6 ต.ค. 2020 เวลา 07:32 • การศึกษา
พูดคุยอย่างไรให้ได้ทั้งใจและงาน
หัวหน้ามือใหม่หรือพนักงานหลายๆคนอาจจะเคยประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ คือการให้อีกคนทำงานให้หรือการมอบหมายบางสิ่งบางอย่างนั่นดูแสนยากเย็น ได้งานแต่ไม่เคยได้ใจคน วันนี้เลยอยากจะมาลองแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าจะให้หลายๆคนเอาไปปรับใช้
1. ให้เกียรติคนที่เราพูดด้วยเหมือนกับที่เราให้เกียรติ ตัวเอง หลักการนี้เหมือนจะง่ายๆแต่หลายคนอาจจะหลงลืมไป ว่าจริงๆแล้ว เราทุกคนมีค่าความเป็นเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อน น้อง หรือใครๆก็ตาม การมองเห็นว่าทุกคนเท่ากันจะทำให้เราไม่สูงกว่า ตำกว่า แต่เราและคนที่มาคุยกับเรา เท่ากัน เสมอกัน และไม่ว่าเรื่องที่คุยด้วยกันจะเป็นเรื่องอะไร ทั้งเราและเค้าจะเข้าใจกัน แม้อาจจะไม่เข้าใจในเนื้อหา ความรู้สึกทั้งหมด แต่สิ่งนึงที่จะได้คือ ความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
2. การสร้าง mindset ของเรา ก่อนที่เราจะคุยกับใครสักคน การสร้าง mindset ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้พูดได้อย่างดี โดยการที่จะมี mindset ที่ดีได้นั้น เราจะต้องมีทัศนคติทั้งหมดอยู่ 4 แบบด้วยกัน คือ
2.1 การที่เอาผู้ที่มาคุยกับเราเป็นศูนย์กลาง
2.2 การเปิดใจรับฟัง
2.3 การช่างสังเกตุผู้ที่มาคุยกับเรา ทั้งสิ่งที่พูดและสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา
2.4 ความยืดหยุ่น
3. จุดประสงค์ของการคุยในวันนี้ ถ้าเมื่อใดก็ตาม ที่คุณจะต้องมาคุยเพื่อที่จะได้อะไรกลับไป หัวข้อนี้สำคัญมาก ว่ามาคุยเพื่อ.... เพราะในหลายๆครั้งที่เรามานั่งคุยกันไปด้วยจุดประสงค์อย่างนึง แต่กลับไปด้วยอีกเรื่องนึง แต่ไม่ใช่ว่าจะคุยแต่เรื่องงานอย่างเดียว การที่คุณคุยเรื่องที่ต้องการได้แล้ว ก็สามารถถามเรื่องอื่นๆได้โดยใช้หลักการข้อแรก
4. ความไว้ใจ ถ้าคุณอยากให้ใครสักคนเปิดใจกับคุณ ความไว้ใจเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย เรื่องที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เป็นเรื่องที่มีแต่ทางออก การแสดงออกของเราไม่ว่าจะเป็นคำพูด การแสดงออก ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนที่เราพูดด้วยไว้ใจหรือไม่ไว้ใจ เราจึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้ไว้เพื่อไม่ให้เค้ารู้สึกกลัวเรา
5. อยู่กับคนที่พูดตลอดเวลา ถ้าจะเป็นศัพท์สวยๆคือ ปัจจุบันขณะ คือการที่เราฟัง มอง คิด กับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า ไม่เอาเรื่องอื่นที่อยู่ในหัวมาคิด จงใช้เวลาในทุกๆวินาทีให้คนที่อยู่ตรงหน้าเรา เพื่อให้เราเข้าใจเค้าและเข้าใจตัวเองว่าต้องการอะไร
6. ฟังเสียงที่ไม่ได้ยิน หรือการฟังเชิงลึก หลายๆตำรามักกล่าวว่า การฟังที่ดีช่วยให้เราได้ในสิ่งที่มากกว่าเสมอ เพราะจริงๆแล้สมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ภายใต้กำแพงที่แน่นหนา เค้าอาจจะต้องการใครสักคนที่เข้าใจเค้า สักคน แค่นั้นเอง เรื่องนี้เหมือนจะง่ายๆแต่จริงๆแล้วการฟังเป็นเรื่องที่ยากมากๆเพราะเราจะมีตัวตนของตัวเองอยู่เสมอ การฟังคร่าวๆแบ่งได้สามระดับ คือ
6.1 ฟัง แล้วเปรียบเทียบกับตัวเอง
6.2 ฟัง แล้วเข้าใจถึงความรู้สึกของคนพูด
6.3 ฟัง แล้วมองเห็นถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวผู้พูด
7. คำถามดีๆ นอกจากการฟังที่ดีแล้ว การตั้งคำถามดีๆที่สามารถสื่อสารกลับไปก็จะช่วยให้เราได้งานและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น การใช้คำถามที่ดีอาจเปลี่ยนชีวตคนๆนึงไปตลอดกาลเลยก็ได้ เคล็ดลับคำถามที่ดีคือ การเป็นผู้ฟังที่ดีมาก่อน หลักการถามคำถามง่ายๆมีอยู่ 3 ข้อ
7.1 กระชับ
7.2 ตรงประเด็น
7.3 ห่วงใยใส่ความเป็นมนุษย์
ลองเอาหลักการสามอย่างไปลองใช้ แล้วคุณจะลืมคำว่าถามห้วนๆไปได้เลย
8. การลงมือทำ สุดท้าย หลังจากที่ใช้เวลาคุยกับเค้าด้วย 7 ข้อที่ผ่านมา ข้อสุดท้าย คือ การลงมือทำ สิ่งที่ดีที่สุดคือให้คนที่เราคุยด้วย กำหนดวันที่จะเสร็จได้ด้วยตัวของเค้าเอง โดยที่ไม่เกิน วัน และ เวลาที่เรากำหนด แผนที่ชัดเจนต้องมี ใครทำอะไร เมื่อไร และอย่างไร
ในแต่ละหัวข้อ จะมีรายละเอียดที่แตกย่อยลงไปอีก ถ้ามีเวลาจะมาแตกย่อยในแต่ละข้อเพื่อสามารถนำกลับไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษณา