30 ก.ย. 2020 เวลา 12:32 • สิ่งแวดล้อม
บันทึกจากห้วยขาแข้ง 🌿
๗-๑๑ กันยายน ๒๕๖๒
ทีมสำรวจชะนี
อากาศวันนี้เหมาะแก่การนอนเป็นอย่างยิ่ง ฝนที่ตกพร่ำๆ ตั้งแต่ช่วงกลางดึก จนถึงเช้ามืด ทำให้ไม่อยากเอาตัวเองออกจากถุงนอน และคิดว่าคนอื่นๆ ก็คงเช่นกัน
แต่ด้วยภาระกิจหน้าที่ที่ต้องออกไปสำรวจประชากรชะนี หกโมงเช้านิดๆ ของทุกวันพวกเราทุกคนก็พร้อมออกเดินทางกันเพื่อไปประจำที่จุดกันก่อนเจ็ดโมงเช้า ชะนีเป็นสัตว์ที่ตื่นนอนเช้ามาก คือตื่นนอนกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง และเข้านอนไวมากเช่นกันโดยประมาณบ่ายสามโมงก็เตรียมเข้านอนกันแล้ว ช่วงเวลาการสำรวจประชากรชะนีของทีมวิจัยจึงเป็นช่วงเวลา ๗.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่มีโอกาสมาช่วยงานทีมวิจัยสำรวจประชาชะนีร่วมกับทีมวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และ WCS ครั้งแรกที่หน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียง ครั้งที่สองที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำตื้น และครั้งนี้ที่หน่วยพิทักษ์ป่ายางแดงเก่า
ปัจจุบันหน่วยนี้เป็นหน่วยร้าง เนื่องจากหน่วยพิทักษ์ป่ายางแดงได้ย้ายหน่วยออกไปห่างจากจุดเดิมประมาณ ๗ กิโลเมตร จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมถึงต้องย้ายหน่วย ได้รับการบอกเล่าว่า เหนือลำนำ้ขาแข้งไป จะมีโป่งใหญ่ซึ่งมีสัตว์ป่าชุกชุม และครั้งหนึ่งเคยมีผู้ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ที่นั่น หน่วยพิทักษ์ป่ายางแดงเก่าอยู่ห่างจากจุดนั้นมากเกินไปทำให้เข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้ย้ายหน่วยเข้าไปใกล้มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม และง่ายต่อการดูแลพื้นที่
ในการสำรวจชะนีรอบนี้พิเศษกว่าทุกๆ ครั้ง เพราะนอกจากภาระกิจในการสำรวจชะนีแล้ว ครั้งนี้เรามีเจ้าหน้าที่ที่ติดตามมาด้วยเพื่อเข้ามาเก็บมูล (ขี้) ของเสือโคร่งนำไปตรวจหา DNA
“จะเก็บขี้เสือโคร่งไปตรวจ DNA เพื่ออะไร” เราตั้งคำถามกับบอส เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเก็บขี้เสือโคร่ง
บอส ทำท่าหยุดคิดนิดนึงแล้วพูดว่า
“ข้อมูล DNA ของเสือถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหากมีการกระทำผิด หรือมีคดีเกิดขึ้น”
“ยังไง” เรายังคงตั้งคำถามต่อ
“เพราะมันเป็นการพิสูจน์ได้ว่าเสือเหล่านั้นเป็นเสือจากพื้นที่ หรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเราหรือไม่” บอสอธิบายต่อ
“อ่อเข้าใจแระ เราเลยต้องเก็บข้อมูล DNA ของเสือไว้เป็นฐานข้อมูลของเราใช่มั๊ย”
บอสพยักหน้าเบาๆ “ใช่ครับ”
แอบชื่นชมทีมวิจัย เจ้าหน้าที่ และนักอนุรักษ์ทั้งหลาย ที่ต่างก็พยายามคิดค้น สรรหาวิธีการต่างๆ ที่จะปกป้องทรัพยากรของประเทศ และหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่จะเอาผิดจากผู้ที่พยายามลักลอบเข้ามาล่า
“งั้นพี่ขอเดินตามไปช่วยหาขี้เสือโคร่งด้วยนะ” น้ำเสียงอาจจะดูอ้อนวอน แต่แววตาออกแนวกึ่งๆ มัดมือชก
บอสยิ้มให้ พร้อมพยักหน้ารับเบาๆ แน่นอนสัญญาณแบบนี้เราถือว่าเป็นการตอบตกลงไปโดยปริยาย
➖➖➖➖➖➖
ในทุกๆ เช้าบอส จะออกไปร่วมสำรวจชะนีกับเราด้วย ซึ่งเราได้อยู่ทีมเดียวกัน (ทีม ๓: เรา สิงโต และบอส) และในช่วงบ่ายของทุกวัน จะเป็นภาระกิจตามล่าหาขี้เสือโคร่ง โดยมีเสริม เป็นคนนำทีมไปตามเส้นทางต่างๆ เนื่องจากจะชำนาญทางกว่าบอส เพราะบอสเองเพิ่งเรียนจบ และมาทำงานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำยังไม่ถึงเดือน
วันแรกหลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจชะนี เราและบอส เดินจากจุดที่สำรวจประชากรชะนี มาสมทบกับเสริมและดรีมที่จุด ๒
ระหว่างที่เดินพ้นทางโค้ง สองข้างทางเป็นหญ้าทึบ และบนถนนมีหญ้าสูงประมาณเข่าประปราย เราหยุดชะงักพร้อมกับเสียงแตกกระเจิงตรงหน้า “พึบพับ พึบพับ” นกยูง ๔-๕ ตัว กระพือปีกแล้วหลบเข้าพงหญ้า สองข้างทางไป เราหยุดมองภาพตรงหน้าถึงแม้จะเป็นนกยูง แต่มันให้ความรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้พบ เพราะเราได้มาพบกันในที่ที่เรียกว่าบ้านของสัตว์ป่า ไม่ใช่ในกรงขัง
เดินต่อมาอีกนิด นกผู้ล่าตัวใหญ่สีน้ำตาลอ่อนบินโฉบหน้าเราไป ด้วยท่าทีที่สง่างาม แล้วไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้สูง จะเป็นใครอื่นไม่ได้ถ้าไม่ใช่ “นกเหยี่ยว” เรารู้แต่ว่าเป็นเหยี่ยว แต่ไม่สามารถระบุชนิดได้ เนื่องจากความรู้เรื่องนกนั้นมีติดตัวเท่าหางอึ่งจริงๆ ไม่นานก็มาถึงจุดที่เสริมและดรีมยืนรออยู่ จากนั้นก็พากันออกเดินไปตามทางมุ่งหน้ากลับที่พักพร้อมหาร่องรอยของเสือโคร่งไปด้วย
“อันนี้ใช่ขี้เสือโคร่งมั๊ย” เราชี้ไปที่รอยแห้งๆ บนพื้นดินที่เหลือแต่เส้นขนของสัตว์เป็นกระจุกๆ
“น่าจะใช่ครับ เพราะมันมีขนของเหยื่อเหลืออยู่”
“แล้วเราต้องเก็บไปมั๊ย”
บอสส่ายหน้าแล้วตอบว่า “ไม่เก็บครับ เพราะมันเก่าเกินไป”
“อ้าวหรอ แล้วมันจะต้องใหม่ขนาดไหน หรือไม่ควรเกินกี่วัน” เราถามกลับด้วยความสงสัย
“ก็ไม่ควรเกิน ๒-๓ วัน ถ้าเป็นใหม่ๆ ได้ยิ่งดีครับ เพราะว่ายิ่งหลายวัน DNA มันก็จะหายไป”
“แล้วขนสัตว์นี่เรารู้มั๊ยว่ามันกินสัตว์อะไรไป” ดรีมถามด้วยความสงสัย
“มองด้วยตาเปล่าเราไม่รู้หรอกครับ ต้องเก็บส่งแลป เพื่อให้แลปแยกว่าเป็นขนของสัตว์อะไร” เสริมช่วยตอบ
แต่ที่แน่ๆ อาหารโปรดของเสือโคร่งที่นี่จะเป็น วัวแดง กระทิง กวาง เก้ง และหมูป่า
จากจุดสำรวจชะนีเรา ๔ คน เดินกลับมาที่พักที่หน่วยยางแดงเก่า ระยะทางประมาณ 1 ก.ม. กว่าๆ เพื่อช่วยบอสตามหาขี้เสือโคร่ง
“เฮ้ย!!” เราร้องอุทานดังๆ พร้อมกระโดดหนีด้วยความตกใจ ทุกคนเองก็พลอยสะดุ้งไปด้วย
“อะไรหรอพี่” ดรีมถามด้วยความตกใจ
เราชี้นิ้วไปที่จุดเกิดเหตุ ด้วยความที่เรากำลังเดินมองหาร่องรอยเสือโคร่งบนถนนที่เดินอยู่อย่างตั้งใจ จังหวะที่ชำเลืองไปทางซ้ายมือ พบแววตาคู่หนึ่งจ้องมองเราอยู่ในพงหญ้าข้างทางระยะประชิดตัว อยู่ใกล้กันแค่มือเอื้อมถึง ลำตัวใหญ่ และยาวประมาณ ๑.๕ - ๒ เมตร
“ตะกวดน่ะสิ” เราบอก พร้อมขำออกมา
“เกือบเหยียบแล้วมั๊ยล่ะ นอนนิ่งเชียว นี่เดินเพลิน ๆ หันมาจ๊ะเอ๋กัน ตกใจหมดเลย”
แต่เจ้าตะกวดตัวเขื่องดูจะไม่มีท่าทีว่าจะตกใจพวกเราเลย ยังคงนอนนิ่งอยู่ตรงนั้น
เราเดินจนถึงที่พัก ไม่พบวี่แววรอยใหม่ของเสือโคร่งตามเส้นทาง แต่ไม่เป็นไร พรุ่งนี้เราจะไปสำรวจที่จุดใหม่กันต่อ
มาถึงที่พัก คนอื่นๆ ก็ทยอยตามมา ทุกคนก็ช่วยกันเตรียมอาหารกลางวัน บรรยากาศร่วมวงกินข้าว สนทนาดูเป็นกันเองแม้กับบางคนจะเพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกก็ตาม เราต่างเป็นคนแปลกหน้าที่เหมือนรู้จักกันมานาน
ในแต่ละวันหลังเสร็จสิ้นภาระกิจต่างๆ ทีมวิจัยและอาสาจะช่วยกันเอาข้อมูลที่สำรวจประชากรชะนีได้ มาหาพิกัดจุดตัดกัน เพื่อหาตำแหน่งที่คาดกว่าชะนีจะอาศัยอยู่
คืนนี้อากาศนอกเต็นท์เย็นสบายแต่ในเต็นท์ที่เรานอนรู้สึกว่ามันร้อนอบอ้าวเหลือเกิน เนื่องจากเรากางเต๊นท์ติดฝาผนังทำให้ลมไม่สามารถผ่านตรงจุดที่เรานอนได้ ประกอบกับบริเวณนี้ชุกชุมไปด้วยริ้นตัวเล็กๆ ที่สามารถลอดผ่านตาข่ายของเต็นท์ได้ ทำให้การหลับนอนของเราไม่ค่อยสบายนัก บริเวณแขน หน้า และคอเต็มไปด้วยตุ่มแดงจากการโดนริ้นเล่นงาน
ความสบายกายในผืนป่าเป็นเรื่องที่หายากเมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตในเมือง แค่เพียงไม่กี่วันที่เข้ามาเป็นอาสาเรารับรู้ได้เพียงบางเสี้ยวเล็กๆ ถึงความลำบากเท่านั้น เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานในป่าเกือบทุกวัน และค่าแรงที่ดูแปรผกผันกับหน้าที่รับผิดชอบ
➖➖➖➖➖➖➖
ในวันที่สองทีมชะนี (ทีม ๒ และ ๓) มีการขยับจุดสำรวจเล็กน้อย เนื่องจากจุดเดิมจะฟังเสียงไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่
“บอสมาทำงานที่นี่นานรึยัง” เราเริ่มชวนกันคุยฆ่าเวลาหลังจากที่นั่งเหงาๆ รอชะนีร้อง
“เพิ่งมาทำครับ ผมเพิ่งเรียนจบ ก็มาสมัครทำงานที่นี่เลย ชื่อของผมอยู่ที่กรม แต่ต้องมาประจำที่เขานางรำ”
“สอบเป็นข้าราชการได้หรอ”
“ไม่ได้สอบครับ ที่กรมเขาเปิดรับ TOR ผมเป็นสัญญาจ้าง ๑ ปี เท่านั้น”
“แล้วได้มาทำงานที่นี่รู้สึกอย่างไร”
“ผมชอบงานนะ แต่รู้สึกว่ามันเงียบเหงาเกินไปสำหรับผม ผมยังไม่แน่ใจตัวเองว่าจะทนอยู่ที่นี่ได้นานแค่ไหน”
บทสนทนานี้ทำให้คิดถึงผู้ชายคนหนึ่ง ที่ต้องจากบ้านมาเพื่อรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ชายคนนี้ทำงานด้วยความทุ่มเทอย่างหนักเพื่อรักษาสัตว์ป่า และป่าผืนนี้ไว้ ๒๙ ปีที่แล้ว เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ความทันสมัยยังห่างไกลปัจจุบันมากนัก แทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าผู้ชายคนนี้ต้องเสียสละ และอดทนขนาดไหน การทำงานที่ดูเหมือนต้องต่อสู้เพียงลำพัง คงเป็นความรู้สึกโดดเดียว และหมดหนทางแล้วจริงๆ เดิมพันด้วยชีวิตจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ผู้ชายที่ชื่อ “สืบ นาคเสถียร” เลือกที่จะทำ
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๕ ชั่วโมง แต่ละกลุ่มได้ยินเสียงร้องของชะนีไม่ถึง ๕ ครั้ง และเป็นระยะที่ค่อนข้างไกลมาก สุดท้ายพอมาหาพิกัด ปรากฎว่าไม่มีจุดไหนที่สามารถตัดกันเลย เป็นอันว่าวันนี้เราชวดกับผลการสำรวจชะนีไป ๑ วัน
