29 ก.ย. 2020 เวลา 02:57 • ดนตรี เพลง
#ตู้ลำโพง
#ศึกษาตู้สูตร ทั้งปริมาตร และการออกแบบ
ลำโพงที่ติดตั้งแบบ FREE AIR ที่ขับความถี่ต่ำ จะผลิตเสียงได้เพียงเล็กน้อย และไม่มีเสียงเบสส์
แต่อย่างใด และในบางครั้งจำเป็นต้องแยกการป้องกันเสียงสะท้อน หรือห้องกักอากาศให้ตู้ลำโพงอย่างเหมาะสมกับลำโพงรุ่นนั้นๆ หรือตามข้อกำหนดจากโรงงาน ซึ่งโรงงานผู้ผลิตจะกำหนดค่า T/S PARAMETERS เช่น ค่า FS, QTS และ VAS ฯลฯ ของลำโพงแต่ละรุ่น มาให้อย่างถูกต้อง และ สำหรับตู้ลำโพงนั้น มีหลายประเภทด้วยกัน ตัวอย่าง เช่น
ตู้ปิด
ตู้ปิด สามารถออกแบบสร้างได้ง่ายกว่าตู้ลำโพงแบบอื่น โดยใช้ข้อมูลที่โรงงานกำหนดมา เช่นค่า FS, QTS, VAS และ X-MAX เพื่อใช้ตัดสินใจเลือกขนาดของตู้ ในอดีตลำโพงซับวูเฟอร์ขนาดใหญ่ ต้องการตู้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ด้วย แต่ปัจจุบันนี้ด้วยโครงสร้างวิศวกรรม และเทคโนโลยีในการผลิตลำโพงนั้นมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทำให้ลำโพงซับวูเฟอร์ขนาด 10″-12″ สามารถติดตั้ง
ในตู้ปิดที่มีขนาดเล็กเพียง 0.7-1.0 ลูกบาศก์ฟุต ได้อย่างง่ายดาย และไม่เสียเนื้อที่ในการติดตั้งภายในห้องเก็บของด้านหลัง
ในด้านคุณภาพเสียงเบสส์ สำหรับตู้ปิดนั้น สามารถให้การตอบสนองค่าความถี่ต่ำได้ฉับพลันกว่าโดยเฉพาะนักเล่นที่เน้นในด้านคุณภาพ หรือการแข่งขัน SQ
สำหรับการคำนวณหาปริมาตรตู้ที่แท้จริง จำเป็นต้องหักความหนาของวัสดุของตู้ออกไปด้วยหรือคำนวณโดยวัดจากด้านในตู้ไม้ รวมความหนาของเนื้อไม้ ไฟเบอร์กลาสส์ และสามารถออกแบบตู้ได้หลายรูปทรง เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และ ทรงกระบอก ตามตัวอย่าง สูตรคำนวณด้านล่าง
สูตรคำนวณตู้ทรงสี่เหลี่ยม
พื้นที่หน้าตัด = สูง (H)xกว้าง (W)
ปริมาตร = สูง (H)xกว้าง (W)xลึก (D)
สูตรคำนวณตู้ทรงสามเหลี่ยม
พื้นที่หน้าตัด = 1/2xส่วนลึก (D)xส่วนสูง (H)
ปริมาตร = 1/2xส่วนสูง (H)xกว้าง (W)xส่วนลึก (D)
สูตรคำนวณตู้ทรงกระบอก
พื้นที่หน้าตัด = 3.1428x(เส้นผ่าศูนย์กลาง)
ปริมาตร = 3.1428xเส้นผ่าศูนย์กลางxลึก (D)
สูตรคำนวณตู้สี่เหลี่ยมคางหมู
พื้นที่หน้าตัด = 1/2x(W1+W2)xส่วนสูง (H)
ปริมาตร = 1/2x(W1+W2)xส่วนสูง (H)xส่วนลึก (D)
นอกจากนี้ยังมีสูตรคำนวณรูปทรงตู้ที่แปลกๆ ออกไปอีก เช่น รูปทรงหลายเหลี่ยม รูปกรวย แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง เพราะในการใช้งาน และติดตั้งจริง ส่วนใหญ่จะตีตู้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมกันมากที่สุด
สำหรับท่านที่ไม่ถนัดเรื่องการคำนวณ ปัจจุบันมีพโรแกรมคำนวณตู้ลำโพงที่สามารถออกแบบตู้ได้ทั้งแบบปิด เปิด และตู้พาสสีฟ เรดิเอเตอร์ เช่น พโรแกรมสำเร็จรูปของ BASSBOX PRO โดย
ใช้โนทบุค หรือคอมพิวเตอร์ ช่วยในการทำงาน
ตู้เปิด
