Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียว
•
ติดตาม
8 ต.ค. 2020 เวลา 04:32 • สิ่งแวดล้อม
🌳 ทำไม #สนามหลวง เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง
นอกจากสนามหลวงจะเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่จัดกิจกรรมหลายๆ งาน สนามหลวงยังถูกจัดเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อีกด้วย
เรื่องนี้อาจจะงงๆ นิดหน่อยเพราะถ้านึกภาพสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว คนอาจจะนึกภาพสวนลุมพินี สวนรถไฟ สวนจตุจักร หรือสวนที่มีต้นไม้ชุกชุม แต่พอกลับมามองสนามหลวงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าแล้วท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่สีเขียวได้อย่างไร
แต่ก่อนเข้าเรื่องเขียวๆ ขอย้อนกลับไปสนามหลวงบริบทเผ็ดกลาง 🚵♂️ กับยุคก่อนปี 2553 ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จุดเปลี่ยนท้องสนามหลวงเริ่มในปี 2553 ที่ภาครัฐมีแผนปิดปรับปรุงภูมิทัศน์ในปี 2553 ด้วยงบประมาณกว่า 180 ล้านบาท ทำให้ความเป็นพื้นที่สาธารณะหายไป และความเป็นสนามหลวงในมิติต่างๆ ก็ค่อยเลือนหายไปเช่นกัน
รวมถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ก็ค่อยๆ เลือนหายไปเช่นกัน
เพราะก่อนหน้านั้นสนามหลวงถูกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเชิงการเมือง การท่องเที่ยว วิถีชีวิต พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลห่างๆ
หลังปิดปรับปรุงภูมิทัศน์ จนถึงปี 2555 หม่อมเอ๋อ (หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ออกระเบียบเรื่องการใช้ท้องสนามหลวง แต่คงคอนเซ็ปต์ให้ประชาชนใช้งานได้ตามข้อ 6 ที่ใจความว่าให้ประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายตามวันที่กำหนด รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ❌
ในทางกฎหมาย สนามหลวงถือเป็นพื้นที่ของประชาชน เปิดให้เข้าใช้ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. และให้จัดกิจกรรมได้ 4 กรณีคือ งานพระราชพิธี งานพิธี งานประจำปี และกิจกรรมของหน่วยงาน กรณีอื่นต้องขออนุญาตจากกทม.
นอกจากนี้ fact ของที่นี่คือโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2520 ไม่เปิดทางให้ใช้ทำกิจกรรมการเมืองอย่างเสรี ยิ่งบวกกับประกาศปี 2555 ยิ่งทำให้สนามหลวงเป็นพื้นที่ที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด
แม้จะมีปัจจัยเรื่องคนไร้บ้าน นกพิราบ หรือที่เรียกรวมๆ สวยๆ ว่าการพัฒนาเมืองแบบมีทิศทาง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่สนามหลวงเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของการเมือง และทำกิจกรรม-แสดงออกทางการเมือง ทำให้อำนาจอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง 🐖 (เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เขตพระบรมราชวัง หรือประเด็นเรื่องโบราณสถาน)
ส่วนพื้นที่สีเขียวของสนามหลวงอยู่ภายใต้การดูแลโดยสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม และมีเจ้าหน้าที่เขตพระนครร่วมดูแล ทั้งหมดมีกทม.เป็นผู้กำหนดทิศทาง
เหมือนจะเป็นโบราณสถานที่ดูทันสมัย แต่ไม่มีฟังก์ชั่นของการใช้งานและขาดฟังก์ชั่นของความเป็นพื้นที่สีเขียว
สนามหลวงเป็นพื้นที่กว้างโล่งแจ้งไม่กี่แห่งที่เหลือในเมืองใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพระนคร เขตที่มีพื้นที่เกือบน้อยที่สุดในกทม.ที่ 5.536 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,460 ไร่ อยู่ลำดับที่ 48 จาก 50 เขต
สนามหลวงมีพื้นที่มากกว่า 74 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของพื้นที่เขตพระนครทั้งหมด
เขตที่มีพื้นที่น้อยย่อมมีโอกาสที่จะมี “พื้นที่สีเขียว” น้อยลดหลั่นตามไปด้วย 🌲 แต่เขตพระนครมีพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียวมาก ไม่ว่าจะเป็น 4 แห่ง คือ สวนรมณีย์นาถ สวนสันติชัยปราการ สวนสราญรมย์ และ สวนนคราภิรมย์ รวมถึงสนามหลวงก็เป็นหนึ่งในนั้นตามเกณฑ์ของสำนักผังเมือง กทม.
🌳 เรื่องเกณฑ์การจัดพื้นที่สีเขียวของกทม. 🌳
กทม.จัดพื้นที่สีเขียวไว้ 7 ประเภท โดย 5 ประเภทแรกไล่จากขนาดเล็กไปหาใหญ่คือ สวนหย่อมขนาดเล็ก -> สวนหมู่บ้าน -> สวนชุมชน -> สวนระดับย่าน -> สวนระดับเมือง กับอีก 2 ประเภทที่ไม่ได้แบ่งด้วยเกณฑ์พื้นที่คือ สวนถนนและสวนเฉพาะทาง
เมื่อรวมกับเกณฑ์คือ “ต้นไม้” ก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียว โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. มองว่าพื้นที่สีเขียวประกอบด้วยต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให่ร่มเงาแก่พื้นที่ และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ตร.ม.
พูดง่ายๆ คือพื้นที่ไหนที่มีพืชมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม และประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ก็นับเป็นพื้นที่สีเขียว 🏡
ส่วนสนามหลวงถูกจัดประเภทเป็น “พื้นที่สวนชุมชน” เข้าเกณฑ์พื้นที่ตั้งแต่ 25-125 ไร่ เพราะสนามหลวงมีต้นไม้ที่สำคัญคือต้นมะขามและสนามหญ้า
แต่สนามหลวงไม่ได้มีฟังก์ชั่นของสิ่งแวดล้อม เพราะติดเรื่องทัศนียภาพ ความเป็นโบราณสถาน และอำนาจที่มองไม่เห็น
วันไหนเกิดอยากไปสัมผัสต้นไม้ ไปสูดอากาศ เราคงไม่คิดว่าสนามหลวงจะตอบโจทย์เหล่านั้น
เพราะหากไม่นับข้อดีเรื่องภูมิทัศน์แล้ว “ท้องสนามหลวง” ก็เป็นเพียงสวนชุมชนที่มีประโยชน์เพียงเพื่อช่วยเพิ่มข้อมูลตัวเลขปริมาณพื้นที่สีเขียวในเมืองเท่านั้น
เพราะเมื่อเทียบระหว่างต้นมะขามสนามหลวงกับแผงรั้วเหล็กกั้นความสูง 1.7 เมตรรอบบริเวณ ➖ ดูเหมือนปริมาณของอันหลังจะสำคัญกว่าอันแรก
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย