28 ก.ย. 2020 เวลา 08:22 • การศึกษา
หลักการการเรียน~การสอน
ของสมเด็จพระราชบิดา เกินกว่าจะบรรยาย
หลักการนี้น่าจะใช้ได้กับทุกวิชาชีพ
1. I do not want you to be only a doctor
but I also want you to be a man.
(ทรงสอนนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นที่ ๑
เล่าโดย ศ.นพ.อำนวย เสมรสุต ส.ก.2926 เข้าสวนกุหลาบฯปี 2458)
2. เมืองไทยเรายังไม่มีอะไรเลย เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว
ควรพยายามคิดค้นทางวิชาการให้กว้างขวางขึ้น
จะได้เทียบเคียงกับต่างประเทศเขา
ถ้าไม่รู้จะทำอะไรใหม่ก็ให้ศึกษาหาสิ่งธรรมดา
ให้รู้ว่าคนไทยเรามีอะไรเป็นธรรมดาซึ่งเป็นมาตรฐาน
(ทรงสอนนักเรียนแพทย์ปริญญารุ่นที่ ๒
เล่าโดย ศ.นพ.ฝน[ทอง] แสงสิงแก้ว แห่งหลังคาแดง สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ส.ก.4424
เข้าสวนกุหลาบฯปี 2465 และ นพ.ประพนธ์ เสรีรัตน์)
3. True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind.
(คติพจน์ที่ทรงบันทึกไว้ที่
แผ่นแรกของสมุดปฏิบัติการวิชา Bacteriology ของพระองค์ท่าน)
4. เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันจะไม่กลับมาอีก
ถ้าเรามีโอกาสใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว
เราไม่ใช้มันก็น่าเสียดาย (ทรงสอนนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นที่ ๑)
5. ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์
(ลายพระหัตถ์ประทาน ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง
นักเรียนที่ทรงจัดให้ทุนไปศึกษาแพทย์
ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ ม.แพทยศาสตร์ ก.สาธารณสุข
คนสุดท้าย (ลำดับที่ 4) พ.ศ.2501-2502)
6. พวกเธอทั้งหลาย การเล่นเป็นของดี
การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ
แต่การที่จะให้ดีกว่านั้น คือคนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย
(ทรงสอนนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญา รุ่นที่ ๒)
7. วิชาแพทย์เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
(ลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
8. หัวใจของการเรียน อยู่ที่ “ PRACTICE”
(ลายพระหัตถ์ ถึง มจ.พูนศรีเกษม เกษมศรี)
9. เราควรให้ lab work ตรงกับ lecture course
(ลายพระหัตถ์ ถึง มจ.พูนศรีเกษม เกษมศรี เรื่องการจัดหลักสูตรเตรียมแพทย์)
10. คนที่ไปถึงเมืองไหนแล้วไม่ไปดูมิวเซียม คนๆนั้นไม่ศิวิไล
(ทรงสอน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์)
11. อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย
ถ้าใครอยากร่ำรวยควรเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่แพทย์
อาชีพแพทย์ต้องยึดมั่นในอุดมคติ คือ เมตตา กรุณา
(ทรงสอนนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นที่ ๒)
12. การที่เรียนจบหลักสูตรวิชาชีพแพทย์นั้น
ไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นได้เรียนรู้การแพทย์หมดแล้ว
แต่เป็นการตรงกันข้าม
การที่เรียนจบนั้นเป็นแต่เพียงขั้นหนึ่งของการศึกษาทางการแพทย์
(ลายพระหัตถ์ถึง ศ.เอ.จี.เอลลิส เรื่องประทานทุนสอนและค้นคว้า)
13. จะเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในภายหน้าไม่ได้
นอกจากแพทย์ผู้นั้นจะรู้สึกว่า
ตนจะต้องยังคงเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลาที่ทำการแพทย์
(ลายพระหัตถ์เรื่อง ประทานทุนสอนและค้นคว้า)
14. คุณลักษณะของการเป็นแพทย์นั้นคือความเชื่อถือและไว้ใจ
๑) ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตนเอง คือความมั่นใจ
๒) ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือความเป็นปึกแผ่น
๓) ท่านต้องได้ความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือความไว้ใจของคณะชน
(ลายพระหัตถ์ ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกับข้อ 15 ถึงข้อ 18)
15. ขอให้ท่านถือสุภาษิตว่า “ใจเขาใจเรา”
ท่านอยากได้ความสบายแก่ตัวท่านอย่างไร
ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น
(ลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
-- กลายมาเป็นคติของมหาวิทยาลัยมหิดล
หรือภาษาบาลีที่ว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร”
จงปฏิบัติต่อผู้อื่น ดังเช่นท่านได้ปฏิบัติให้กับตัวท่านเอง
16. แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ
และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริต
(ลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
17. ความจริงเป็นยาอันประเสริฐ ได้ผลคือความเชื่อ
ถ้าท่านหลอกคนไข้แล้ว ท่านก็ต้องรักษาเขาได้หนเดียว
(ลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
18. ความลับของการรักษาคนไข้นั้นคือ ความรักคนไข้
(ลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
19. ท่านควรยกย่องคณะที่ให้การศึกษาแก่ท่าน
ท่านควรมีความภาคภูมิใจในคณะของท่าน
และท่านไม่ควรเรียนวิชาขึ้นใจแล้ว ใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น
ควรเก็บคำสอนใส่ใจ และประพฤติตาม
ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ
แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวเองสอนแก่คนไข้แล้ว
จะหาความไว้ใจจากคนไข้ได้อย่างไร
(ลายพระหัตถ์ถึงสมาชิกสโมสรแพทย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
-จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.
คำสอนทั้ง 19 ข้อความที่พบในที่ต่างๆ เหล่านี้
แสดงพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกชัดเจนว่า
ทรงต้องพระประสงค์ที่จะให้ลูกศิษย์ของพระองค์ท่าน
เป็น “แพทย์ที่ดี” โดยมีคุณสมบัติดังนี้
1) เป็นแพทย์ที่มีความรู้วิชาแพทย์อย่างดีและทันสมัยตลอดชีวิต
2) เป็นแพทย์ที่มีจิตสำนึกเป็นนักวิทยาศาสตร์
3) เป็นแพทย์ที่รอบรู้หน้าที่แพทย์ ประเพณีของแพทย์และจรรยาแพทย์
4) เป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม และเสียสละเพื่อส่วนรวม
5) เป็นบุคคลที่รู้รอบและรอบรู้เรื่องต่างๆ นอกไปจากวิชาแพทย์
โฆษณา