24 ก.ย. 2020 เวลา 06:16 • สุขภาพ
เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โควิด-19 ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้านของผู้คนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากเราจะเปรียบเทียบผลกระทบของโควิด-19 กับมนุษยชาติ มันอาจเทียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้วิถีชีวิตแบบกสิกรรมที่ชาวบ้านทำงานในไร่นา ทำงานติดที่ดิน เปลี่ยนรูปแบบมาที่ผู้คนอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้างตามโรงงานต่าง ๆ
วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ และ สังคมที่เราเป็นอยู่ก่อนการระบาดของโควิดเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนั้น เราเคยชินกับการต้องตื่นเช้า แต่งตัวขับรถ หรือ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะออกจากบ้านไปทำงาน ตอกบัตรเข้างาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในบางโอกาสเราเดินทางโดยเครื่องบิน/ รถไฟ เพื่อการทำงานหรือไปท่องเที่ยวพักผ่อน กิจการโรงแรมและที่พักอาศัยเติบโตเพื่อรองรับกิจกรรมเหล่านี้
การระบาดของโควิดจนทำให้เกิดการประกาศ “ล็อคดาวน์” มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อห่วงโซ่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างยากที่ใครจะเคยจินตนาการถึง
จากบทความเรื่อง Remote Work Is Killing the Hidden Trillion-Dollar Office Economy ของ Steve LeVine ที่ลงใน Marker (บล็อคบทความทางธุรกิจของ Medium) เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปีนี้ ได้บอกเล่าถึงผลกระทบของการล็อคดาวน์ ต่อ ภาคธุรกิจของอเมริกาได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนจะขอนำมาสรุปเล่าให้เพื่อนๆฟังกันดังต่อไปนี้
ในช่วง 5 เดือนแรกของการประกาศล็อคดาวน์ของอเมริกา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจร้านค้าที่มีหน้าร้าน เช่น โชห่วย Retail Stores บาร์ ร้านอาหาร แต่ Steve ชี้ให้เห็นว่านักวิเคราะห์มองข้ามผลกระทบใหญ่ของการล็อคดาวน์ที่มีต่อภาคธุรกิจโดยรวม ซึ่งถือเป็น GDP ก้อนใหญ่ มูลค่าหลายล้านล้านดอลล่าร์ สิ่งนั้นก็คือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพนักงานออฟฟิศ
การที่บริษัทตามเมืองใหญ่ทั่วอเมริกาต้องเลื่อนการเปิดออฟฟิศออกไปเนื่องจากการขยายการล็อคดาวน์ ทำให้ย่านธุรกิจที่เคยคึกคัก มีสภาพเป็นเมืองร้าง ตึกระฟ้า ออฟฟิศคอมเพล็กซ์ว่างเปล่าเนื่องจากนโยบาย Work from Home ได้มีการประมาณกันว่าจำนวนพนักงานที่หายไปเพราะนโยบายนี้สูงถึง 100 ล้านคน
เมื่อไร้ซึ่งพนักงานออฟฟิศ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านซ่อมโรงเท้า ร้านซักรีด ยิม รถเข็นขายอาหาร ตลอดจนธุรกิจขนาดใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า Brooks Brother และ J. Crew สองบริษัทผลิตเสื้อผ้าชั้นนำ ได้ประกาศล้มละลาย Starbucks ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสที่ 2 ลดลง $ 2 พันล้านดอลล่าร์ เมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างหนักกับธุรกิจสายการบิน รายได้จากการเดินทางเพื่อธุรกิจถือเป็น 60 % - 70 % ของรายได้ของสายการบิน เมื่อเกิดการล็อคดาวน์ภาคธุรกิจหันไปใช้แอฟพริเคชั่น Zoom ในการประชุมแทนที่การเดินทางไปประชุมที่บริษัทแม่ สิ่งนี้ทำให้สายการบินสูญเสียรายได้ก้อนมหึมา นักวิเคราะห์คาดการว่าการหยุดการเดินทางเพื่อธุรกิจคงดำเนินต่อไป 2-3 ปี
ยิ่งไปกว่านั้นการ Work from Home ก็เริ่มได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำของอเมริกา สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง JP Morgan Chase, Ford Motor, Twitter, และ REI (บริษัทผลิตอุปกรณ์ เดินป่า แคมส์ปิ้ง) ประกาศถึงแผนการ Work from Home อย่างถาวรในอนาคต โควิด-19 ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ได้เห็นว่าการ Work from Home สามารถเป็นไปได้ และในบางกรณีอาจทำให้การทำงานได้ผลดีกว่าการให้พนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก
Steve ยังได้อ้างถึง การวิเคราะห์ของ นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT - David Autor ซึ่งเค้าได้กล่าวไว้ว่า การระบาดครั้งนี้ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่หันไปใช้การทำงานแบบทางไกล หรือ Work from Home ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลให้พนักงานในธุรกิจที่มีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ต้องตกงาน! ธุรกิจนั้นได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร การขนส่ง เครื่องนุ่งห่ม และ ธุรกิจบันเทิง
