี้จะหมายถึง ความเชื่อหรือวิสัยทัศน์ที่เป็นแก่นขององค์กรนั้นๆ
.
.
สรุปโดยรวมจากคำต่างๆที่คุยมานะครับ จะเห็นว่าความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับคำว่า spirit ทั้งหลายจะมีความหมายออกไปทางเดียวกัน คือ จะบ่งถึงจิตวิญญาน แก่นแท้ ชีวิต
.
อย่างไรก็ตามความหมายเหล่านี้ก็ยังไม่อธิบายว่าทำไมเครื่องดื่มมึนเมาหลายๆชนิดจึงถูกเรียกว่า spirit ?
.
.
.
3.
คำอธิบายของสปิริตที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลนั้นเริ่มต้นมาจากวงการของการเล่นแร่แปรธาตุ หรือ alchemy (อัลคีมี่) ครับ (คำว่า alchemy เป็นที่มาของคำว่า chemistry หรือวิชาเคมี)
.
ไอเดียพื้นฐานของการเล่นแร่แปรธาตุคือการพยายามจะเปลี่ยนโลหะจากโลหะที่มีราคาถูกไปเป็นโลหะที่มีราคาแพงหรือเป็นทอง
.
นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของการพยายามจะผลิตน้ำอมฤตที่กินแล้วทำให้ผู้ดื่มไม่แก่ไม่ตาย การเล่นแร่แปรธาตุจึงมีเรื่องของการเอาสารนี้ไปผสมกับสารนั้น เอาสารไปเผาไฟบ้าง เอาไปต้มบ้าง หรือต้มเพื่อให้เกิดไอระเหย แล้วควบแน่นสารระเหยออกมาเป็นของเหลวอีกรอบ
.
.
ในวงการของนักเล่นแร่แปรธาตุ เขาจะเรียกไอระเหยหรือควันที่ออกมาจากการต้มหรือเผาว่า ... ใช่ครับ เขาเรียกมันว่า spirit
.
ที่นักเล่นแร่แปรธาตุเรียกไอระเหยที่ออกมาว่า spirit นั้น เพราะเชื่อกันว่าสิ่งที่เป็นไอระเหยลอยขึ้นมานั้น คือแก่นแท้ของสิ่งนั้น (อารมณ์เดียวกับวิญญานลอยหลุดออกจากร่าง)
.
.
เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล แต่ดั้งเดิมมนุษย์ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลด้วยการหมัก อาจจะเป็นนำผลไม้หรือธัญพืชชนิดต่างๆ มาหมักร่วมกับยีสต์ เมื่อยีสต์กินน้ำตาลในผลไม้หรือธัญพืชมันก็จะปล่อยของเสีย (จะมองว่ายีสต์ฉี่ออกมาก็ได้) คือแอลกอฮอลออกมา
.
เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การหมักหรือ fermentation แต่การหมักทั่วๆไปเมื่อแอลกอฮอลเข้มข้นถึงจุดหนึ่งคือ คือประมาณ 20% ยีสต์จะทนแอลกอฮอลไม่ไหวแล้วตายไป กระบวนการหมักก็จะหยุดลง
.
เครื่องดื่มแอลกอฮอลที่ได้จากการหมักเช่นนี้ได้แก่ ไวน์ เบียร์ กระแช่ น้ำตาลเมา สาเก เป็นต้น
.
.
ต่อมามนุษย์ก็ค้นพบว่าถ้านำเครื่องดื่มแอลกอฮอลที่ได้จากการหมักไปต้ม แอลกอฮอลซึ่งมีจุดเดือดต่ำกว่าน้ำก็จะระเหยออกมาเป็นสัดส่วนที่มากกว่าน้ำ เมื่อเราควบแน่นไอน้ำที่ลอยออกมากลับมาเป็นของเหลวอีกครั้ง เราก็จะได้เครื่องดื่มแอลกอฮอลที่มีเปอร์เซนต์แอลกอฮอลมากกว่า 20% ได้ ไอระเหยที่ลอยขึ้นมาระหว่างการต้มนั้นก็คือ สปิริต
.
.
ดังนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอลที่ได้มาจากการต้มกลั่น
จึงถูกเรียกว่าสปิริต
.
เครื่องดื่มที่จัดอยู่ในพวกสปิริตก็ได้แก่ บรั่นดีซึ่งได้มาจากการนำไวน์ไปต้ม วิสกี้ก็มาจากการกลั่นเบียร์ (เครื่องดื่มที่ได้จากการหมักพวกธัญพืช) เป็นต้น
.
.
แล้วด้วยเหตุนี้เอง คำว่า spirit ที่เริ่มต้นจากความหมายว่า ลมหายใจ หรือชีวิต จึงค่อยๆวิวัฒนาการมาจนมาใช้เรียก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้