แต่เรายังไม่โชคร้ายไปหมดซะทีเดียว จุดใหม่นี้เอง เสริมแจ้งมาทางวิทยุว่าพบขี้เสือโคร่ง ซึ่งคาดว่าจะผ่านมาแล้วประมาณ ๒-๓ วัน บอสจึงไปยังจุดที่เสริมแจ้งมา เพื่อเก็บตัวอย่างขี้เสือโคร่งส่งไปตรวจและเก็บข้อมูล DNA ต่อไป
เราวางแผนกันว่าหลังจากกินข้าวกลางวันกันเรียบร้อยแล้ว เราจะออกตามหาขี้เสือโคร่งกันต่อ วันนี้จะเป็นการเดินระหว่างเส้นทางหน่วยยางแดงเก่าและหน่วยใหม่ โดยให้แกนขับรถไปส่งถึงจุดที่ลำห้วยตัดผ่าน แล้วเดินเท้ากลับมาที่จุดพัก
“นี่งัยรอย ใช่รอยคุ้ยของเสือมั๊ย” สิงโต หนึ่งในทีมสำรวจชะนีชี้ให้ดูร่องรอยบนพื้นดิน
เสริมนั่งลงมองดูรอยคุ้ย แล้วบอก “ใช่ๆ แต่น่าจะเป็นรอยเสือดาวนะ ไม่ใช่เสือโคร่ง”
“แล้วมันแยกยังงัยว่าเสือโคร่ง หรือเสือดาว” สิงโตยังคงตั้งคำถามต่อ
“เสือดาวจะใช้ตีนคุ้ยเป็นทางตรง และรอยจะไม่ยาวมาก เพราะเสือดาวตัวจะเล็กกว่าเสือโคร่งมาก รอยคุ้ยของเสือโคร่งจะยาวกว่า และเสือโคร่งจะใช้ขาหน้าตะกุยดินเป็นรูปตัววี (\ /)” เสริมอธิบาย พร้อมกับก้มเอาจมูกดมกลิ่นที่รอยคุ้ย
“ปกติเสือดาวพอตะกุยดินเสร็จ เค้าจะฉี่บริเวณใกล้ๆ ที่รอยตะกุย เพื่อแสดงอาณาเขตต่อเสือดาวตัวอื่น” เสริมอธิบายเพิ่ม
“อันนี้ใช้ขาหน้าหรือขาหลังตะกุย แล้วเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวา” ตูนหัวหน้าทีมสำรวจชะนีรอบนี้ ที่มาแทนจักร เนื่องจากจักรติดธุระ ไม่สามารถมาในครั้งนี้ได้ถามทีเล่นทีจริง
“อันนี้ขาหลัง ข้างซ้ายแน่นอน เพราะอุ้งเท้าอยู่ตรงนี้ และตรงนี้เป็นนิ้วกลาง มันจะยาวกว่านิ้วนาง” เสริมอธิบายเพิ่มเติมพร้อมชี้ไปที่รอยเท้าประกอบคำอธิบาย
“เสือมันไม่หากินพื้นที่ทับซ้อนกัน แล้วแบบนี้มีถ้าแถวนี้มีเสือดาว แล้วจะมีเสือโคร่งในพื้นที่นี้มั๊ย” สิงโตยังตั้งคำถามต่อไป
“มันก็อยู่ได้ เพราะเหยื่อของมันไม่หมือนกัน เสือโคร่งจะล่าเหยื่อตัวใหญ่ ส่วนเสือดาวเหยื่อจะเป็นสัตว์ขนาดเล็กลงมา”
เราเดินเรื่อยๆ มาจนถึงจุดพัก ไม่พบร่องรอยของเสือโคร่ง และวันพรุ่งนี้เราจะเปลี่ยนไปเดินเลียบลำห้วยแทน
➖➖➖➖➖➖➖
วันที่ ๓..วันนี้กลุ่มเราขยับจุดเข้ามาจากจากจุดเดิมประมาณ ๑๐๐ เมตร เนื่องจากจุดที่แล้วเราได้ยินเสียงชะนีเบามาก หลังจากก่อกองไฟเพื่อไล่แมลงเหมือนเช่นทุกวัน วันนี้จุดนี้คึกคักน่าดู แต่ไม่ใช่เสียงชะนีนะ เป็นกลุ่มนกปรอดฝูงใหญ่กำลังปาตี้กับลูกไม้กันอย่างเมามัน
“บอส พี่วานอะไรหน่อยสิ” สิงโตพูดทำหน้าขึงขัง
“อะไรหรอพี่” บอสถามด้วยความสงสัย
