29 ก.ย. 2020 เวลา 13:33 • การศึกษา
“แอบดูข้อความในแชทส่วนตัวของคนอื่นแล้วพบว่าตัวเองถูกนินทา จะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่?”
2
พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม...
แต่เดี๋ยวนี้ ผู้ใหญ่ลีคงไม่ต้องตีกลองอีกต่อไปแล้ว ถ้าผู้ใหญ่ลีอยากเรียกประชุมลูกบ้านก็แค่ส่งข้อความไปยังกลุ่มแชทที่ตั้งขึ้น ก็สามารถแจ้งข่าวถึงลูกบ้านได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งในปัจจุบัน การตั้งกลุ่มแชทผ่านแอปพลิเคชั่นส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊คเมสเซนเจอร์ ไลน์ หรือโปรแกรมอื่น ๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว
ไม่ว่าจะตั้งไว้เพื่อเรื่องงาน พูดคุยในกลุ่มเพื่อนสนิท หรือกิจกรรมการต่าง ๆ
และเป็นธรรมดา ที่ไหนมีคนรวมกลุ่มกัน ก็มักจะมีการซุบซิบนินทาเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ถูกนินทาก็มักจะเป็นคนที่อยู่นอกกลุ่ม
ทีนี้ หากคนที่ถูกนินทาบังเอิญได้ไปอ่านข้อความในกลุ่มแชทเข้า และเรื่องนั้นทำให้เขาหรือเธอต้องเสียหาย
เขาหรือเธอนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการถูกละเมิดได้หรือไม่...
เคยมีคดีที่ผู้เสียหาย สมมติว่าชื่อน้องฟ้า บังเอิญไปเห็นบทสนทนาในกลุ่มแชทที่เป็นกลุ่มปิด ซึ่งมีเพื่อนร่วมงานในบริษัท 3 คนเป็นสมาชิกกลุ่ม
เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการแชทสนทนาผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊คเมสเซนเจอร์ และลืมปิดเมื่อเลิกใช้
ทำให้น้องฟ้าได้เห็นบทสนทนาที่สมาชิกกลุ่มนั้นได้พูดคุยกัน
ซึ่งบทสนทนานั้นได้กล่าวถึงน้องฟ้า และพนักงานคนอื่น ๆ ในทางเสียหายอยู่หลายครั้ง เช่น “แหลจริง ๆ” “หน้าด้าน” “หลอกเอาเงินผู้ชาย” ฯลฯ
น้องฟ้าทนไม่ได้เพราะเห็นว่าทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงนำเรื่องไปบอกเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ และเป็นโจทก์ฟ้องคนในกลุ่มแชทเพื่อเรียกค่าเสียหาย
น้องฟ้าจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่นั้น ขอให้ดูจากสรุปคำพิพากษานี้เลยครับ
1) การเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเพราะถูกละเมิดกล่าวถึงในทางที่เสียหาย การกระทำนั้นจะต้องเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความที่ไม่เป็นความจริง ทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ...
5
2) แม้บทมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าว “ต่อบุคคลที่สาม” แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่
การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย
3) ดังนั้น ถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจ กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย
4) โปรแกรมแชทดังกล่าวเป็นระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คน บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านได้ จึงเป็นการสนทนากันภายในกลุ่ม ยังไม่ถือเป็นการกล่าวหรือไขข่าว
2
5) ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเองย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้
6) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
สรุปก็คือ ศาลท่านเห็นว่าการกระทำของบุคคลในกลุ่มแชทนั้นยังไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เพราะเป็นการพูดคุยในกลุ่มส่วนตัว
จึงยังไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลจึงต้องยกฟ้องครับ
อ้างอิง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562
2
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423
#กฎหมายย่อยง่าย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา