4 ต.ค. 2020 เวลา 12:51 • ศิลปะ & ออกแบบ
เอกลักษณ์ของชุดลูกปัดโนรา
ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
โนรา ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความสะดุดตาหรือรู้จักอย่างแม่นยำของความเป็นโนรา ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการแสดงอื่นๆ มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น คือ เครื่องแต่งกายชุดลูกปัดที่มีสีหลากหลาย มีวิธีผูกมัดร้อยทีละเม็ดจนเป็นรูปตัวเสื้อ และสร้อยระย้าพริ้วไหวสะดุดตา ก่อนจะเป็นศิลปะและความงดงามจนเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวนั้น ภูมิปัญญาของการสร้างตัวเสื้อลูกปัดนี้ มีวิวัฒนาการและพัฒนาการของการประดิษฐ์มาเป็นเวลานาน จนถึงเกิดวัฒนธรรมการสวมเสื้อชุดลูกปัดโนรา ซึ่งนิยมใช้ในศิลปะการแสดงโนราของภาคใต้
ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงบ่อบ่มเพาะภูมิปัญญาชาวใต้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากสภาวะธรรมชาติทางธรณีวิทยา ว่าชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่อยู่ฝั่งตะวันตกพบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และชุมชนโบราณตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งทั้งสองแห่งนี้พบหลักฐานที่แสดงว่าส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากภูมิปัญญาของคนภายนอก (อาหรับ อินเดีย กรีก โรมัน) เด่นชัดกว่าภูมิปัญญาของคนภายใน เช่น การผลิตลูกปัด เครื่องประดับ ตราประทับ
แสดงให้เห็นว่าลูกปัดที่ปรากฏในภาคใต้ก่อนจะพัฒนามาเป็นตัวเสื้อสมบูรณ์ จะต้องมีพัฒนาการเป็นเครื่องประดับส่วนอื่นมาก่อนและส่วนหนึ่งจะต้องได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ ซึ่งมาติดต่อค้าขาย จนกระทั่งได้มีวิธีการปรับประยุกต์ ทำลูกปัดขึ้นมาใหม่ตามวัสดุที่มีในท้องถิ่น ของยุคสมัยนั้นจนมีลูกปัดใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนทำเป็นเครื่องประดับในเวลาต่อมา
สร้อยลูกปัดหินและแก้วต่างๆ เขาสามแก้ว, ที่มา: สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก
อมรา ศรีสุชาติ ได้ศึกษาถึงเครื่องประดับลูกปัดของภาคใต้ในอดีต ปรากฏ่ามีนักโบราณดคีได้พยายามศึกษา ค้นคว้าหลักฐานด้านโบราณวัตถุเพื่อความสัมพันธ์ของการใช้ลูกปัดกับวิถีชีวิตคนภาคใต้ ปรากฏว่าหลักฐานในทางโบราณวัตถุยังไม่พบเครื่องประดับคอ ในลักษณะสร้อยคอ หรือห่วงคอ แต่พบลูกปัดซึ่งมีรูปแบบและทำจากวัตถุดิบต่างๆ จำนวนมากในแหล่งโบราณคดี ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยยุคแรกประวัติศาสตร์ซึ่งนักโบราณคดี สันนิษฐานว่า “ลูกปัด” เป็นสิ่งที่คนสมัยโบราณทำขึ้นเพื่อนำมาเรียงร้อยต่อกันเป็นสายยาว เพื่อสวมใส่เป็นสร้อยคอ เครื่องประดับคอหรือสร้อยคอที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ทำมาจากลูกปัดเปลือกหอยพบเป็นหลักฐานในแหล่งขุดค้นที่มีอายุไม่น้อยกว่า ๖,๕๐๐ ปีมาแล้ว
