6 ต.ค. 2020 เวลา 12:55 • อสังหาริมทรัพย์
ยกที่ดินให้ลูก...กลัวลูกเอาไปขาย ไม่เลี้ยงดู ทำอย่างไรได้บ้าง?
ปัจจุบันนี้มักมีเรื่องราว พ่อแม่ยกที่ให้ลูก และลูกบางคนกลับไม่เลี้ยงดู นำที่ดินไปขายเพื่อนำเงินไปใช้ ทำให้กิดปัญหาที่พ่อแม่บางคนกลัวลูกไม่เลี้ยงดูจึงไม่ยอมยกทรัพย์สินให้ทำกิน
แอดจึงแนะนำให้ผู้ยกให้ไปจดทะเบียนเป็น "สิทธิเก็บกิน" ก่อนที่จะยกที่ดินให้ลูก เพราะสิทธิเก็ยกินเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับที่ดินแม้จะถูกขายไป
"#สิทธิเก็บกิน"
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ แต่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเข้ามามีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินของตน ตลอดจนมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ อาทิเช่น เจ้าของที่นาย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่นาของตน ส่วนผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่นานั้นก็ใช้ที่นาทำนาได้ หรือจะนำที่นานั้นออกให้เช่าเพื่อเก็บค่าเช่าก็ได้เสมอกับเป็นเจ้าของเองทีเดียว เพียงแต่กรรมสิทธิ์ในที่นาดังกล่าวยังอยู่ที่เจ้าของ
สิทธิเก็บกินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ดังนั้น สิทธิเก็บกินจึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะสามารถใช้ต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าไม่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อเจ้าหน้าที่ แต่สิทธิเก็บกินนั้นก็มีผลเป็นบุคคลสิทธิซึ่งใช้ยันได้ระหว่างคู่สัญญา ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจึงสามารถยกเรื่องสิทธิเก็บกินขึ้นยันกับคู่สัญญาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15033/2555 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่พิพาท โจทก์จดทะเบียนให้ ส. และ บ. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินใน ที่ดินพิพาทตลอดชีวิต ส. และ บ. ย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านั้นด้วยไม่ การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทจึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2543 โจทก์ตกลงให้จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดชีวิตของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต แม้จะมิได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวให้บริบูรณ์อย่างทรัพยสิทธิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ก็สมบูรณ์ อย่างบุคคลสิทธิที่ใช้ยันกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ต้องผูกพัน ตามข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7341/2542 แม้ตามรายการจดทะเบียนเพียงแต่จดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 3350 ตามฟ้อง โดยไม่ได้ระบุถึงตึกแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินก็ตามแต่โจทก์ก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้มีชื่อในที่ดินโฉนดเลขที่ 3350 ตามฟ้อง และผู้มีชื่อซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้จดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินเฉพาะส่วนตลอดชีวิต ดังนี้ ข้อความที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น ย่อมหมายรวมถึงสิ่งปลูกสร้างใด ๆบนที่ดิน คือ ห้องแถวพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเก็บกินด้วย และการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินก็ไม่ได้ระบุจำกัดว่าให้โจทก์มีสิทธิถือเอาประโยชน์แต่เฉพาะในที่ดินโดยแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากตึกแถวพิพาทที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่จำเลยเช่าอยู่นั้นและแม้โจทก์จะมิใช่เป็นผู้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทในฐานะเป็นผู้ให้เช่าก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกินหมดสิทธิในการจัดการให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินหรือถือเอาประโยชน์แห่งทรัพย์สินในที่ดินนั้นจนตลอดชีวิตของโจทก์ตามที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา1417 และเมื่อสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทได้สิ้นอายุการเช่าแล้ว และโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป และมีหนังสือบอกกล่าวให้ออกไป จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2542 (ประชุมใหญ่) โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดชีวิตของโจทก์ เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จำเลยจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่า ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้นตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1256/2519 การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้จดทะเบียนนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 บัญญัติไว้เพียงว่า "การที่ได้มาซึ่ง ฯลฯ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะ ฯลฯ ได้จดทะเบียนการได้มา ฯลฯ" เท่านั้น ฉะนั้น ถ้าหากเมื่อใดได้มีการจดทะเบียนการได้มาเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ขึ้นมาทันที หาใช่ว่าสิทธิเช่นว่านั้นจะไม่สมบูรณ์เสียเปล่าไปเสียเลยไม่
สัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินในบ้านและห้องแถวที่พิพาทจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไม่ร้องคัดค้านในการที่จำเลยร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น แม้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่เป็นทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิซึ่งใช้ยันได้ระหว่างคู่สัญญา สัญญาต่างตอบแทนนี้จึงมีผลบังคับกันได้ เมื่อจำเลยจะโอนขายบ้านห้องแถวพิพาทพร้อมทั้งที่ดินซึ่งบ้านและห้องแถวนั้นตั้งอยู่ไปเสีย โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยโอนขายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2514 (ประชุมใหญ่) จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นการทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้เป็นทรัพย์สิทธิอันบริบูรณ์ตามกฎหมายได้ตราบเท่าที่จำเลยยังมิได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่น และสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยประนีประนอมยอมความเช่นนี้ มีกำหนดอายุความ 10 ปี
ตั้งแต่วันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิเก็บกินตลอดมา ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยได้ทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่เริ่มนับ
#การเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นหน้าที่ที่บุตรพึงกระทำ
เพจเป็นธรรม
⚖️ ไลน์ O.C เป็นธรรม
เพิ่มเพื่อน LINE กด 👉 https://lin.ee/fSUqEVp
Line Official ID : @160xfmgd
สอบถามข้อกฎหมายเพิ่มเติมโทร 061-2708044
โฆษณา