6 ต.ค. 2020 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป วิธีการซื้อหุ้นต่างประเทศ หุ้นที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
เมื่อไม่กี่วันก่อน หลังจากที่ลงทุนเกิร์ลลงข่าวการขายหุ้นวันแรกของ Big Hit
ค่ายเพลงในประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้ดูแลกลุ่มศิลปินชื่อดังอย่าง BTS
ซึ่งหนึ่งในคำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเราอยากเป็นเจ้าของหุ้น Big Hit เราต้องทำอย่างไร?
โดยทั่วไป การเป็นเจ้าของ “หุ้น” บริษัทไหน
ก็เปรียบได้กับการที่เรามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทนั้น
แม้คำว่าหุ้นต่างประเทศ ฟังแล้วอาจดูไกลตัว
แต่จริงๆ แล้ว สินค้าและบริการของบริษัทต่างประเทศ อาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ลองเริ่มดูจากสินค้ารอบๆ ตัวเรา
โทรศัพท์มือถือ iPhone, แท็บเล็ต iPad, หรือ นาฬิกาอัจฉริยะ Apple Watch
ทั้งหมดนี้เป็นสินค้าของแอปเปิล ซึ่งเราสามารถร่วมเป็นเจ้าของบริษัทนี้ได้ ผ่านการถือหุ้น AAPL
แต่ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
เราก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของด้วยการถือหุ้น GOOGL
ซึ่งยังเป็นผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจิน Google
รวมถึงชุดแอปพลิเคชัน G Suite เช่น Gmail, Google Drive หรือ Google Map เป็นต้น
แล้วถ้าเปิดโทรศัพท์ แอปพลิเคชันที่เราใช้กันเป็นประจำ
เราก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของได้เช่นกัน
1
Facebook, Instagram, WhatsApp ผ่านการถือหุ้น FB
Twitter ผ่านการถือหุ้น TWTR
Spotify ผ่านการถือหุ้น SPOT
Netflix ผ่านการถือหุ้น NFLX
Shopee และ เกมของ Garena ผ่านการถือหุ้น SE
Lazada รวมถึงแพลตฟอร์ม E-commerce จีนอย่าง Taobao, Tmall หรือ Alibaba ผ่านการถือหุ้น BABA
ส่วนในด้านการทำงาน พนักงานออฟฟิศคงคุ้นเคยกันดีกับโปรแกรม Microsoft Office
หรือแม้แต่ระบบปฏิบัติการ Windows
เราก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของ ด้วยการถือหุ้น MSFT ของบริษัท Microsoft
โดย ชื่อหุ้น ที่กล่าวไปด้านบนทั้งหมด เป็นหุ้น ซึ่งจดทะเบียนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนในด้านความสวยความงาม
เครื่องสำอางเครือ L'Oréal เช่น แบรนด์ Maybelline, Shu Uemura, NYX, Garnier
, La Roche-Posay, Vichy ฯลฯ จะเป็นหุ้น ชื่อ OR
อาณาจักรแบรนด์หรู LVMH เช่น แบรนด์ Louis Vuitton, Christian Dior, Céline, Charles & Keith, Marc Jacobs ฯลฯ จะเป็นหุ้น ชื่อ MC
อาณาจักรแบรนด์หรู Kering เช่น Gucci, Yves Saint Laurent, Bottega Veneta, Balenciaga จะเป็นหุ้น ชื่อ KER
และแบรนด์หรูเก่าแก่อย่าง Hermès จะจดทะเบียนในชื่อหุ้น RMS
ซึ่งทั้ง 4 บริษัทนี้ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของฝรั่งเศส
แต่ถ้าชอบเครื่องสำอางฝั่งตะวันออก ก็จะมีหุ้นรหัส 4911 ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นของเครือ Shiseido เช่น แบรนด์ Clé de Peau, Nars, Laura Mercier เป็นต้น
หรือหุ้นรหัส 090430 ในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้
อย่างบริษัท Amorepacific ที่เป็นเจ้าของแบรนด์
เช่น Sulwhasoo, Laneige, Etude House, Innisfree เป็นต้น
 
นอกจากนั้นตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ ยังมีค่ายเพลงชื่อดัง
รหัส 122870 ของ YG Entertainment ต้นสังกัด Big Bang และ Blackpink
รหัส 041510 ของ SM Entertainment ต้นสังกัด NCT, EXO, Super Junior, Girls’ Generation
รหัส 035900 ของ JYP Entertainment ต้นสังกัด 2PM, GOT7, Twice
รวมถึง Big Hit Entertainment ต้นสังกัด BTS ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นรายต่อไป
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหุ้น และตัวอย่างธุรกิจของแต่ละบริษัทเท่านั้น
ซึ่งถ้าเราต้องการจะลงทุนในหุ้นของแต่ละบริษัทจริงๆ
เราก็ควรจะศึกษารายละเอียดลักษณะธุรกิจ รวมถึงผลประกอบการให้ดีก่อนตัดสินใจนะคะ
หลังจากเลือกหุ้นได้แล้ว ก็กลับมาสู่คำถามตอนต้น
เราจะซื้อหุ้นเหล่านี้ได้อย่างไร?
ในกรณีของหุ้นประเทศไทย สิ่งที่เราทำก็เพียงแค่เข้าไปติดต่อโบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อเปิดพอร์ตซื้อขายหุ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องเลือกโบรกเกอร์ ให้เหมาะกับความต้องการด้วยนะคะ
เพราะแต่ละที่ ก็จะมีอัตราค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขการบริการที่ต่างกัน
นอกจากนั้น อีกหนึ่งทางเลือกก็คือ การลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” ที่ไปลงทุนในหุ้นที่เราสนใจ
ซึ่งความแตกต่างระหว่างการลงทุนในหุ้นโดยตรง กับ กองทุนรวม คือ
กรณี กองทุนรวม เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทโดยตรง
แต่การซื้อกองทุนรวม จะเหมือนการกระจายความเสี่ยงไปในตัว
เพราะกองทุน จะลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวม มักจะมีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนเพิ่มเติมด้วย
ส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ จริงๆ แล้ว หลักการก็ไม่ต่างกัน
เราสามารถซื้อหุ้นต่างประเทศ โดยการเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศกับโบรกเกอร์ที่ให้บริการ
หรืออีกกรณีก็คือ ถือผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่เราสนใจ
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจากเราจะต้องแลกเงินเป็นสกุลเงินของประเทศนั้นก่อน
เช่น ถ้าเราอยากซื้อหุ้นของสหรัฐอเมริกา เราก็ต้องมีเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเสียก่อน
ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน ก็มักจะผันผวนตามแต่ละช่วงเวลา
อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า แม้จะเป็นหุ้นต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วมีความใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
ซึ่งเรื่องนี้ ก็เป็นหนึ่งในเคล็ดลับของผู้จัดการกองทุนระดับโลกอย่าง Peter Lynch
Peter Lynch สามารถบริหารกองทุน 600 ล้าน สู่ 460,000 ล้านบาท
คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ย 29% ต่อปี ภายในเวลาเพียง 13 ปี
และเคล็ดลับในการลงทุนของเขา ก็ง่ายมากๆ นั่นก็คือ
“ลงทุนจากสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน”
ลองสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวเรา แล้วลงทุนในสิ่งที่เราคุ้นเคย
มันจะทำให้เราเข้าใจธุรกิจนั้นได้ง่ายขึ้น
และช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนได้
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
โฆษณา