12 ต.ค. 2020 เวลา 10:30
วิวาทะ 'ศิลปิน' VS 'นักวิจารณ์ศิลปะ'
ในหนังสือ 'ศิลป์สถานะ (State of the Art; On Thai Contemporary art)' ถนอม ชาภักดี ได้วิจารณ์บทบาทของศิลปะ และหน้าที่ศิลปินที่พึงกระทำ โดยยกตัวอย่าง 2 กิจกรรมทางศิลป์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย นั่นคืองานจัดแสดงศิลปะ 'กรุงเทพนอกคอก' และงานแสดงรถยนต์ยี่ห้อ 'วอลโว่'
'กรุงเทพนอกคอก' จัดขึ้นที่ชมรมศิลปะรวงผึ้ง ณ ซอยซอกหลืบหนึ่งตลาดนัดสวน
จตุจักร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2537 พื้นที่จัดแสดงเป็นเพียงเพิงร้านค้าธรรมดาเหมือนร้านรวงอื่นในตลาด แต่อุดมการณ์ของผู้จัดนั้นใหญ่โตกว่าพื้นที่สี่เหลี่ยมที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้มากนัก เพราะที่นี่คือเวทีสำหรับแสดงออก แลกเปลี่ยน และ
สังสรรค์ของ 'คนนอก' จากทุกซอกทุกมุมในสังคม
การตกแต่งผนัง ริมรั้ว หรือแม้แต่เพดานสถานที่ด้วยผลงานศิลปะเป็นเพียงส่วนเล็ก
ของงาน ยังมีการเล่น 'ละคอนปุ๊บปั๊บ' (ละครที่เล่นอย่างฉับพลัน ผู้ชมอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีละคร) การเล่นดนตรี การอ่านบทกวี ระหว่างมิตรสหายหน้าเก่าและใหม่
บรรยากาศเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน ภายใต้ 'ศิลปะ'
ซึ่งสร้างความบันเทิงใจแก่ผู้เสพ และมอบอิสระอย่างไร้ขีดจำกัดต่อผู้เข้าร่วม
ณ อีกมุมหนึ่งของกรุงเทพ ห่างไปประมาณ 8 กิโลเมตร คือศูนย์ประชุมแห่งชาติ
สิริกิติ์ ศูนย์ประชุมระดับชาติที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2534 โดยมีงานแสดงรถยนต์
วอลโว่ (Volvo) แบรนด์รถยนต์หรูสัญชาติสวีเดน พร้อมเหล่าชนชั้นกลางและผู้มี
ฐานะที่มาเลือกซื้อเลือกหาพาหนะคันแรกหรือคันใหม่ และบุคคลที่คุณอาจคาดไม่ถึง คือ 'ถวัลย์ ดัชนี'
ถวัลย์ ซึ่งจะได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี 2544 ได้
นำชุดภาพวาดของตน 30 ภาพ ได้แก่ ภาพเสือเบ่งกล้าม นกสลัดขน ช้างตกมัน ม้า
ดีดกระโหลก ควายเขาเล วัวผายลม และภาพปลาซิวยักษ์ มายังงานเพื่อแจกเป็นของสมนาคุณให้ผู้ที่ซื้อรถวอลโว่ ถวัลย์กล่าวกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2537 ว่า
"ผมทำทุกอย่างให้รักปรากฏรูปเป็นเครื่องนำรูปของตัวเองไปสู่นิพพาน นี่คือรุ่งประสานยานยนตรกรรมสู่ความเป็นเลิศที่ไม่มีข้อติฉิน น้ำใจของวอลโว่ในการยกระดับทำนุบำรุงแสงเพลิงทางปัญญา โดยวอลโว่เอาศิลปะเป็นสื่อนำ..."
เมื่ออาจารย์ถนอมทราบเรื่องราวดังกล่าว เขาตอบโต้อุดมการณ์ของถวัลย์ใน 'ศิลป์สถานะ' ว่า
"ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเขาที่เขียนรูปแถมกับสินค้านานาชนิดและกับบทบาทของ
การเป็นศิลปิน PR. ขายสินค้านั้นก็เป็นบทถนัดของศิลปินที่ทำมาจนลืมไปว่าตัวเอง
อยู่ในฐานะอะไรแน่ ระหว่าง PR. กับนักเรียนรูป ... ความจริงแล้วก็เป็นสิทธิ์ของ
ถวัลย์ที่จะทำอะไรก็ได้ แต่กับการมาโอ้อวดสรรพคุณของตนเอง เหมือนดั่งยาวิเศษ
เพื่อนิพพานนั้น ดูเหมือนจะเกินขอบเขตของความเป็นศิลปะและพลอยให้คนที่ยังไม่
เข้าใจในความหมายนัยของศิลปะหลงเชื่อคำอวดอ้างเหล่านั้น ... ถ้าทำงานศิลปะ
ด้วยเนื้อแท้แล้วไม่จำเป็นต้องเปลืองคำพร่ำพรรณนาสรรพคุณของตัวเองมากขนาดนี้หรอก เพราะศิลปะมันพูดด้วยตัวมันเอง"
การวิวาทะนี้ไม่ได้แลกเปลี่ยนกันเมื่อ 26 ปีก่อน แต่ถึงแม้จะปะทะกันจริง นี่คือการ
แลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการ ซึ่งสามารถทำได้และพึงกระทำ ศิลปะคือศาสตร์
ศาสตร์ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุใดการวิจารณ์ศิลปะจะกระทำไม่ได้เล่า?
โฆษณา