3 ต.ค. 2020 เวลา 16:03 • บันเทิง
Enola Holmes
Enola Holmes เป็นภาพยนตร์ original Netflix ที่ถูกพูดถึงมากพอสมควร ส่วนหนึ่งเพราะ Sherlock Holmes เป็น Character ที่เป็นที่รักมาตั้งแต่เป็นนิยาย จนมาถึงภาพยนตร์ และซีรี่ย์ เมื่อมีตัวละครในครอบครัวโฮล์มส์ออกมาโลดแล่นจึงเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวโฮล์มส์เอง
Enola Holmes อาจทำให้คนที่รอดูหนังสืบสวนสไตล์ Sherlock Holmes ต้องผิดหวัง เพราะมีความเป็นหนังสืบสวนน้อยมาก แค่พอเป็นน้ำจิ้มว่าสาวน้อยคนนี้เป็นคนของครอบครัวโฮล์มส์เท่านั้นเอง
แต่ประเด็นที่แข็งแรงของหนังเรื่องนี้ที่ดูแล้วทำให้อยากตามดู อยากเอาใจช่วยตัว Enolaคือประเด็นการเมืองที่เข้มข้น ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม และการเมืองสมัยใหม่
เรื่องราวของEnola เกิดในยุควิคตอเรีย ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของอังกฤษ เพราะเริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างมาก และอีกสิ่งหนึ่งที่แข็งแกร่งมากในยุคนั้นคือระบบศักดินา ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองเท่านั้นที่มีสิทธิ์ออกเสียง หรือเลือกตั้งในสภา
ในตอนหนึ่งของเรื่องมีตัวละครหนึ่งพูดว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้หากให้ชนชั้นล่างมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง หรือออกเสียงผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษา และไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับกลุ่มคนชั้นสูง นอกจากชนชั้นล่าง (ตามนิยามในสมัยวิคตอเรีย) ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์และเสียงใด ๆ คือผู้หญิง
จะเห็นได้ว่า Eudoria แม่ของ Enola และกลุ่มเพื่อน ๆ กำลังเคลื่อนไหวบางอย่างที่เกี่ยวกับการเมืองอยู่ และ Edith เพื่อนของ Eudoria ก็กำลังฝึกผู้หญิงให้ต่อสู้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้เกิดขึ้นในสมัยวิคตอเรีย
ผู้หญิงที่ดีในสมัยนั้น “ต้อง” อยู่ในโอวาทสามี หรือพี่ชาย เรียนงานบ้านงานเรือน เพื่อไปเป็นแม่ และเมียที่ดีเท่านั้น ไม่ได้รับโอกาสให้ร่ำเรียนมากนัก ตัวละคร Enola จึงเป็นตัวที่แหกขนบของยุคสมัยอย่างสิ้นเชิง
ชื่อ Enola เมื่อเรียงกลับหลังจะเป็นคำว่า Alone แน่นอนว่าไม่ใช่การตั้งชื่อเอาสนุกของแม่ผู้ชื่นชอบเกมปริศนาอักษร หากใครเป็นแฟน Sherlock Holmes ฉบับนิยายจะจำได้ว่า Sr. Arthur Conan Doyle ไม่เคยพูดถึงน้องสาวของ Sherlock Holmes มีเพียง Mycroft และ พี่ชายหรือน้องชายที่คนอ่านคาดการณ์ว่ามี แต่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงในนิยาย
จึงพออนุมานเอาได้ว่าตัว Enola ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกบฏต่อสังคมอย่างแท้จริง และ Alone นั้นยั่วล้อกับวัฒนธรรมวิคตอเรียอย่างเจ็บแสบ
ในเรื่องแม่ของ Enola พูดว่า “ลูกจะอยู่คนเดียวได้สบายมาก เอโนลา” แต่ความจริงในสมัยวิคตอเรียหญิงสาวไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่คนเดียว หรืออยู่อย่างอิสระ
พวกหล่อนต้องเรียนการเป็นสุภาพสตรีที่งดงาม เก่งงานบ้านงานเรือน ยิ้ม หัวเราะ เคลื่อนไหว รับประทานอาหาร ตามแบบฉบับกุลสตรีเพื่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิตก็คือการแต่งงานเพื่อไปเป็นแม่และเมีย อยู่ในโอวาทของสามีโดยที่ไม่มีสิทธิ์ใด ๆ หากยังไม่แต่งงานก็จะต้องอยู่ในปกครองของพี่ชายคนโต
Enola จึงต้องอยู่ในปกครองของ Mycroft เมื่อแม่หายไป แต่เธอถูกสอนมาเสมอว่าให้เลือกเส้นทางของตัวเอง ชีวิตของเธอขึ้นอยู่กับตัวเธอเอง และเธอจะมีสองทางเลือกเสมอคือทางที่เธอเลือกเอง หรือทางที่คนอื่นเลือกให้
และในที่สุด Enola ก็เลือกด้วยตัวเอง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่กล้าหาญมากสำหรับหญิงสาวในยุคนั้น
Enola ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการยืนหยัดเลือกทางเดินชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่เธอยังเป็นกระบอกเสียงที่บอกกับผู้หญิงว่า “ร่างกายของเธอเป็นปกติดี ตราบที่เธอมีความสุขกับมัน”
ในฉากต้นเรื่องที่ Enola ต้องวัดตัวตัดชุด และถูกคุณครูเจ้าของโรงเรียนการเรือนติว่าหน้าอก กับสะโพกเล็กไป ต้องใส่คอเซทเสริม เธอก็ปฏิเสธออกมาอย่างชัดเจนว่ามันไม่ได้มีปัญหาอะไร
และชุดคอเซทในมุมมองของ Enola คือเครื่องกักขัง เพราะการใส่คอเซทนั้นค่อนข้างทรมาน เพื่อให้ร่างกายภายใต้ชุดสวยงามมีทรวดทรงมากที่สุด เพื่อให้ดูเป็น “แม่พันธุ์” ที่สมบูรณ์ในการผลิตลูกนั่นเอง
แต่ในทัศนะของคุณครูเจ้าของโรงเรียนซึ่งยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมบอกว่าชุดคอเซทจะทำให้ธอได้รับอิสระภาพ นั่นอาจหมายถึงอิสรภาพในการออกจากครอบครัวของตัวเอง เพื่อไปเป็นเมีย และแม่ในครอบครัวใหม่
วัฒนธรรมที่เข้มงวดมากอีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้นคือการใส่หมวก สวมถุงมือ และเก็บมวยผมให้เรียบร้อย แต่ Enola ไม่เคยใส่หมวก ไม่เคยสวมถุงมือ เมื่อใช้ชีวิตปกติ และปล่อยผมเกือบตลอดเรื่อง
เธอเป็นตัวละครที่ทำให้คนดูเห็นเสมอว่าเธอไม่เคยสนใจสายตาของผู้คนรอบข้างเลย เธอเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามแบบที่เธอเลือก ซึ่ง Sherlock ก็ได้พูดกับเธอในตอนหนึ่งว่า “เธอตัดสินใจเลือกเองได้เสมอ ไม่ว่าสังคมจะว่ายังไง มันควบคุมเธอไม่ได้”
Enola เป็นหญิงสาวยุควิตอเรียนที่ถูกเลี้ยงมาด้วยแม่ที่มีความคิดนำสมัย เธอไม่ได้เรียนเย็บปักถักร้อยเหมือนเด็กสาวทั่วไปในยุคนั้น แต่ได้เรียนหนังสือ ได้อ่านวรรณกรรม ได้อ่านประวัติศาสตร์ ได้เรียนศิลปการต่อสู้ เล่นกีฬาและเรียนศิลปะ
ในตอนท้ายของเรื่องที่แม่ลูกมาเจอกัน Eudoria พูดกับ Enola ว่า “แม่ทนให้โลกแบบนี้เป็นอนาคตของลูกไม่ได้” จากตัวเรื่องที่เราตามดูกันมาตลอดพอจะเดาได้ว่าแม่ของเธอเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างแน่นอน
และ Enola ถูกเลี้ยงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกใหม่ที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบวิคตอเรียน เมื่อ Sherlock พูดกับน้องสาวว่า “บางทีแม่อาจอยากเปลี่ยนโลก” แต่ Enola กลับตอบว่า “โลกต่างหากที่ต้องเปลี่ยน” ยิ่งทำให้เห็นว่า Enola ไม่ได้มีความคิดแบบหญิงสาวในยุคเดียวกัน
“เราต้องส่งเสียง ถ้าอยากให้คนอื่นรับฟัง” ประโยคที่แม่พูดกับ Enola เหมือนเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่าหากอยากเปลี่ยนแปลง อยากมีที่ยืน อยากให้คนอื่นมองเห็น อยากให้คนอื่นได้ยิน เราต้องแสดงตัวออกมา
แม้ว่าตัว Enola ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองมากนักในเรื่อง แต่ทุกพฤติกรรมของเธอแหกทุกขนบของสตรีวิคตอเรียนเลยทีเดียว
เรื่องการเมืองกับชนชั้นกลาง และชนชั้นสูงผู้มีอันจะกินถูกหยิบมาพูดในบทสนทนาของ Edith และ Sherlock เขาบอกว่าไม่สนใจการเมืองเพราะมันน่าเบื่อ
แต่ Edith ไม่ได้คิดเช่นนั้น หล่อนคิดว่าการที่เขาไม่สนใจการเมืองเพราะเขามีชีวิตที่อยู่สุขสบายดีอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าโดนระบบเอาเปรียบ หรือต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรในชีวิตที่มันดีอยู่แล้ว Sherlock จึงกลายเป็น Ignorance ไปโดยปริยาย และชนชั้นกลางขึ้นไปส่วนใหญ่ในสมัยนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับเขา
อีกประเด็นที่ช็อกคนดูก็คงไม่พ้นย่าของ Viscount Tewksbury ที่สั่งฆ่าหลานของตัวเอง เพราะรู้ว่า Tewksbury จะเป็นหนึ่งเสียงในสภาที่รองรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ให้ทุกคนมีโอกาสได้เลือกตั้ง และให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน
แต่ย่าของ Tewksbury มีความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรมาก และไม่ต้องการให้คนรุ่นใหม่นำความคิดทางการเมืองแบบใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของอังกฤษ กลายเป็นว่าคนในบ้านต้องมาฆ่ากันเองด้วยเหตุผลทางการเมือง ความจงรักภักดีนั้นทำได้ทั้งสร้าง และทำลายในเวลาเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ตามที่ Tewksbury พูดกับย่าว่า “หมดยุคสมัยของย่าแล้ว” สุดท้าย Tewksburyก็ได้เข้าไปเป็นหนึ่งเสียงในสภาที่ออกเสียงรับรองร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ถ้ายังไม่ได้ดูและอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะรู้สึกว่านี่มันหนังการเมืองชัด ๆ แต่แกนเรื่องหลักของ Enola Holmes เป็นหนังComing of age ของเด็กสาวคนหนึ่งที่กำลังต้องเติบโตไปเป็นหญิงสาว กับเงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับการอภิบาลจากแม่เหมือนเคย
หลายครั้งที่เธอต้องตัดสินใจเปลี่ยนสิ่งที่จะต้องเผชิญ ตั้งแต่การหนีพี่ชายทั้งสองออกจากบ้าน การหันกลับไปช่วยชีวิต Tewksbury หรือตอนที่เธอตัดสินใจพา Tewksbury กลับไปหาความจริงที่คฤหาสล้วนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการตัดสินใจที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว และเธอก็ทำได้สมกับที่ถูกฝึกมาให้เป็นนักสู้จริง ๆ
เสน่ห์ของเรื่อง Enola Holmes ที่โดดเด่นมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือวิธีการเล่าเรื่องจากบุรุษที่ 1 ไม่ใช่ God eyes view เหมือนกับหนังทั่วไป การส่ง eyes contact โดยตรงระหว่าง Enola กับผู้ชมทำให้รู้สึกเหมือนว่าเธอกำลังคุยกับผู้ชม ทำให้เรารู้สึกผูกพันธ์กับตัวละคร เหมือนการนั่งฟังเพื่อนเล่าเรื่องราวที่เกิดในชีวิต และได้ติดตาม ได้ช่วยเธอตัดสินใจ
เป็นมุมมองการเล่าที่ไม่ได้พบเจอบ่อยนักในการทำหนัง ประกอบกับแววตาและน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยพลังของ Millie Bobby Brownยิ่งทำให้ตัวละคร Enola มีมิติ ดูเป็นเด็กสาวที่ฉลาดปราดเปรื่องสมกับเป็นน้องสาวของนักสืบชื่อดัง และทำให้คนดูตกหลุมรักเธอได้ไม่ยาก
แต่ถ้าหากใครเป็นแฟน Sherlock Holmes และหวังจะเห็นมุมเท่ ๆ ของหนังสืบแห่ง Baker Street ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะเรื่องนี้เขาเป็นตัวละครที่ส่งบทให้ให้ Enola ได้โดดเด่น และคอยกระตุ้นให้เธอใช้ความสามารถปราดเปรื่องนั้นไขปริศนาเรื่องที่เธอกำลังเผชิญ
แฟน Sherlock Holmes รู้ดีว่าเขาไม่เคยยอมรับผู้หญิงคนไหน (อาจจะเป็นเพราะบริบทสังคมในสมัยนั้น) แต่ฉากที่ตำรวจเลสเตอร์บอกเขาว่าน้องสาวของเขาเป็นคนไขปริศนาได้ก่อนเขา เขาแสดงความภูมิใจออกมาอย่างชัดเจน นั่นก็แสดงว่าเขายอมรับในความสามารถของน้องสาวแล้ว
สุดท้ายคือหากใครมองหาฉากโรแมนติกระหว่างหญิงสาวหัวขบถ กับท่านมาควิสก็คงต้องผิดหวังเช่นกัน เพราะฉากน่ารัก ๆ ระหว่างตัวเอกสองคนนี่มีน้อยนิดเหลือเกิน
ถ้าจะหักคะแนนก็คงขอหักตรงนี้ เพราะแอบรู้สึกเสียดายความน่ารักของทั้งคู่ แอบอยากให้มีฉากน่ารัก ๆ มากกว่านี้หน่อย แต่ท้ายที่สุดจริง ๆ ก็นับถือใจ Enola เพราะ Tewksbury ชวนเธอไปอยู่ด้วย เธอเลือกที่จะปฏิเสธและไปใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดายบนเส้นทางของเธอต่อไป
การตัดสินใจในฉากนี้เห็นได้ชัดว่าเธอไม่ใช่เด็กสาวอีกต่อไป แต่ Enola เติบโตเป็นหญิงสาวด้วยวิธีคิด และวิถีชีวิตของเธอ “My life is my own and the future is up to us”
โฆษณา