28 ก.ย. 2020 เวลา 15:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แบล็กลิสต์เครดิตบูโร ไม่มีจริง! ความเชื่อฝังหัวแบบผิดๆ
เปิดวิธีการแก้ข้อมูลเครดิตที่ถูกต้อง
เรื่องเงินๆทองๆ ที่เรามักได้ยินกันมาเสมอๆ กับประโยคที่ฟังกี่ครั้งหากไม่รู้ก็ชวนให้เชื่อได้ว่าจะต้องกลายเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อ อยากกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อของอะไรก็ตาม โดยมันคือคำที่คุ้นหูว่า “ติดแบล็กลิส โดนเครดิตบูโร หรือ โดนขึ้นบัญชีดำ” แล้วก็กู้ไม่ผ่าน สิ่งเหล่านี้ล้วนฝังหัวคนทั่วไปมานานจนทำให้การเข้าถึงสถาบันการเงินดูจะเป็นปัญหายุ่งยากวุ่นวาย แต่วันนี้เราอาจต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า คำพวกนี้ที่เราได้ยินหรือพูดๆ ต่อๆ กันมามันไม่มีจริง
1
คำว่า “Blacklist” หรือ บัญชีดำ ต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากประวัติอาชญากรรม ข้อมูลบุคคลอันตราย บุคคลต้องสงสัยทางความมั่นคง แต่ของเครดิตบูโร เป็นแค่ฐานข้อมูลที่บรรดาสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลเข้ามาให้รวบรวมเท่านั้นเอง เรียกง่ายๆ ก็คือ ประวัติทางการเงิน เรียงมาเลยเดือน 1 2 3 4 ไปเรื่อยๆ จนครบ 36 เดือน หากจ่ายแล้วครบก็จะมาสถานะทางบัญชีเป็น “ปกติ” หรือ “ไม่ค้างชำระ” แต่ถ้ายังไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบก็จะมีสถานะ “ค้างชำระ” ไม่ว่าจะชำระตรงกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเคลียร์หรือปิดบัญชีแล้วก็ตาม เพียงแต่ข้อมูลจะยังไม่ถูกลบออกไปจนกว่าจะถึงกำหนดที่กฎหมายให้เก็บ
1
ฉะนั้นให้รู้ไว้เลยว่าใครที่บอกว่าติดเครดิตบูโร คือไม่จริง! ยืนยันโดยนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
2
จำไว้พูดกับเพื่อนได้เลยว่า เครดิตบูโรไม่เคยจัดทำและขึ้นบัญชี แบล็กลิสต์ (Blacklist) กับใครไว้ในฐานข้อมูลเลยสักคน
.
เชื่อว่าคำถามต่อมาที่หลายคนมีในใจแน่ๆ คือ อ้าว! ถ้าไม่ติดบูโร แล้วทำไมกู้ไม่ผ่านละ… ข้อนี้ต้องคุยกันให้ชัดๆ ว่า การของกู้แล้วจะได้สินเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจและนโยบายของสถาบันการเงิน ข้อมูลเครดิตเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะมันต้องมีการนำข้อมูลอื่นๆ มาประกอบด้วย เช่น รายได้ อายุงาน ที่อยู่ หรือประวัติการออม ซึ่งเป็นหลายๆ ปัจจัยที่จะมาประกอบการพิจารณา ซึ่งถ้าหากคุณติดค้างชำระเงินเพราะเหตุจำเป็นแค่ 1 - 2 เดือน แล้วทางแบงก์ก็เห็นว่ามีพยายามจ่ายตามหลังตลอด หรือสามารถอธิบายได้ บางสถาบันการเงินก็อนุมัติสินเชื่อให้นะ ขนาดธนาคารเดียวกันคุยกับพนักงาน 2 คน บางครั้งยังบอกไม่เหมือนกันเลย ฉะนั้นเรื่องการเงินเจรจากันได้เสมอ
1
แล้วถ้าสถาบันการเงินเขาปฏิเสธสินเชื่อแก่ลูกค้า โดยให้เหตุผลว่ามีการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร สถาบันการเงินแห่งนั้นจะต้องมีหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้แก่เราด้วย พร้อมแจ้งที่อยู่ของบริษัทข้อมูลเครดิตที่เป็นสถาบันการเงินที่ใช้ตรวจสอบข้อมูล และเราก็สามารถนำหนังสือปฏิเสธสินเชื่อที่ได้จากสถาบันการเงินไปขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเองได้ ซึ่งการจะแก้ไขข้อมูลในเครดิตบูโรสามารถทำได้ในกรณีที่ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยต้องมีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น ศาลมีคำพิพากษา เอกสารจากเจ้าหนี้ - ลูกหนี้ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง กระบวนการตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลจะมีการยืนยันทั้งจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้กู้ และจากสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้แล้วเท่านั้น
1
ถ้าหากว่าเรามีประวัติเสียมากๆ ซึ่งก็มันพลาดไปแล้วจริงๆ ควรจะทำอย่างไร?
อย่างแรกก็คือ ต้องจ่ายชำระให้หมด มันคือสัจธรรมง่ายๆ “เอาเงินเขามาต้องใช้คืน เป็นหนี้ต้องใช้” พอใช้หนี้เสร็จครบหมดแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเดือนต่อไปสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลปิดบัญชีให้เครดิตบูโรอัตโนมัติ แล้วก็ขึ้นสถานะ “ปิดบัญชี” แต่หากว่าเราเช็คแล้วเราจ่ายตรงแต่ข้อมูลผิด ก็สามารถยื่นเรื่องขอแก้ไขได้ การจะฟื้นฟูให้บัญชีของเราสวยงามก็คือใช้หนี้ให้ตรง จากนั้นประวัติของคนจะเก็บย้อนหลังไป 36 เดือน หรือ 3 ปีนั่นแหละ สถานะใหม่ก็จะเข้าไปแทนหนี้เก่าที่ผิดพลาดไป เท่านี้ก็จบแล้ว
ส่วนเรื่องที่มีสารพัดโฆษณาในเน็ตออกมาบอกว่า แก้เครดิตบูโรได้ ปลดแบล็กลิสต์ให้ได้ แถมบางที่มีการบอกด้วยว่าไม่ใช่แค่ปลอดล็อก แต่ถึงกับทำบัตรเครดิต ขอสินเชื่อให้ผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำได้เลย… ขอให้คุณรู้เลยว่า “มิจฉาชีพแน่นอน” และขอให้ระมัดระวังให้มากเลย อย่างได้หลงเชื่อคารมคนเหล่านี้ เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการขอสินเชื่อ ควรติดต่อสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด
ส่วนก็ใครที่บอกว่า จ่ายค่ามือถือให้ตรง จ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ตรง ส่วนค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนจ่ายสินเชื่อต่างๆ จ่ายตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ก็สามารถปั้นเครดิตได้แล้วนั้น จะย้ำอีกทีว่า เครดิตบูโรไม่เก็บข้อมูลการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะค่าอินเตอร์เน็ตมือถือทุกเดือนๆ หรือข้อมูลทรัพย์สิน และข้อมูลเงินฝาก เพราะว่ากฎหมายระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาต หากฝ่าฝืนก็โทษอาญาเลยทีเดียว
1
คิดอีกด้านให้ครบมุมคุณจะเห็นได้ว่า หากเราผ่อนตรง ผ่อนครบ เครดิตบูโร ถือเป็นการติดดาบทางการเงินให้เราได้เช่นกัน เพราะคิดแบบคนทั่วๆ ไปเลย มีคนมายืมเงิน เขาจ่ายตรง จ่ายครบ ไม่หนี ไม่หาย ใครๆ ก็อยากให้ยืม โอกาสการเข้าถึงการกู้ยืมก็เพิ่มขึ้นด้วย
แต่ถ้าใครเหนียวหนี้ มี แต่หนี ไม่จ่าย แถมจะยืมเพิ่มอีก ใครจะยากให้ยืมล่ะ จริงไหม?
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
โฆษณา