5 ต.ค. 2020 เวลา 14:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
♦️Moonoi Special Topic : เศรษฐกิจในระยะถัดไป EP.1
โดย พื้นฐานการลงทุนหมูน้อยออมเงิน
-สิ่งที่เราควรโฟกัสเป็นพิเศษ!
-สถานการณ์ ณ เวลานี้ และต่อจากนี้!?
หมูน้อยคัดมาให้ท่านแล้ว เชิญรับชมครับ!
♦️ณ เวลานี้ หลายรัฐบาลทั่วโลกอยู่ในจุดที่ต้องดึงเงินสำรองออกมา
....โดยส่วนใหญ่ "จำเป็นต้องกู้เพิ่ม"
และในที่สุด เครื่องมือทางการเงินบางประเภทจะถูกนำออกมาใช้ เพื่อดึงเงินมาให้รัฐบาลบริหารประเทศ
ตัวอย่างเช่น ฮ่องกงกำลังออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (inflation-linked bonds) และ Silver Bond เพิ่มขึ้น เพื่อเสนอขายให้กับประชาชนในประเทศ
เป้าหมายเพื่อพยุงธุรกิจภาคการเงินของประเทศเอาไว้
แต่ท้ายที่สุด หากงบประมาณในการบริหารประเทศไม่เพียงพอ รัฐบาลในหลายๆประเทศก็มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การที่ประเทศจะมีอัตราหนี้สาธารณะต่อขนาดเศรษฐกิจของประเทศ (Debt to GDP) เพิ่มขึ้นจะกลายเป็นเรื่องปรกติในระยะถัดไป
ประเทศไทยมีเพดานหนี้สาธารณะต่อขนาดเศรษฐกิจของประเทศ อยู่ที่ระดับ 60%
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 47.90 % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ระดับ 41.73%
เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.17% ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน!
🙋🏻‍♂️หลายท่านคงจะสงสัยว่า ...ถ้าระดับหนี้สินในระยะข้างหน้าชนเพดาน 60% แล้วไปต่อไม่ได้จะทำอย่างไร?
"แก้กฏหมายเพื่อขยายเพดานหนี้"
คือคำตอบครับ!
ณ เวลานี้สิ่งที่เราควรให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่ "การประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้เท่านั้น" ประเทศต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเสริมศักยภาพในแต่ละส่วนมากขึ้น
ดังนั้นเราอาจจะต้องมองถึงที่ยืนหลังจากนี้ด้วยว่า อุตสาหกรรมหลักของประเทศจะเป็นไปในทิศทางใด🤔
♦️หมูน้อยมองว่า ไม่มีอะไรจะสามารถทดแทน "การท่องเที่ยว" ได้อย่างแท้จริง
กลุ่มผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังได้รับผลกระทบอย่างฉับพลัน รุนแรง และยาวนาน
ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นกันทั่วโลก เหล่ารัฐบาลต่างเร่งหาวิธีที่จะนำรายได้เข้ามาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายและสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ การให้เงินกู้พิเศษ และอื่นๆ
แต่ในความเป็นจริงคือ เม็ดเงินที่ได้คืนมายังไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้
หลายกิจการต้องปรับลดพนักงาน หรืออย่างแย่ที่สุด...ต้องปิดตัวลง
สิ่งที่ทุกรัฐบาลทั่วโลกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงคือ... อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบและจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ฟื้นตัว!
หนึ่งในอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของ ‘จีน’ ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆให้กับบริษัททั่วโลกเท่านั้น
แต่ยังรวมถึง "การส่งออกนักท่องเที่ยว" ไปทั่วโลกอีกด้วย✈️
ถึงใครจะไม่ชอบจีนอย่างไร เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นักท่องเที่ยวจีนนั้นมีบทบาทที่สำคัญต่อการออกแบบโครงสร้างด้านการท่องเที่ยวในระยะก่อนหน้านี้ในหลายๆประเทศ
ไม่ว่าแต่ละรัฐบาล จะพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวอย่างไร ปัญหาเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนแก้ไม่ตก
ล่าสุดทางประเทศจีนจะไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศจนกว่าจะจบเรื่องการแพร่ระบาด
เราสังเกตได้ครับว่าประเทศที่มองหาความร่วมมือเพื่อการท่องเที่ยวนั้น เป็นประเทศในกลุ่มที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นโซนยุโรป ญี่ปุ่น และใช่ครับ ประเทศไทยด้วย!
ในขณะที่ทางจีนแทบจะไม่ขยับตัวอย่างเป็นจริงเป็นจังในด้านนี้เสียเท่าไหร่
(อาจจะมีความร่วมมือบ้างเล็กน้อยแต่จะไม่เห็นในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ)
เพราะตอนนี้ทางจีนประเมินว่า ถ้าเกิดการแพร่ระบาดลุกลามใหญ่โตขึ้นมา รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวนั้นจะไม่คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายในการควบคุมไวรัสอีกครั้ง
เราได้เห็นตัวอย่างจากอเมริกา ยุโรป และ อินเดียมาแล้วครับว่าผลลัพธ์จากการที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้นั้นสร้างความเสียหายได้มากขนาดไหน!
ยิ่งจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึงหลักพันล้านคน หากเกิดสถานการณ์ในระดับเดียวกับอเมริกาแล้วล่ะก็....
ไม่ใช่แค่จีนที่จะแย่ แต่โลกจะแย่หนักไปด้วย!
♦️พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป♦️
รูปแบบการใช้ชีวิตในระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของ Coronavirus กำลังเปลี่ยนไปทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านของการทำงาน พฤติกรรมการบริโภค การทำธุรกิจ
บ้างสามารถปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมรูปแบบใหม่ได้ (new normal) การทำงานในหลายบริษัทไม่จำเป็นต้องเข้าสำนักงานใหญ่อีกต่อไป (work from home) การอบรมเพื่อเสริมทักษะความรู้ในหลายๆองค์กร เริ่มหันมาใช้ช่องทาง online กันมากขึ้น (webinar)
หลากหลายธุรกิจ จำเป็นต้องพึ่งพาคนกลางในการขายสินค้า ในหลายๆครั้ง นั่นทำให้กำไรต่อหน่วยลดลง รายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยมากมายตกหล่นไปกับการพึ่งพาในลักษณะนี้
ท้ายที่สุด "ผู้บริโภคกำลังจ่ายมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว" เรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แลกกับความปลอดภัยจากการที่ไม่ต้องนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับการออกไปสัมผัสกับเชื้อโรคภายนอก
ยิ่งในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค "ค่าครองชีพของเราเพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง"
http://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cyc/cci092563.pdf
เราได้คำนึงถึงความปลอดภัยกันมากขึ้น เราจ่ายเงินให้กับหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ล้างมือ สบู่ สารทำความสะอาด ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจากการทำงานที่บ้าน และออกจากบ้านกันน้อยลง
เราจึงได้เห็นระดับการบริโภคที่ลดลงในหลายๆส่วนของภาคเศรษฐกิจในประเทศในก่อนหน้านี้
"ความเชื่อมั่นผู้บริโภค" แม้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่หากสังเกตให้ดี แนวโน้มเป็นขาลงมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 และที่สำคัญ ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 มา 1 ปี กว่าแล้ว...
สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญในระยะหลังจากนี้เป็นต้นไปครับ!
จบแล้วครับ ตอนที่ 1 realize สถานการณ์ในปัจจุบัน ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกันครับ
ขอบพระคุณมากครับ ที่ติดตามเสมอมา
🐽หมูน้อย
reference

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา