28 ก.ย. 2020 เวลา 00:26 • ธุรกิจ
ย้อนรอย สงครามมือถือ
ธุรกิจมือถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถือได้ว่ามีการแข่งขันเข้มข้นที่สุดธุรกิจหนึ่งในหลากหลายแง่มุม ทั้งในเชิงการตลาด การขาย การดูแลลูกค้า และการสร้างแบรนด์ โดย 3 ค่ายใหญ่ “เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟเอช”ใส่กันเต็มที่ไม่มีใครยอมใคร
คู่แข่งคู่ปรับที่ขับเคี่ยวกันมายาวนานตั้งแต่ยุคแรก คือ เอไอเอส และดีแทค ทั้งคู่ได้สิทธิในการให้บริการในฐานะคู่สัญญาสัมปทานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในเวลาไล่เลี่ยกัน
เรียกว่าเป็นมวยคู่เอกในสังเวียนมือถือไทยจากยุค 1G ไปจนถึงช่วงเริ่มต้นของ 3G ก่อน “ทรูมูฟ เอช”จะมีบทบาท และเบียดแซง “ดีแทค”ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 เข่นทุกวันนี้
บางจังหวะแข่งกันดุมาก ขนาดว่าค่ายหนึ่งกำลังจะจัดงานเปิดตัวบริการหรือแคมเปญอะไรสักอย่าง อีกค่ายต้องสืบเสาะหาวิธีสกัดกั้นหรือทิ้งบอมบ์คู่แข่ง จะด้วยข้อมูลเกทัพบลัฟแหลกผ่านสื่อหรือจัดงานตัดหน้าก็มีบ่อย ๆ
แม่ทัพการตลาดของทั้งสองค่ายพร้อมปะฉะดะกันทุกเวที และมักเล่นใหญ่แบบมีเซอร์ไพรส์เสมอ
 
จำได้ว่า ตอน GSM2 Watts (ระบบมือถือยุค 2G ของเอไอเอส) เปิดบริการใหม่ ๆ และต้องโชว์ความแรงของสัญญาณที่ทะลุทะลวงไปได้ทุกที่ ถึงกับต้องไปจัดงานกันที่ชั้นใต้ดินของอาคารจอดรถกลางกรุงที่ไหนสักแห่งเพื่อให้เห็นกันไปเลยว่าแรงชัดไปไกลถึงใต้ดิน
ช่วงหนึ่งของการแข่งขันในธุรกิจนี้อยู่ในพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มนี้
คุณศรัณย์ ผโลประการ วิศวกรรุ่นบุกเบิก (ปัจจุบันดูแล “เอไอเอส ไฟเบอร์”หนึ่งในจิ๊กซอว์ธุรกิจในยุคที่เอไอเอส ต้องการก้าวไปเป็น “ดิจิทัล เซอร์วิส โพรวายเดอร์”เล่าเหตุการณ์ช่วงนั้นในเฟซบุ๊ก ในโอกาสนับถอยหลังเข้าสู่ปีที่ 30 ของบริษัทว่า
การพิสูจน์ให้เห็นว่า GSM 2 Watts ส่งได้ไกลกว่าระบบอื่น คือการทำ drive test (ทดสอบการใช้งานจากบนรถ)
เพื่อดูว่าสัญญาณของค่ายไหนสายจะหลุดก่อนกันแต่จะทดสอบได้ต้องปิดสัญญาณจากสถานีฐานอื่นในบริเวณนั้นให้เหลือเพียงสถานีฐานเดียวเพื่อกันไม่ให้เครื่องมือถือ กระโดดไปจับสัญญาณจากสถานีฐานอื่น
และไม่หลุด
จะทำแบบนั้นได้ก็ต้องหาก่อนว่า ที่ไหนในประเทศไทยที่มีเสา GSM ต้นเดียว และเสา 1800 ต้นเดียว
 
เวลานั้นทั้ง GSM และ 1800 เพิ่งขยายออกต่างจังหวัดจึงพอมีบางจังหวัดที่ทั้งสองระบบมีสถานีฐานเดียว แต่สถานีฐานที่ 2 และ3 ก็จ่อคิวเตรียมเปิดในอีกไม่กี่วัน ดังนั้นทีมวิศวกรของเอไอเอสจึงต้องหาข้อมูลว่ามีจังหวัดไหนในประเทศไทยบ้าง ที่มีสถานีฐาน GSM และ1800 เปิดให้บริการเพียงสถานีเดียว
“อุดรธานี”เป็นตัวเลือกของ “เอไอเอส” แต่การจะเชิญนักข่าวมาทดสอบก่อนที่คู่แข่งจะไหวตัวทันก็ไม่ง่าย เพราะเมื่อส่งเทียบเชิญออกไป คู่แข่งก็อาจกดปุ่มเปิดใช้งานสถานีฐานที่ 2 ได้ในทันที
“วิศวกร”ของเอไอเอสจึงต้องลงพื้นที่ไปเช็คให้ชัวร์ก่อนว่าทำได้แค่ไหน และพบว่าสถานีฐานที่ 2 ของคู่แข่งติดตั้งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วเตรียมเปิดบริการ แต่เปิดไม่ทันวันจันทร์แน่ ๆ ด้วยว่าการไฟฟ้าฯยังไม่ต่อไฟเข้าไปให้และคงทำตอนนี้ไม่ทัน เพราะเป็นวันหยุดราชการ
รู้ดังนั้น “เอไอเอส”จึงส่งเทียบเชิญออกไป และจัดเตรียมการ drive test อย่างเร่งด่วน
‘วิศวกร”ที่ไปเช็คพื้นที่ และแจ้งข้อมูลกลับมา ไม่ใช่ใคร คือคุณวศิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการ และสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ ซึ่งดูแล 5G ของเอไอเอสในปัจจุบัน
 
การ drive test ในวันนั้นเริ่มขึ้นโดยให้ทุกคนกดโทรออก และลากสัญญาณออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งระบบ 1800 สายหลุดที่กิโลเมตรที่ 4 ขณะที่ GSM โทรต่อไปได้เรื่อยๆ จนสายหลุดที่กิโลเมตรที่ 10
‘เอไอเอส”ไม่รอช้าใช้ผลการทดสอบนั้นเป็นแรงส่งผลักดันการทำตลาด GSM 2 Watts ในทันที ถือเป็นการเข้าสู่ยุคของการเติบโตของระบบ GSM ในเวลาต่อมา
นั่นแค่ตัวอย่างบางเหตุการณ์
ในฟากของการลงพื้นที่ขายก็ดุไม่น้อย เป็นสมัยนี้คงเรียกกันว่า “โปรใต้ดิน” เพียงแต่ไม่ได้ทำออกมาเฉพาะลูกค้าบางกลุ่ม แต่อัดฉีดลงไปที่ร้านค้า และช่องทางการขายโดยตรง
 
การตลาดยุคโน้นดุเดือดถึงลูกถึงคนกว่ายุคนี้ เพราะเป็นช่วงบุกเบิกตลาด เป็นเกมของการแย่งชิงลูกค้าเครื่องแรกที่มีกำลังซื้อ (สมัยนั้นซิมกับเครื่องจะขายไปด้วยกัน)
ต่างจากทุกวันนี้ ที่เข้าสู่ยุคอิ่มตัวแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างมีเบอร์มือถือมากว่า 1 เลขหมาย การแข่งขันจึงปรับโหมดไปสู่เรื่องการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อทำยังไงให้ลูกค้าไม่เปลี่ยนใจไปไหนมากกว่า
โฆษณา