“ช่วยเอานกพวกนี้ไปเก็บที นี่มันร้องกันซะจนไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย”
“วันนี้มันจัดปาร์ตี้กันหรือเปล่า เมื่อวานไม่เห็นมีแบบนี้” เราช่วยเสริมแบบขำๆ
พอแว่วๆ เสียงชะนีตัวผู้ร้อง เราก็ตั้งใจฟังชะนีตัวเมียที่จะขึ้นต่อ แต่สุดท้ายแทบจะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย เพราะปาร์ตี้นกปรอดกลบเสียงชะนีซะสนิท
ระหว่างรอชะนีอย่างเหงาๆ เราก็เดินเล่นไปมา นั่งมองพื้น มองใบไม้ใบหญ้าข้างทางไปเรื่อย
“บอสๆ นี่แมงมุมอะไรอ่ะ แปลกดี” เราตะโกนถามพร้อมเชื้อเชิญให้มาดูด้วยกัน บอสเรียนจบวนศาสตร์ เอกแมลง เดินมามองดูด้วยความสนใจ
“เอ... ตัวแบบนี้ผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน เดี๋ยวถ่ายรูปเอากลับไปให้ผู้รู้ช่วยดูอีกที” เราพยายามถ่ายรูปแมงมุมกันอยู่นานมาก เพราะตัวมันเล็ก แล้วเจ้ามือถือนี่ก็ไม่ยอมโฟกัสที่แมงมุมให้สักที กว่าจะได้รูปเล่นเอาเหงื่อตก
ลักษณะเจ้าแมงมุมตัวนี้หน้าตาก็เหมือนแมงมุมทั่วไป แต่ส่วนก้นนี่แหละที่แปลก เพราะลักษณะก้นเหมือนทากที่ดูดเลือดจนอิ่มแปล้ แต่ปลายก้นกระดกเหมือนแมงป่อง
“โอ๊ย... ถ่ายไม่ได้สักที เดี๋ยวเอากลับไปด้วยซะนี่” บอสพูดขำๆ แล้วก็พยายามถ่ายต่อจนสำเร็จ
เจ้าแมงมุมเลยรอดตัวไป
ไม่น่าเชื่อว่า ต้นไม้ ๑ ต้น และพื้นที่ใต้ต้นไม้ เพียง ๑ ตารางเมตร เราจะพบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากมาย มด แมลง ไส้เดือน ผีเสื้อ แมงมุม ตั๊กแตน ปลวก ต้นไม้เล็กๆ เห็น รา และอาจมีชีวิตอื่นอีกมากมายที่เราไม่ทันสังเกตุเห็น แต่เชื่อว่าทุกชีวิตล้วนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างขยันขันแข็ง
เราออกจากจุดประมาณ ๑๑.๓๐ น. เพราะความเงียบสงบไร้เสียงชะนีร้อง ทุกกลุ่มเลยตัดสินใจเลิกภาระกิจก่อนเวลาเที่ยง เพราะหลังจากกินข้าวกลางวันเสร็จวันนี้เราจะตามล่าหาขี้เสือโคร่งกันต่อ
วันนี้จุดที่ ๑ ที่มี แกน ดล และ เอโกะ อยู่ประจำกลุ่ม ถึงกับส่งกระดาษเปล่ากันเลยทีเดียว ส่วนกลุ่ม ๔ ที่มี ตูนและไก่ ประจำกลุ่มได้ยินมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็ไประยะไกลๆ เช่นกัน แต่วันนี้ไม่โชคร้ายเหมือนเมื่อวาน เสียงที่ได้ยินจาก ๓ กลุ่มที่เหลือ สามารถลากเส้นพิกัดมาตัดกันได้ และพบว่ามีชะนีเพียง ๒ กลุ่มเท่านั้นที่เราได้ยิน