การแพร่หลายของแอฟฯ Zoom ทำให้ธุรกิจสายการบินและโรงแรมกระอักเลือด การเดินทางทางธุรกิจลดลง 97% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อเมริกันแอร์ไลน์ประกาศว่าจะลดการบินลงเหลือเพียง 55% และมีแผนที่จะปลดคนงานออก 19,000 คน สายการบินเดลต้าประกาศจะปลดนักบิน 1,941 คน ถ้าบริษัทยังไม่สามารถทำเงินได้ และ สายการบินเวอร์จิ้น แอตแลนติกก็เพิ่งประกาศล้มละลายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินได้คาดการณ์ว่าการที่ออฟฟิศจะหันไปนิยมใช้การประชุมทางไกลด้วยแอฟฯ Zoom แทนที่การประชุมที่ออฟฟิศจริง น่าจะทำให้ธุรกิจการบินสูญเสียลูกค้าในกลุ่มนี้ไปอย่างถาวร
นอกจากธุรกิจสายการบินธุรกิจโรงแรมก็อ่วมพอๆกัน โรงแรมไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งทำให้ยอดหนี้ค้างชำระสูงถึง $ 20.6 พันล้านดอลล่าร์ เทียบกับยอดก่อนหน้าการระบาดของโควิดที่มียอดค้างชำระหนี้เพียง $ 1.15 พันล้านดอลล่าร์
เมื่อเดือนที่แล้ว American Hotel and Lodging Association ทำหนังสือถึงสภาคองเกรส ร้องขอการพักชำระหนี้ Marriott ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมโรงแรม ประกาศยอดขาดทุนที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในไตรมาสที่ 2 และ บริษัท MGM รีสอร์ทได้ปลดคนงานออกถึง 18,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขถึง 1 ใน 4 ของจำนวนคนงานก่อนการระบาดของโควิด
โควิดยังส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ของสหรัฐ เมื่อพนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ความจำเป็นที่จะต้องพักอาศัยในเมืองใหญ่ที่มีค่าเช่าแพง เช่น New York หรือ San Francisco ก็หมดไป คนเหล่านี้อพยพออกไปอาศัยยังที่ ๆ มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เช่น Carolina, Georgia, Florida อพาร์ทเม้นท์ใน Manhattan ว่างเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดผู้เช่าลดลง 6.1 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดใน 9 ปี ใน San Francisco ยอดผู้เช่าก็ตกลงถึง 11 % เทียบกับปีที่แล้ว
เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามเมืองใหญ่ลดลงก็ส่งผลให้รายได้ซึ่งมาจากภาษีของเมืองเหล่านี้ลดลงด้วยตามลำดับ จากข้อมูลของ National League of Cities คาดว่ารายได้ของเมืองใหญ่จะลดลง 13 % ในปีหน้า ยกตัวอย่าง เช่น Houston ในรัฐ Texas รายได้จาก Sale Tax ลดลง 13 % ในเดือนพฤษภาคม, 17 % ในเดือนเมษายน, และ 10 % ในเดือนมีนาคม สิ่งนี้คือปัญหาใหญ่ที่รัฐทั้ง 50 รัฐ ของสหรัฐกำลังเผชิญอยู่
Steve ยังกล่าวไว้ในตอนท้ายว่าอย่างไรก็ตามสภาพเศรษฐกิจก็จะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินและโรงแรมน่าจะต้องหดตัวลง ปิดกิจการ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการแบบใหม่ และเนื่องจากคนหันไป Work from Home สิ่งนี้น่าจะทำให้ราคาค่าเช่าสำนักงาน และที่พักอาศัยตามเมืองธุรกิจที่สำคัญ เช่น New York หรือ San Francisco มีราคาที่ถูกลง เปิดโอกาสให้นักธุรกิจ และ พนักงานออฟฟิศที่มีรายได้ปานกลางสามารถเข้าไปอยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ได้ ส่วนธุรกิจที่อาศัยพนักงานออฟฟิศเป็นหลัก เช่น บาร์ ร้านอาหาร ร้านซักแห้ง อาจจะต้องปิดตัวลงไปถาวร แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีธุรกิจที่มีฐานลูกค้าอื่นเข้ามาแทนที่ แม้โควิดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อธุรกิจโดยรวม อย่างไรก็ตามธุรกิจที่เหลืออยู่ก็ต้องมีการปรับตัวและดำเนินต่อไป
จากมุมมองของผู้เขียนแม้ประเทศไทยแลนด์แดนสยามของเราจะโชคดีที่ไม่ได้มีการล็อคดาวน์ในประเทศ แต่เราก็ล็อคดาวน์ประเทศตัวเองตัดขาดจากโลกภายนอก วันนี้มีข่าวว่าผู้นำธุรกิจโรงแรมได้ประกาศว่าจะมีการปลดพนักงานอีก 1 ล้านคน พร้อมขอให้รัฐช่วยอนุมัติ Soft Loan เพื่อช่วยพยุงอาการของธุรกิจโรงแรม นี่อาจจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของคลื่นมหันตภัยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กำลังจะตามมา แต่อย่างไรก็ตามตราบที่ชีวิตยังไม่สิ้น เราก็ต้องดิ้นรนกันไป ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เราคงต้องใช้สติควบคุมอาการตื่นตระหนก และปรับตัวให้ก้าวทันกับสถานะการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆทุก ๆ คนฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปด้วยกันนะคะ สู้เค้า!ไอ้มดแดง!
แหล่งข้อมูล
จากบทความเรื่อง Remote Work Is Killing the Hidden Trillion-Dollar Office Economy ของ Steve LeVine ที่ลงใน Marker (บล็อคบทความทางธุรกิจของ Medium) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2020
Time Square, New York
โฆษณา