24 ก.ย. 2020 เวลา 12:02 • สิ่งแวดล้อม
G i b b o n S u r v e y
สำรวจประชากรชะนีมือขาว
สถานที่ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
(หน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปรียง)
ถ้ามีคำถามว่าชะนีร้องอย่างไร?
แน่นอนเกือบร้อยเปอร์เซ็นของคำตอบคงตอบว่า “ผัว- ผัว” เพราะเหตุนี้ “ชะนี” จึงได้กลายมาเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกผู้หญิงนั่นเอง 😂 เอ๊า!!แต่ไม่ใช่แค่ชะนีตัวเมียที่ร้องเป็นนะตัวผู้เค้าก็ร้องเหมือนกัน 🤣
การเข้าป่าครั้งนี้คืออาสามาเป็นอาสาสมัครช่วยเจ้าหน้าที่ที่เขานางรำ และ WCS สำรวจประชากรชะนีที่ห้วยขาแข้ง ทำให้ได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว ชะนี ไม่ได้ร้อง “ผัว-ผัว” อย่างที่เราเข้าใจมาตลอด เสียงตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกันอยู่ จังหวะในการร้องมีหลายเมโลดี้ และมีเสียงหลายความถี่ การที่ชะนีร้อง ก็เพื่อบอกความต้องการของตัวเองให้ตัวอื่นๆ ในฝูง และนอกฝูงรู้ เช่น เจออาหารอร่อย ประกาศหาคู่ ประกาศอาณาเขต และเสียงที่ใช้ประกาศอาณาเขตนี่แหละมักจะเป็นเสียงร้องคู่ประสานกันระหว่างผัวเมีย
อย่างที่บอกเสียงชะนีจะมีหลายเมโลดี้ มีหลายโน๊ต เค้าจะเอาโน๊ตต่างๆ มาต่อเป็นเสียงร้อง ซึ่งแต่ละฝูงโทนเสียง หรือความถี่ของเสียงจะแตกต่างกันออกไป (เค้าว่าแบบนั้นนะ แต่เรานี่แยกไม่ออก แค่แยกว่าตัวผู้ตัวเมียได้ก็ดีแระ 😅)
หน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียง
เสียงพื้นฐานหลักๆ จะมีประมาณนี้
เสียงที่ 1 จะออกเสียง “วา-วา” แต่ออกเสียงสั้นๆ หัดร้องไปร้องมาจะคล้ายๆ วะ-วะ ไปซะงั้น 🤭
เสียงที่ 2 สูงขึ้นอีกนิดนึง “ว๊า-ว๊า” ออกเสียงสั้นๆ นะจ๊ะ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็น ว๊ายยยย แทน 😅
เสียที่ 3 เสียง “ฮุ-ฮุ” .. นี่ก็พยายามทำปากจู๊ๆ แล้วออกเสียงในกระพุ๊งแก้ม 😯
เสียงที่ 4 จะออก “วาว-วาว” แต่ต้องลากยาวๆ และทำเสียงสูงๆหน่อย ฟังไปฟังมา มันจะคล้ายๆ “ว๊าววววว” 😮
โน๊ตแต่ละตัวที่แหละ ที่มาประกอบเป็นเมโลดี้ เราจะแยกเป็นทำนองต่างๆ ได้ประมาณนี้
1. Introductory hoot (IH)
2. Male solo (MS)
3. Female great call (GC)
4. Duet (D)
ทีนี้กลับมาเรื่องการสำรวจประชากรชะนีต่อ สิ่งที่ทีมวิจัยสนใจก็คือเสียงร้องประสานเสียง (Duet) และเสียงของชะนีตัวเมีย (Female great call) ทำไมจึงสนใจแค่เฉพาะ 2 เสียงนี้ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการสำรวจจำนวนครอบครัว หรือจำนวนฝูงของชะนีนั่นเอง ถ้าเป็นเสียง IH หรือ MS เดี่ยวๆ อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นแค่ชะนีที่แยกฝูงออกมา หรือเป็นชะนีวัยรุ่นที่ถูกไล่ออกมาเพื่อหาคู่สร้างครอบครัวของตัวเองใหม่
เจ้าหน้าที่ประชุมวางแผน แบ่งทีม ประจำจุดสำรวจ
วิธีการสำรวจก็คือ แบ่งทีมงานออกเป็น 4 จุด วางจุดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ทีมสำรวจต้องไปให้ถึงจุดแต่เช้า ช่วงเวลาที่เราทำการสำรวจก็คือ 7.00-12.00 น. เพราะชะนีเค้าตื่นแต่เช้า และบ่ายๆ เค้าก็เข้านอนพักผ่อนกันแล้ว ทุกกลุ่มจะบันทึกเวลาที่ได้ยินเสียง D และ GC เท่านั้น จดเวลาที่ได้ยินความละเอียดในหน่วยวินาที (ทุกกลุ่มต้องตั้งเวลาให้ตรงกันในระดับวินาที) บันทึกระยะของการได้ยินโดยการกะประมาณ ระยะไกลสุดในการบันทึกคือ 1,000 เมตร และทิศทางของเสียงว่ามาจากองศาไหน (วันแรกนี่จะงงหน่อยๆ วันหลังๆ เริ่มเข้าใจมากขึ้น การทำงานมันก็เลยสนุกขึ้น)
ความวุ่นวาย และความสับสนจะบังเกิดขึ้น เมื่อบรรดาฝูงชะนีร้องพร้อมๆ กันนี่แหละ ต้องจับให้ได้ว่ามาจากทางไหนบ้าง เวลาเท่าไหร่ บางทีมาจากทิศทางเดียวกัน แต่ระยะใกล้ไกลไม่เท่ากันก็ต้องแยกแยะให้ออก บางทีมาจากทางใกล้เคียงกัน แต่ต่างเมโลดี้กันก็ต้องจดข้อมูลแยก เพราะคาดว่าจะเป็นคนละกลุ่มกัน (แต่ละครอบครัวเค้าจะมีเสียงเฉพาะกลุ่ม)
เช็คพิกัด และสัญญาณ
พอได้ข้อมูลในช่วงเช้า ช่วงบ่ายเราก็จะเอาข้อมูลของทุกกลุ่มมาจับคู่เวลาที่ตรงกันและลากเส้นของเสียงที่บันทึกได้ ถ้าเส้นในแต่ละจุดมาตัดกันที่จุดไหนแสดงว่าฝูงชะนีจะอยู่บริเวณนั้น อยากจะบอกขั้นตอนนี้เรารู้ตื่นเต้นมากถ้าเวลาที่เราจดมาตรงกับกลุ่มอื่นในระดับวินาที และยิ่งถ้ามีเส้นมาตัดกัน ยิ่งรู้สึกดีใจ เพราะแสดงว่าข้อมูลที่เราบันทึกมามันถูกต้อง 👍
เราได้ถามทีมวิจัยว่า ข้อมูลที่เราได้นี้บอกอะไรเราบ้าง คำตอบก็คือ ทำให้เรารู้ว่ามีครอบครัวชะนีอยู่ตรงจุดไหนบ้าง มีกี่จำนวนครอบครัว และขนาดพื้นที่หากินเป็นเท่าไหร่ พวกมันกินอะไรเป็นอาหารบ้าง เพราะปกติชะนีจะอาศัยในป่าดิบที่มีเรือนยอดของต้นไม้หนาแน่น แต่ที่ห้วยขาแข้งซึ่งเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ กลับพบฝูงชะนีมือขาวจำนวนมาก นี่คือความพิเศษ และชวนให้ทีมวิจัยสนใจว่าทำไมจึงพบชะนีมือขาวจำนวนมากที่ห้วยขาแข้งผืนป่ามรดกโลกของไทย และในอนาคตอาจจะได้มีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดในงานวิจัยอย่างอื่นต่อไป เช่น ที่เขาใหญ่มีการต่อยอดการวิจัยเรื่องของพันธุ์ไม้ในบริเวณที่ชะนีอาศัยอยู่ เพราะชะนีถือเป็นนักปลูกป่าอันดับต้นๆ เช่นกัน (ชะนีจะกินยอดไม้ แมลง และผลไม้เป็นอาหาร แต่การกินผลไม้ของชะนีจะกินทั้งเมล็ด ไม่กัดแทะเมล็ดเหมือนลิง และพบว่าเมล็ดที่ผ่านการย่อยและขับถ่ายออกมาจากชะนีมีอัตราการเติบโตได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น)
จับพิกัด บันทึกข้อมูล ประมวลผล
ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามาเหมือนเป็นเรื่องสนุก ทำงานง่ายๆ นั่งชิวๆ ฟังเสียงชะนี ถ้าไม่ไปสัมผัสด้วยตัวเองคงไม่รู้ว่าการทำงานในป่าห้วยขาแข้งนั้นมันเหนื่อย และเสี่ยงขนาดไหน เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานต้องมีประสาทสัมผัสดี แยกแยะเสียง กลิ่น และชำนาญเส้นทางในการหลีกเลี่ยงการเผิชญหน้ากับเจ้าป่า และพี่ใหญ่ (เสือโคร่ง และ ช้างป่า) นี่ขนาดพวกเราไปเป็นอาสาช่วยงานแค่ 4 วัน ยังต้องเหนื่อยและเสี่ยงกับการวิ่งหนีสัตว์ป่ากันขนาดนี้ แล้วคิดดูว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่ทำงานในผืนป่าแห่งนี้จะต้องพบเจออะไรกันมาบ้าง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนลำพังสัตว์ป่าก็เสี่ยงอยู่แล้ว ยังต้องมาเสี่ยงกับการปะทะกับสัตว์ 2 เท้าที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” อีก
ขอเล่าแค่นี้พอหอมปากหอมคอก่อน แต่เรื่องราวของชะนีมือขาวในป่าห้วยขาแข้ง และทีมงานยังไม่จบแค่นี้ แล้วเราจะพบกันใหม่...โปรดติดตามตอนต่อไป ✌️✌️
โฆษณา