10 ต.ค. 2020 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ทำไมเวเนซุเอลาถึงยืนหนึ่งเรื่อง 'นางงาม'
ไม่ว่าจะเป็นเวทีประกวดความงามใดๆ ในโลก สตรีจากประเทศเวเนซุเอลามักคว้า
รางวัลชนะเลิศหรือรองชนะเลิศไปครอง
สังเกตจากการประกวดความงามระดับโลกทั้ง 4 รายการ (Miss World, Miss Universe, Miss International และ Miss Earth) ซึ่งนางงามจากเวเนซุเอลาชนะเลิศการแข่งขันชนะเลิศถึง 23 รายการ และได้รับรางวัลสาขาต่างๆ ถึง 130 รายการ
(นางงามเวเนซุเอลาชนะเลิศครั้งแรกใน Miss World ตั้งแต่ปี 1955 และชนะเลิศ
ครั้งล่าสุดในปี 2018 ที่การประกวด Miss International)
ในปี 2014 โฆเซ ราฟาเอล บริเซนโญ (José Rafael Briceño) ศาสตราจารย์
มหาวิทยาลัย Andrés Bello Catholic University และเป็นชาวเวเนซุเอลาผู้ฝึกสอนด้านการพูดในที่สาธารณะแก่ผู้เข้าประกวด Miss Venezuela เป็นเวลา 5 ปี ให้
สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Miami Herald ว่า เวเนซุเอลาเริ่มเชิดชูความสวยความงามช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เพื่อสื่อว่าการแต่งกายและรสนิยมของชาวเวเนซุเอลามี
ระดับไม่แพ้สเปน ซึ่งกำลังปกครองเวเนซุเอลาอยู่ในขณะนั้น
บริเซนโญกล่าวอีกว่า เวเนซุเอลาเป็นสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่ และผู้หญิงคือศูนย์กลางของครอบครัว ถึงแม้คติสตรีนิยม (Feminisim) ที่กำลังเบ่งบานจะต่อต้านความรัก
สวยรักงามของผู้หญิง แต่ผู้หญิงเวเนซุเอลากลับรู้สึกว่าคุณค่าของตนไม่ได้ด้อยลง
เพราะการรักสวยรักงาม แต่เป็นการเสริมคุณค่าของตนเองด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ การเข้าร่วมเวทีประกวดนางงามยังอาจยกระดับฐานะครอบครัวที่ด้อย
โอกาสได้ อย่างเช่นในทศวรรษที่ 1990 การเข้าแข่งขันเวที Miss Venezuela
สามารถการันตีว่าจะได้งานถ่ายแบบหรืองานโทรทัศน์ แม้ในปัจจุบันตลาดนางแบบและงานบันเทิงจะลดลงมากก็ตาม แต่เด็กหญิงหลายคนยังคงมีฝันที่จะก้าวขึ้นสู่แสงสีของงานประกวด หลังชมการถ่ายทอดสดเวทีประกวดต่างๆ ทางโทรทัศน์ ซึ่งมีมากมายทั้งปีและเรียกเรตติ้งผู้ชมจากทั่วประเทศพอๆ กับรายการยอดฮิตอื่นๆ
ด้านผู้ปกครองก็ฝันว่าวันหนึ่งความสวยของลูกสาวจะยกฐานะครอบครัวให้กินดีอยู่ดี
จึงไม่แปลกที่เวเนซุเอลาจะมี 'ธุรกิจนางงาม' ผุดขึ้น ธุรกิจมูลค่ามหาศาลนี้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากโรงเรียนฝึกสอนนางงาม เตรียมความพร้อมเด็กหญิงตั้งแต่
อายุ 4 ขวบเพื่อเป็นนางงาม พวกเธอต้องรักษาหุ่นสมบูรณ์ด้วยการออกกำลังกาย
และควบคุมอาหาร เมื่อโตพอก็จะฝึกสวมรองเท้าส้นสูง 5 นิ้วให้คุ้นชินการเดินบนรันเวย์อย่างมั่นใจ รวมถึงฝึกการพูดในที่สาธารณะ และบุคลิกบนเวทีกับเวลาออกกล้อง เหล่าผู้ปกครองเด็กๆ ต้องเสียเงินจำนวนมากในวงจรฝึกสอนนี้ ครอบครัวยากจนที่มีรายได้ต่อเดือนเพียง 50 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,500 บาท) ต้องเสียเงินครึ่งหนึ่ง
(ราว 750 บาท) ไปกับค่าเล่าเรียนและค่าเสื้อผ้าหน้าผมของลูกๆ
1
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจผ่าตัดเสริมความงาม เช่น การเสริมหน้าอก จมูกและคาง
นางงามเวเนซุเอลาน้อยคนนักที่ไม่เคยผ่านมีดหมอ เพราะการทำศัลยกรรมเสริม
ความงามเป็นเรื่อง 'ปกติ' ในสังคม แถมธนาคารต่างๆ ยังปล่อยกู้เงินค่าเสริมสวย
ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอีก แต่การผ่าตัดเย็บตะข่ายพลาสติกติดลิ้นของ Wi May Nava ผู้เข้าประกวด Miss Venezuela ดูจะเป็นเรื่องคลื่นไส้ที่สุด เธอให้สัมภาษณ์กับ BBC ในปี 2013 ว่า การทำแบบนี้ทำให้น้ำหนักลดฮวบทันใจ เพราะอาหารแข็งจะทำให้เจ็บลิ้นจนทรมาน เธอจึงกินได้แต่อาหารเหลว แต่เธอก็เผชิญอาการหน้ามืดหมดสติ
เพราะกินอาหารไม่พอหลายครั้งระหว่างการฝึกซ้อม
กว่าจะไปถึงเวทีประกวดระดับประเทศ ผู้เข้าแข่งขันอาจต้องลงเสียเงินถึง 3.2 หมื่น
เหรียญสหรัฐ (ราว 9 แสนบาท) ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชากรอยู่ที่ 100
เหรียญสหรัฐเท่านั้น (ราว 3 พันบาท)
2
สำนักข่าว The New York Times รายงานว่า ผู้เข้าแข่งขัน Miss Venezuela หลายคนถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับ 'นักบุญมืด' (dark saints) ในวงการเพื่อเงินซื้อเสื้อผ้า คอร์สฝึกพูด ค่าทำฟัน ฯลฯ หากพวกเธอประสบปัญหาการเงิน
เวทีประกวดความงามและแสงสีที่สาดส่องได้ปิดบังความมืดหม่นในสังคมเวเนซุเอลาที่น้อยคนจะได้รู้.
เรื่อง : พชร อังคเรืองรัตนา
ภาพประกอบ : ชุติมณฑน์ ปทาน
โฆษณา