วันนี้เส้นทางตามล่าหาขี้เสือโคร่งคือเดินเลียบลำห้วยจากจุดที่แกนขับรถไปส่งเมื่อวาน จนไปถึงจุดที่พัก
“วันนี้น่าจะได้บ้างล่ะน่า ปกติจะพบรอยแถวๆ ริมห้วยบ่อยๆ” เสริมพูดให้ความหวังบอส หลังจากผ่านมา ๒ วัน แล้วเก็บได้แค่ ๑ หลอด
พอมาถึงจุดที่แกนมาส่ง เสริมและตูนก็พากันเดินลงไปในลำห้วย เราและดรีมก็เดินตามลงไป
“เฮ้ยๆ เดี๋ยวนะ นี่เสือมันจะขี้ในน้ำหรอ” ดรีมตะโกนถามเมื่อเห็นสองหนุ่มเดินลุยน้ำลงไป
เสริมหันมายิ้ม ส่ายหน้าเบาๆ “ไม่ครับ”
“อ้าวแล้วลงไปทำไม นึกว่าเสือขี้แล้วต้องลงไปล้างก้นซะอีก” เราพูดไปขำไป เพราะนึกขึ้นได้เหมือนกันว่าจะลงไปหาขี้เสือในน้ำทำไม
“อ่อ ข้างบนมันรกครับ เสือมันก็ไม่เดินเหมือนกัน” เสริมพูดเสร็จก็เดินวกขึ้นฝั่ง
สรุปว่าเดินบนบกนั่นแหละเลียบลำห้วยไปเรื่อย บางช่วงที่บนบกรกมากๆ หญ้าท่วมหัวก็วกกลับลงลำห้วยต่อ
ในบางช่วงของริมลำห้วยเราพบรอยตีนสัตว์มากมาย พบรอยคุ้ยเขี่ยดินจนร่วนซุ่ย คาดว่าจะเป็นหมู่ป่า พบขี้ช้าง ร่องรอยแทะลูกไม้
“นี่รอยตีนอะไรอ่ะ” ดรีมถาม พร้อมก้มมองอย่างสนใจ
“อ่อ อันนี้นกยูง” เสริมหยุดดู แล้วเดินต่อไป
“อันนี้ล่ะ เหมือนมันมี ๔ นิ้วยาวๆ ด้วยนะ” ดรีมยังคงให้ความสนใจกับรอยเท้าบนพื้นทรายเลียบลำห้วย
“อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ รอยมันเก่าเกินไปดูไม่ออกเหมือนกัน”
ตลอดทางเราให้ความสนใจกับรอยเท้าและสนุกสนานกับการเดินขึ้น เดินลงลำห้วย บางช่วงน้ำตื้น บางช่วงน้ำลึก บางทีก็เหยียบหินลื่นล้มบ้าง บางช่วงก็ทุลักทุเลพอสมควร เดินสักพักฝนก็เริ่มตกปรอยๆ และตกหนักขึ้นๆ จนเปียกปอนไปตามๆ กัน สุดท้ายวันนี้ก็ไม่ได้ขี้เสืออีกตามเคย
น้ำในลำห้วยขาแข้งใส และเย็น ดูสงบแต่มีมนต์เสน่ย์ ไม่แปลกใจที่เคยได้ยินคนบอกว่าถ้าได้ข้ามลำขาแข้ง จะต้องได้กลับมาที่ห้วยขาแข้งอีกแน่นอน เพราะสายน้ำนี้ไม่เหมือนสายน้ำทั่วไป สองฝั่งของสายน้ำนี้เต็มไปด้วยร่องรอยของสัตว์ป่ามากมาย หลายชีวิตพึ่งพิงสายน้ำนี้ และสายน้ำนี้อาจเป็นจุดจบของชีวิตหนึ่ง เพื่อต่อลมหายใจให้อีกหลายชีวิตเช่นกัน
“วันนี้สุดๆ แระ เหนื่อยดี แต่สนุกด้วย หนูชอบมากเลย” ดรีมพูดขึ้นพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า
เห็นจะจริง มันเป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าสุดๆ หากเราไม่ได้เป็นอาสาสมัครมาช่วยทีมวิจัยชะนีก็คงไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสสายน้ำแห่งชีวิตนี้อย่างแน่นอน
วันนี้หลังจากทำกับข้าวเสร็จ เราก็แอบไปนอนเล่นในเปลที่ผูกไว้ ตั้งใจจะนอนเล่นสักพักแต่เอาเข้าจริงนี่หลับจริงจังมาก
“พี่เอ๊ะคงจะเหนื่อย ปล่อยแกนอนไปเถอะ เดี๋ยวแกตื่นก็ลุกเข้าเต๊นท์เอง” แว่วๆ ได้ยินเหมือนเสียงตูนพูดขึ้น
รู้สึกตัวอีกทีก็เกือบๆ เที่ยงคืน แต่ด้วยความสบายของการนอนเปล คือไม่ถูกรุกรานจากริ้น เลยนอนต่อไปเรื่อย จนเกือบตีสาม
“ทำไมเปลมันเปียกๆ เอ๊ะรึเราจะฉี่ราดไม่รู้ตัว”
เริ่มขยับตัว ขยับปลายเท้า และสัมผัสได้ว่า อ้าวขาก็เปียกแฮะ ชัวร์เลยฝนตกนี่นา
ด้วยความที่ผูกเปลไว้ชายหลังคา ด้านหัวอยู่ในหลังคา แต่ปลายเท้ายื่นออกไปอยู่ชายหลังคาพอดี น้ำฝนจากหลังคาจึงหยดลงปลายเท้า แล้วซึมมาจนเกือบถึงหลัง จำใจต้องลุกจากเปลไปนอนกับริ้นในเต๊นท์เช่นเดิม
➖➖➖➖➖➖➖➖
วันสุดท้ายของภาระกิจสำรวจชะนี ทุกทีมลุกขึ้นเตรียมตัวทั้งๆ ที่ไม่อยากจะลุกออกจากที่นอนกันเลยทีเดียว ฝนพรำๆ ตั้งแต่ดึกจนรุ่งเช้านี่ช่างเป็นบรรยากาศที่ควรจะได้ซุกตัวในถุงนอน
เช้านี้ฝนยังคงตกพรำๆ ในบางช่วง ตอนแรกคิดว่าจะไม่ได้ยินเสียงชะนีแล้ว ขนาดเรายังขี้เกียจตื่น ชะนีเองก็น่าจะขี้เกียจตื่นเช่นกัน แต่ป่าวเลย วันนี้กลุ่มเราได้ยินเสียงชะนีมากกว่าทุกวันจับทิศทางแล้วน่าจะมีถึง ๔ กลุ่มด้วยกัน
 
แต่ที่ขี้เกียจตื่นน่าจะเป็นกลุ่มนกปรอดที่ปาร์ตี้กันเมื่อวาน วันนี้ฟ้าครึ้มๆ บรรดานกทั้งหลายจึงไม่ออกมาสังสรรค์เช่นเคย
ภาระกิจสำรวจชะนีวันนี้เลิกเร็วกว่าทุกวันนิดหน่อย เพราะพวกเราจะต้องกลับไปเก็บของ และเตรียมตัวเดินทางออกจากพื้นที่
ตูน แกน และสิงโต ออกมาส่งทีมอาสา จัดหาเสบียงเพิ่มเติม พร้อมกับต้องรอรับทีมอาสาชุดใหม่ที่จะมาถึงในวันที่ ๑๒ กันยายน
เสริม ดล และบอส รออยู่ที่หน่วยยางแดงเก่า และวันที่ ๑๒ นี้ก่อนทีมอาสาชุดใหม่จะมาถึงพื้นที่ในช่วงเย็น ทั้ง ๓ คน ยังมีภาระกิจตามล่าหาขี้เสือโคร่งกันต่อไป ซึ่งตามแผนคือจะเดินไปจนถึงหน่วยยางแดงใหม่
ขากลับออกไปเราและไก่ขอนั่งท้ายกระบะ เพราะอยากเก็บบรรยากาศของห้วยขาแข้งก่อนออกจากพื้นที่ ทีนี้คงอีกหลายเดือนกว่าจะได้กลับมาที่ห้วยขาแข้ง และไม่รู้จะอีกนานแค่ไหนที่จะมีโอกาสกลับมาที่สายน้ำแห่งชีวิตนี้อีก หรือบางทีนี่อาจจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่จะมีโอกาสดีๆ แบบนี้
➖➖➖➖➖➖➖
โฆษณา