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จ.สุราษฏร์ธานี มีสร้อยคอและสังวาลย์ร้อยด้วยลูกปัดเป็นลูกประคำ
พรชัย สุจิตต์ ได้ศึกษาค้นคว้าลูกปัดในอดีต-ปัจจุบัน ได้กล่าวถึงลูกปัดและแหล่งผลิตในภาคใต้ว่า ในระหว่าง ๑,๕๐๐-๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว มีเมืองเก่าโบราณที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ที่มีหลักฐานการค้ากับทะเลทั้งทางตะวันตก และตะวันออก มีการพบกลองมโหระทึกสำรึด ลูกปัดหินอะเกต ควอทซ์ คาร์นิเลียน เอทซ์คาร์นิเลียน บ้างก็มีการจารึก บนลูกปัด คาร์นิเลียนรูปแท่งปริซึมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๐.๙๐.๔๕ ซม. เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งคุณก่อแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณอ่านว่า อขิทโร แปลว่า แข็งแรง ไม่อ่อนแอ นอกจากนี้ยังพบลูกปัดทองคำหินที่ยังไม่ได้ทำเป็นลูกปัด และปัดหินที่ยังไม่ได้เจาะรูป ซึ่งบ่งบอกถึงการค้าวัตถุดิบ ซึ่งจะนำเอามาทำเป็นลูกปัด แหล่งสำคัญอีกแหล่งหนึ่งในภาคใต้ คือ ที่ควนลูกปัด อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ที่พบลูกปัดประเภทเดียวกับที่พบเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และนอกเหนือจากนั้น ยังพบตราประทับอักษร ปัลลวะ ภาษาสันสฤตจากอินเดียใต้ ลูกปัดแก้วที่เขียนเส้นสีรูปหน้าตาคน การค้นพบเทวรูปต่างๆ ในภาคใต้ เช่น พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ๒ กร พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นรูปที่มีความสวยงามที่สุดองค์หนึ่ง ประดับพระศอด้วยสร้อยสังวาลย์ เป็นรูปลูกประคำร้อยเป็นเส้นหรือ พระวัชรสัตว์โพธิสัตว์ ซึ่งขุดค้นพบที่อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ซึ่งเป็นศิลปกรรมพื้นเมือง ภาคใต้ยุคศรีวิชัย เช่นเดียวกับใช้ลูกประคำประดับตามลำตัวเป็นสร้อยและสังวาลย์ แสดงให้เห็นว่าลูกปัด มีลักษณะกลมเหมือนลูกประคำ ในภาคใต้นั้นมีบทบาทหน้าที่หลากหลาย มีทั้งความสวยงามและความขลังศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอดีต เมื่อมีประโยชน์หรือหน้าที่มากมายจึงมีการผลิตลูกประคำหรือลูกปัดให้มีความหลากหลายในความแปลกใหม่ สวยงามและได้พัฒนาการเป็นประโยชน์ด้านอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะความสวยงามของการใช้ประดับ ตามร่างกายของแต่ละคน
ท่านขุมอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) ศิลปินโนรา
ผู้คนในประเทศไทยโดยเฉพาะผู้หญิงหันมานิยม ใส่ลูกปัดกันมากไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่ย ทั้งเด็กหญิงและชาย ซึ่งอาจะเป็นไปตามความเชื่อในพิธีกรรมโบราณ หรือตามรสนิยมว่าด้วยความงามก็แล้วแต่ ลูกปัดที่ใช้แตกต่างกันนั้น มีหลายประเภทและหลายแบบ นับตั้งแต่การนำลูกปัดโบราณอายุ ๒,๐๐๐ กว่าปี หรือหลายร้อยปี มาใส่กันโดยผสมกับลูกปัดสมัยใหม่ นอกจากนี้มีการนำลูกปัดทองคำ เงิน หิน หรือพลอย ที่มีราคาสูง หรือพลอยเนื้ออ่อนซึ่งมีราคาต่ำลงมานำมาทำเป็นเครื่องประดับสวมใส่กัน ส่วนวัยรุ่นก็นิยมลูกปัดใหม่ ที่ทำจากหินแก้ว พลาสติกหรือเรซินถ้าเดินไปชมสวนจตุจักร จะเห็นร้านขายลูกปัดมากมายมีทั้งของที่ทำในประเทศและของที่ส่งมาจากต่างประเทศ เช่น ทิเบต จีน เนปาล และจากตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังมีการนำลูกปัดมาประดับโคมไฟ กระเป๋าจี้ห้อยคอ สร้อยข้อมือและเสื้อผ้า เช่น รำโนราของภาคใต้บ้านเรา
โนราจังหวัดตรัง สมัยรัชกาลที่ ๕ ตัวเสื้อร้อยด้วยลูกปัดบางส่วน (ที่มา : ประวัติและงานพระยารัษฎาฯ)
ชุดแต่งกายโนรามีการประดิษฐขึ้นมาเพื่อสวมใส่สำหรับแสดงโนราได้มีการทำขึ้นมาอย่างก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๒๔ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ได้จัดใบสั่งซื้อของ ที่มีซื้อขายกันในเมืองสงขลาจัดส่งไปยังกรุงเทพฯ เพื่อจัดแสดงสมโภชฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ ในจำนวนนั้นเครื่องโนราพร้อมสำรับหนึ่ง พร้อมแจ้งราคาไว้ดังนี้
เครื่องโนราพร้อมสำรับหนึ่ง
เชิดยอดหนึ่งมีซุมใส่ด้วย ราคา ๑๐ เหรียน ๑
หน้าพรานผู้ชาย ค่า ๔ ก้อน ๒๐ เบี้ย ๑ ๘ ก้อน ๑๐ ก้อน ๒
หน้าพรานผู้หญิงค่า ๓ ก้อน ๓๐ ก้อน เบี้ย ๑
ทับ ๒ ใบ ราคาใบละ ๓ ก้อน ๑
กลอง ๑ ใบ ราคา ๘ ก้อน ๑๐ เบี้ย ๑
ปีเหน่งทองเหลืองมีสายรัด ราคา ๖ ก้อน ๑
ไม้ไผ่แตระ ๑๕ คู่ ๑
สะหนับเพลาดำขาขาวมีเชิงหนึ่ง ราคา ๔ ก้อน ๒๐ เบี้ย ๑
ปีกนกแอ่นคู่หนึ่ง ราคา ๒ ก้อน ๑
ศร ๑ คัน ๑
สร้อยตาบสำหรับ หนึ่ง ราคา ๒ เหรียน ๔ ก้อน ๑
มือ
กำไล ๒๒ เส้น ราคา ๙ ก้อน ๑๐ เบี้ย ๑
เล็บ ๑๐ เล็บ ราคา ๔ ก้อน ๑๐ เบี้ย ๑
ผ้าพื้นแดง ๑ ผืน ราคา ๑ เหรียน ๕ ก้อน ๑
แร้ใส่เครื่องใบหนึ่ง ราคา ๖ ก้อน ๑
หน้าผ้า ๑ ผืน ราคา ๓ ก้อน ๑
แพรสีห้อยคาดสะเอว ๒ แถบ ราคา ๒ เหรียน ๕ ก้อน ๒๐ เบี้ย ๑
มีดโต้ ๑ อัน ๑
ปี่คันหนึ่ง ราคา ๙ ก้อน ๑
ผ้ายันต์พาดบ่า ๑ ผืน ๑
พัดเขากระบือถือถือลงโรง ๑ อัน ๑
รวม ๒๕ สิ่ง เปนเงิน ๒๒ เหรียน ๖ ก้อน หากันเล่มงานหนึ่งเงิน ๓ โขก
จากรายการชุดโนราดังกล่าว เครื่องแต่งกายสำคัญ ซึ่งจะมีแนวของการใช้ลูกปัดปรากฏอยู่แต่ไม่สามารถ ทราบได้ว่าเป็นลูกปัดประเภทใด สร้อยตาบสำหรับหนึ่ง ซึ่งเป็นสร้อยซึ่งโนราใช้สวมบริเวณคอยาวถึงอก ซึ่งจะต้องใช้วิธีการร้อยลูกปัดจนเกิดเป็นสร้อยแล้วผูกทับทรวงติดไว้ ซึ่งแสดงว่าสร้อยตาบจะเป็นเครื่องแต่งกายสำคัญส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดพัฒนาการร้อยชูดลูกปัดจากสร้อยลูกปัดเม็ดกลมโตเส้นเดียวหรือคู่ แล้วจึงพัฒนามาใช้ลูกปัดขนาดเล็กร้อยเป็นแผงทาบตามลำตัว
โนราแสดงหน้าลานพระบราธาตุ นครศรีธรรมราช สมัยรัชกาลที่ ๕ (ที่มา หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
การแต่งกายโนราซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานภาพประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ทราบถึงพัฒนาการของการแต่งกาย ซึ่งได้รับอิทธิพลของลูกปัดเข้ามานั้นจากอดีตจึงปรากฏหลักฐานจากภาพภารกิจการเสด็จเยี่ยมหัวเมืองปักษ์ใต้ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสภาคใต้ราวประมาณ พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นกลุ่มคณะโนรามาแสดงถวายการต้อนรับ ณ บริเวณลานวัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช โนราจะสวมชุดลูกปัดปิดร่างกายส่วนบนบริเวณไหล่และลำตัวด้านข้างเพียงบางส่วนซึ่งยังปิดลำตัวไม่มิดชิดทำให้เห็นรูปร่างและลำตัวชัดเจน จากผู้รำจำนวน ๕ คน มีชุดลูกปัดใช้เพียง ๓ คน ช่วงเวลาย้อนไปประมาณ ๑๙ ปี ที่ปรากฏการซื้อขายเครื่องแต่งกายลูกปัดจนปรากฏเป็นรูปร่างดังภาพ แสดงให้เห็นว่าลูกปัด ได้มีการพัฒนาการร้อยมาด้วยความละเอียดประณีตจึงสามารถนำมาสวมใส่ได้ และนำมาสวมใส่หรือวัสดุ อาจจะยังไม่เพียงพอหรือใช้กันอย่างทั่งถึงทุกคน ภาพการแสดงโนราอีกภาพเป็นโนราของจังหวัดสงขลา แสดงถวายการต้อนรับรัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสสงขลา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นโนราผู้ชายจำนวน ๓ คน แสดงท่าขี้หนอนร่อนรำเพื่อบันทึกภาพอยู่หน้าโรงโนรา สวมชุดลูกปัดโนรา มีสังวาลย์คนละ ๒ เส้นทั้ง ๓ คน ตัวลูกปัดมีการร้อยจำนวนมากขึ้นปิดบริเวณไหล่และลำตัวด้านขวา แต่ลำตัวหน้าหน้าและบริเวณลำคอไม่มีลูกปัดร้อยปิดไว้ เห็นได้ว่ามีการพัฒนาการร้อยลูกปัดเป็นตัวเสื้อมากขึ้นกว่าเดิม ลูกปัดจะมีทั้งสีเข้มและสีอ่อน
โนราจังหวัดสงขลา สมัยรัชกาลที่ ๖ (ที่มา หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
การแต่งกายชุดโนราด้วยลูกปัดซึ่งมีอายุเก่าแก่อีกภาพหนึ่งเป็น การแต่งกายของโนราพัน หอเพช จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๔ โนราพัน หอเพชรน่าจะมีอายุประมาณ ๗๐-๗๕ ปี ชุดลูกปัดที่สวมเป็นชุดเครื่องต้นโนรามีสังวาลย์และทับทรวงประดับอยู่ ตัวเสื้อร้อยด้วยลูกปัดสีขาวและดำสลับกับร้อยปิดเฉพาะไหล่ทั้งสองข้าง มีลูกปัดร้อยเป็นระย้าบริเวณอกและไหล่ แต่ใช้ลูกปัดคนละประเภทกับบริเวณไหล่ สันนิฐานน่าจะเป็นลูกปัดแก้ว รูปแบบของชุดลูกปัดเป็นวิธีการร้อยเหมือนกับชุดโนราในยุคแรก โครงสร้างของชุดจะใกล้เคียง กับโนราจังหวัดนครศรีธรรมราชและโนราจังหวัดสงขลา นิยมร้อยลูกปัดบริเวณไหล่ทั้งสองข้าง ความกว้างของชุดลูกปัดจะพอดีกับไหล่ของผู้สวมชุด แต่ไม่นิยมร้อยลูกปัดลำตัวด้านหน้าและด้านข้าง
โนราพัน หอเพชร จ.สุราษฏร์ธานี พ.ศ.๒๕๑๔
จากภาพเก่าในอดีตทั้ง ๓ ภาพ แสดงให้เห็นว่า ชุดลูกปัดยุคแรกน่าจะพัฒนาการมาจากการร้อยลูกปัดเพื่อเป็นสังวาลย์ ๒ เส้น ต่อมามีการเพิ่มจำนวนสังวาลย์ให้มีเชื่อมระห่างเส้นมากขึ้น แล้วเพิ่มการร้อยลูกปัดต่อจากสังวาลย์บริเวณ ไหล่และลำตัวเพิ่มเข้ามาจนสามารถเชื่อมเชือกร้อยลูกปัด ให้ต่อเนื่องจนรอบ ลำตัวและลำดับสุดท้ายร้อยปิ้งคอ เป็นชิ้นส่วนปิดหน้าอกและลำคอหน้า-หลังอีก ๒ ชิ้น จึงกลายเป็นชุดลูกปัดที่นิยมร้อยกันในปัจจุบัน ชุดดังกล่าวนี้เป็นแนวทางของการร้อยแบบเครื่องต้น สำหรับหัวหน้าคณะของโนราสวมใส่เพียงคนเดียวโนราคนอื่น ๆ จะมีวิธีการร้อยแตกต่างจากชุดที่ได้พัฒนาอีกแบบหนึ่ง
การร้อยชุดลูกปัดโนรา (ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)
การร้อยชุดลูกปัดโนราในปัจจุบันผู้ที่ร้อยชุดลูกปัดเป็นตัวเสื้อลวดลายต่าง ๆ ก็คือศิลปินโนราหรือลูกหลานผู้ที่ใกล้ชิดกับศิลปินโนรา ซึ่งมีแนวคิดการร้อยชุดลูกปัดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยสำหรับสวมใส่เมื่อมีการแสดงโนราเป็นอันดับแรก ศิลปินโนราบางท่านจำเป็นจะต้องเก็บหอมรอบริบเงินที่ได้จากการแสดงแต่ละครั้ง เพื่อซื้อลูกปัดมาฝึกร้อยเพื่อสวมใส่เองเพราะความแตกต่าง ชุดลูกปัดโนราซึ่งซื้อลูกปัดเป็นวัตถุดิบ มาร้อยเองกับสั่งซื้อชุดลูกปัดจากการซื้อขายจากโนราระหว่างคณะต่าง ๆ ราคาจะแตกต่างกันเกือบประมาณสองเท่าสำหรับความสวยงามหรือรูปแบบต่างๆ ของการร้อยลวดลาย อาจจะสังเกตจากชุดโนราแบบเก่าหรือหาวิธีการพัฒนาด้วยตัวผู้ร้อยเองจากประสบการณ์แต่ละครั้ง
ชุดลูกปัดโนราจัดได้ว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมแขนงหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องการประดิษฐ์รูปแบบแต่ละลวดลาย เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผู้ทำจะต้องใช้สมาธิและชีวิตจิตใจ ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการต่าง ๆ ใส่ลงไปในลวดลายหรือรูปแบบที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่ลงมือทำ ดังที่ วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ได้กล่าวถึงงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านว่า “ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านจะสร้างขึ้นเพื่อใช้สอยตามแต่ผู้ทำและผู้สร้างก็มิได้มองข้ามความงามไป หากแต่ได้พิจารณาถึงรูปทรงและความงดงามทำไปใช้ประกอบด้วย และยิ่งช่างผู้ทำมีประสบการณ์มาก จนเกิดความชำนาญมากขึ้นแล้วก็จะแสดงฝีมือให้ปรากฏคุณค่าทางศิลปะ (artistic value) ออกมา”