ลำโพงในตู้เปิดมีประสิทธิภาพที่สูง (3 ดีบี) สามารถรับกำลังขับได้สูงกว่าตู้ปิด ในตู้เปิดเสียงจากลำโพง และท่อจะทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อสร้างระดับเสียงที่สูง และเสียงที่ออกจากท่อจะต้องเสริมเป็นคลื่นเดียวกับเสียงที่อยู่ด้านหน้าลำโพง จึงทำให้ตู้เปิดมีประสิทธิภาพ (3 ดีบี) สูงกว่าตู้ปิด โดยเฉพาะการแข่งขัน SPL ตู้ประเภทนี้ จึงเป็นที่นิยมของนักแข่งขันกันอย่างมากมาย แต่สำหรับการออกแบบตู้เปิด จุดสำคัญอยู่ที่ ท่อระบายเสียง ถ้าหากออกแบบไม่ถูกต้อง จะทำให้เสียงเบสส์คลาดเคลื่อน ซึ่งจะต้องเลือกเส้นผ่าศูนย์กลางท่อ และความยาวที่ถูกต้องจากที่โรงงานกำหนด
นอกจากนี้ภายในตู้จำเป็นต้องบุวัสดุดูดซับเสียง เช่น ใยแก้ว เพื่อป้องกันค่าความถี่จากคลื่นสั่นค้างด้านหลังกรวยลำโพง ซึ่งจะทำให้เกิดความเพี้ยนของเสียงได้ ส่วนชนิดของลำโพงที่สามารถใช้ได้ดีกับตู้เปิด สามารถดูได้จากค่า T/S PARAMETERS เช่น ค่า QTS ของลำโพงต่ำกว่า 0.25-0.4 แนะนำให้ตีตู้เปิด และถ้า QTS ของลำโพงสูงกว่า 0.45-0.6 แนะนำให้ตีตู้ปิด ซึ่งจะต้องสังเกตสเปคที่โรงงานกำหนดด้วย
ตู้แบนด์พาสส์
ตู้แบนด์พาสส์เป็นตู้ที่ให้เสียงเบสส์แบบกระแทกกระทั้น มีความชัดเจน หนักแน่นกว่าตู้ปิด และตู้เปิด โดยใช้หลักการของตู้ปิด และตู้เปิดมาผสมผสานร่วมกัน และใช้หลักการกรองค่าความถี่เฉพาะย่าน หรือ BANDPASS ซึ่งอยู่ในช่วงค่าความถี่ประมาณ 80-120 HZ ฉะนั้นการออกแบบตู้แบนด์พาสส์จึงต้องคำนวณตู้ที่เหมาะสม และให้ถูกต้องกับค่าที่โรงงานกำหนด ตู้ประเภทนี้ออกแบบยากมาก ส่วนใหญ่จะใช้พโรแกรมตู้ลำโพงช่วยในการคำนวณให้ถูกต้อง
ตู้ ISOBARIC
ตู้ ISOBARIC เป็นตู้ที่ต้องใช้ลำโพงซับวูเฟอร์ 2 ดอก โดยต่อหันหน้าเข้าหากัน ส่วนปริมาตรตู้จะใช้เพียงครึ่งหนึ่งของตู้ปิด และตู้เปิด โครงสร้างของตู้ประเภทนี้ จะทำงานเหมือนกับตู้ปิด และตู้เปิด โดยหลักการทำงานของลำโพงซับวูเฟอร์ จะใช้วิธีต่อเข้ากับซับวูเฟอร์ดอกที่ 1 ในลักษณะถูกเฟส และดอกที่ 2 ต่อต่างเฟสกัน การทำงานจึงเป็นในลักษณะ PUSH-PULL หรือผลัก และ
ดัน แต่ก็มีทั้งข้อดี และเสีย คือ ตู้มีขนาดเล็กเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับตู้ปิด และเปิด สามารถติดตั้งในรถที่มีเนื้อที่จำกัดได้เป็นอย่างดี ส่วนข้อเสีย คือ การทำงานเหมือนใช้ซับวูเฟอร์เพียงดอกเดียว ทำให้ตู้ประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้งานกันสักเท่าไร
นอกจากนี้ยังมีตู้ประเภทอื่นๆ อีกหลายแบบ แต่ไม่ได้รับความนิยมในการเล่น โดยเฉพาะนักเล่นในปัจจุบันนี้ จะนิยมเล่นตู้ปิด และตู้เปิด ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สำหรับฉบับหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรนั้น โปรดติดตามกัน
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ
นิตยสาร CAR STEREO ฉบับเดือน เมษายน ปี 2553
โฆษณา