25 ก.ย. 2020 เวลา 23:46 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หากพูดถึงหนัง The Matrix หลายคนคงรู้จัก
เพราะมันเป็นหนังดังระดับตำนาน
ที่เล่าเรื่องราวในโลกอนาคตที่หุ่นยนต์ต้องการแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในตัวมนุษย์
จึงได้ล่อลวงมนุษย์ให้หลับใหลอยู่ในโลกจำลองที่เรียกว่า The Matrix
มนุษย์ทั้งหลายก็ใช้ชีวิตติดอยู่ใน The Matrix โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า
ตัวเองกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกจำลอง ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริงเลย
เราดูหนังเรื่องนี้อาจคิดว่ามันเป็นแค่นิยายทางวิทยาศาสตร์
มันไม่ได้เกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบัน แต่จริงๆ
แล้วเราอาจกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกจำลองกันอยู่
โดยไม่รู้ตัว
เมื่อไม่นานมานี้ มีสารคดีเรื่อง The Social Dilemma ทาง Netflix
ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในวงกว้าง เนื้อหาจะอัดแน่นไปด้วยข้อมูล
ที่เป็นภัยด้านมืดของโซเชียลมีเดีย
ตัวหนังสารคดีจะมุ่งเป้าโจมตีบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้าต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Youtube, Twitter, Instagram, Pinterest
โดยคนที่ออกมาให้ข้อมูลก็คืออดีตผู้บริหาร, พนักงาน, วิศวกร
โปรแกรมเมอร์ ที่เคยทำงานอยู่ในแพลตฟอร์มพวกนี้เอง
ซึ่งตามปกติแล้วแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพวกนี้
อำนวยความสะดวกให้กับเราในด้านต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การเชื่อมต่อกับคนที่ต่างๆ
การอัพเดต การทำงาน การผ่อนคลาย
และที่สำคัญเราใช้งานมันฟรี
ทำให้มีคนใช้งานกับแพลตฟอร์มพวกนี้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้กำลังใช้งานมัน
หากเป็นตัวพวกเราเองต่างหากที่กำลังเป็นสินค้าให้กับเอไอ
บรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้แทน
จุดประสงค์หลักของทุกแพลตฟอร์มคือ
ต้องการให้เราอยู่ใช้งานในแพลตฟอร์มนั้นๆ ให้นานมากที่สุด
เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ การโฆษณา
หุ่นเอไอที่อยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
มีหน้าที่คำนวณหาค่าจากพฤติกรรมการใช้งานของเรา
เราชอบอะไร เราอยากเห็นอะไร เราอยากดูอะไร
เราชอบคนแบบไหน
แล้วมันจะส่งเนื้อหาเหล่านั้นโผล่ขึ้นมาให้เราเห็นเวลาใช้มือเลื่อนหน้าจอ
เพื่อที่จะดึงความสนใจจากเราให้อยู่บนหน้าจอให้นานมากขึ้น
แม้แต่คนที่ยังไม่ได้สนใจในเรื่องนั้น แต่แค่ว่าเรามีแนวโน้มว่าจะสนใจ
หรือมีคนใกล้ชิดสนใจ ตัวเอไอมันก็จะนำเสนอข้อมูลเหล่านี้
เชิญชวนให้เข้ากลุ่ม หรือให้ดูสิ่งที่เพื่อนเราไปแสดงความคิดเห็น
เพื่อเป็นการโน้มน้าวให้สนใจเรื่องนั้นตามไปด้วย
จนในที่สุดก็จะทำให้กลุ่มความเชื่อขยายใหญ่ขึ้น
ครั้งหนึ่งมีนักบาสเก็ตบอล NBA ยังคงเชื่อว่าโลกแบน
เป็นเพราะเสพข้อมูลกลุ่มความคิดนี้จาก Youtube
พอเข้าได้ชมคลิปหนึ่งจบ คลิปต่อไปที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อโลกแบนก็โผล่มา
เขาได้รับแต่ข้อมูลว่าโลกแบน จนเชื่อว่าโลกแบนจริงๆ
หรืออย่างเคสไวรัสโควิด19 มีคนจำนวนมากไม่เชื่อว่ามันมีเชื้อไวรัสนี้จริง
เป็นเพราะพวกเขาได้ดูแต่ข้อมูลทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ว่ามันเป็นเรื่องลอกหลวง
พวกเขาได้รับแต่ชุดข้อมูลพวกนี้จนเชื่อว่ามันไวรัสโควิด19 ไม่มีจริงในที่สุด
ตัวชุดข้อมูลที่โผล่มาในมือถือเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน
มันเป็นข้อมูลคนละชุดที่แตกต่างไปตามการที่เราได้เคยดู ได้เคยเห็น
มีความชอบยังไง ทั้งๆ ที่เราใช้แพลตฟอร์มเดียวกันก็ตาม
ทางสารคดีได้ยกตัวอย่าง
หากเราค้นคำว่า ภาวะโลกร้อน ใน Google
ข้อมูลที่โผล่มาในคนอาศัยอยู่ที่หนึ่งจะบอกข้อมูลถึงปัญหาภัยโลกร้อน
กับข้อมูลของคนอาศัยอยู่ในอีกที่จะแตกต่างกัน
กลายเป็นได้ข้อมูลที่บอกว่า ภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องลวงโลก
มันเป็นข้อมูลคนละชุด ทั้งๆ ที่เรากำลังหาข้อมูลอย่างเดียวกัน
เพราะถ้าเรามีความเห็นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ระบบก็จะนำเสนอแต่เรื่องนั้น
มาให้ทุกวันทุกเวลา เพื่อให้เราใช้เวลาอยู่กับมันให้นานที่สุด
โดยที่เราจะไม่ได้รับข้อมูลชุดตรงข้ามกันเลย
มันจึงเป็นที่มาทำให้ความเชื่อของคนเราแตกต่างกันออกไปได้อย่างสุดขั้ว
จนนำไปสู่ความขัดแย้งบนโลกจริงในที่สุด
ใครจะไปคิดว่าโซเชียลมีเดียที่มนุษย์เราคิดขึ้นมา
เพื่อเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการทำประโยชน์สิ่งต่างๆ
จะแปลเปลี่ยนจากเครื่องมือ กลายมาเป็นสิ่งครอบงำเราแทนได้
นั่นอาจเป็นเพราะว่าเอไอคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการประมวลผล
แบบก้าวกระโดดเป็นล้านล้านเท่าภายในระยะเวลาไม่นาน
ในขณะที่ความสามารถของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
เราจึงตามไม่ทันวิวัฒนาการของเอไอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียต่างๆ มีประโยชน์ต่อเรา
เพียงแต่ว่าหากเราใช้งานมันไม่ได้ไตร่ตรองเลย
เราก็จะถลำลึกติดอยู่กับมัน
จนทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว
กลายเป็นโรคซึมเศร้า กลายเป็นคนก้าวร้าว
จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงบนโลกความเป็นจริงได้
อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้เรากำลังใช้ชีวิตระหว่างโลกจริง กับในโลก The Matrix แล้วก็เป็นได้
ในหนังเรื่อง The Matrix พระเอก Neo คือคนที่ตื่นรู้ความเป็นจริง
มองเห็นและความเป็นไปทั้งโลกจริงและโลกเสมือน
บางทีเราอาจต้องพยายามเป็นอย่าง Neo ถึงจะเป็นคนใช้มัน
ไม่ให้ถูกครอบงำก็เป็นได้...
โฆษณา