ศิลปหัตถกรรมการร้อยชุดลูกปัดโนราที่ปรากฏในภาคใต้ จะมีรูปแบบและวิธีการร้อย ๓ รูปแบบ คือ
๑. ร้อยแบบร้อยช่อ
๒. ร้อยแบบห้า-สาม
๓. ร้อยแบบสาม-สาม
๑.การร้อยแบบร้อยช่อ เป็นการร้อยคล้ายกับลวดลายของตาข่ายหรือแหโดยใช้ลูกปัดข้างละ ๒ ลูกมาผูกเชื่อมกันด้วยลูกปัด ๑ ลูกเรียกว่า ๑ ช่อ ถ้าหากต้องการให้ลายห่างหรือกว้างก็เพิ่มจำนวนลูกปัดแต่ละข้างที่ร้อยในตัวเชือกก่อนมาผูกเป็นช่อโยงเป็นตาข่าย วิธีการร้อยแบบช่อจะร้อยได้รวดเร็วใช้ลูกปัดน้อยประหยัดจำนวนการใช้ลูกปัด
ร้อยแบบร้อยช่อ ของชุดลูกปัด
๒. การร้อยแบบห้า-สาม เป็นวิธีการร้อยโดยใช้ลูกปัด ห้าเม็ดและลูกปัดสามเม็ดมาร้อย ในเชือกคู่เดียวกันและเป็นลายดอกๆ เดียวกันรวมเป็นลูกปัดแปดเม็ด ซึ่งจะมีลูกปัดผูกเชื่อมตอนห้าเม็ด ๑ ครั้ง และสามเม็ด ๑ ครั้ง การร้อยวิธีการดังกล่าว จะทำให้ชุดลูกปัดมีความห่าง น้ำหนักเบาใช้ลูกปัดจำนวนน้อยแต่ลวดลาย ไม่เด่นชัด
การร้อยแบบห้า-สาม
๓. การร้อยแบบสาม-สาม เป็นวิธีการร้อย โดยใช้ลูกปัดครั้งละ ๓ เม็ด จำนวน สองครั้งมาผูกร้อยให้กายเป็นลายดอกเดียวกันโดยใช้เชือกเพียง ๒ เส้น วิธีการร้อยแบบสาม-สาม จะนิยมร้อยชุดโนรา เพราะลูกปัดในแต่ละดอกจะแน่นเห็นลวดลายชัดเจนแต่จะต้องใช้ลูกปัดจำนวนมากในการร้อยเป็นลวดลายต่าง ๆ
การร้อยแบบสาม-สาม และลายลูกแก้ว
การร้อยลูกปัดทั้งสามแบบ การออกแบบลวดลายในการใช้สี ขนาดรูปร่างวิธีการผูกมัดของแต่ละชุดจะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่างผู้ร้อยชุดจะพยายามใส่แนวคิดวิธีการใช้สีลูกปัดมิให้ซ้ำซ้อน และให้มีความแปลกใหม่ของการร้อยชุดแต่ละชุด เพื่อให้เกิดความสวยงามและพึงพอใจของผู้ร้อยชุดและผู้สวมใส่ จากอดีตมาสู่ปัจจุบันชุดลูกปัดโนราจะมีการพัฒนาและสร้างสรรค์เกิดขึ้นทุกครั้ง และพัฒนาต่อเนื่องกันมาโดยตลอด เนื่องจากความมีอิสระในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ชุดโนรานั่นเอง ที่ประดิษฐชุดลูกปัดโนรา โดยไม่อยู่ในกฎบังคับมาตรฐานของคนใดหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เมื่อช่างมิได้อยู่ใต้อาณัติบังคับของใคร งานศิลปหัตถกรรมที่เกิดขึ้นจะมีการพัฒนาด้านแนวคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ศิลปะการร้อยชุดลูกปัดโนรา นับได้ว่าเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีการพัฒนาอยู่ในตัวของงานเองอยู่สม่ำเสมอควบคู่กับศิลปะการแสดงโนรา ที่มีพัฒนาการมาโดยตลอดมิได้หยุดนิ่งหรือชะงักเหมือนกับศิลปหัตถกรรมอย่างอื่น ดังนั้นจึงทำให้ชุดลูกปัดหลากสี ลวดลาย จึงเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการแสดงโนราของภาคใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นของเมืองไทย
โฆษณา