Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
IBIC@aec
•
ติดตาม
11 ต.ค. 2020 เวลา 05:40 • ท่องเที่ยว
ทวิบรรจบ
ภาพที่ปรากฏต่อไปนี้ให้ชื่อว่า"ทวิบรรจบ"
(Tawi-Banjob) เป็นภาพที่บันทึกได้และให้นามโดย Mr.Roger Green (นามแฝงของผู้เขียน) ซึ่งได้นำออกเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อปี 2004 และเป็นภาพเดียวในโลกตลอดกาล"
ความหมายของ"ทวิบรรจบ"ณ ที่นี้ (ภาพบน) หมายถึง "จุดพบกันของน้ำตกยักษ์ 2 ตัวๆ ทางซ้ายคือ ตาดขะมึด (ภาษาลาว ตาด คือ น้ำตก และขะมึด หมายถึง ลิงชนิดหนึ่ง) ส่วนทางขวาในภาพที่ตัวเล็กกว่า คือ ตาดเสือ
ความเป็นมา
ผู้เขียนได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าแขวงจำปาสัก สปป.ลาว ขณะนั้น คือ ท่านสุกัณฑ์ มหาราช (ສຸກັນ ມະຫາລາດ) ให้เป็นผู้สำรวจพื้นที่ป่าเขาในเขตบ้านหนองหลวงและข้างเคียง(ອ້ອມແອ້ມ) เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว พร้อมทั้งให้จัดทำรายงานสรุปผลการสำรวจ เพื่อพิจารณาต่อยอดการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างเหมาะสมต่อไป
ระยะเวลาและจุดสำรวจ
เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2004 จนถึงเดือนมิถุนายน 2006 มีจุดสำคัญที่สำรวจแล้วจนนำไปสู่การนำเสนอรายละเอียดในบทรายงาน ได้แก่ ถ้ำพระ(ยังไม่เป็นวัด) ด่านเสือ(ด่านน้อย) ด่านหนองหลวง(ด่านใหญ่) ตาดสะหนาด ตาดลุงอิ้ว ตาดหินแดง ตาดตาเก็ด ตาดน้ำพาก ตาดสักการะ รวมทั้ง "จุดทวิบรรจบ" ด้วย
ผู้เขียนได้ส่งมอบบทรายงานผลการสำรวจพร้อมนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ຢືນຢົງ) ต่อหัวหน้าห้องการแผนกท่องเที่ยวแขวงจำปาสัก สปป.ลาว (ท่านคำพล แก้วนวลสี) เมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 (2549) พร้อมทั้ง ขออนุญาตแนะนำข้อมูล เรื่องราว เหตุการณ์ และรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวทัั้งหมดทั้งที่ถ่ายไว้เอง และภาพจากนักท่องเที่ยวเดินป่ายุคแรกๆ ที่ทะยอยออกเผยแพร่ทั้งภาพถ่าย วิดิโอ กระทู้ และบทความ ทางสื่อโซเชี่ยลต่างๆ เช่น hi5, Pantip, Multiply ,Khonbaakpae ,Trekkingthai, Mblog ,OKnation etc. ตั้งแต่เริ่มสำรวจปี 2004 เป็นต้นมา
พิธีเปิดแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ
ก่อนถึงวันทำพิธีเปิดแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ผู้เขียนได้จัดทำโปสเตอร์ภาพแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวงที่สำรวจแล้ว ประชาสัมพันธุ์และเชิญชวนให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐการเข้าร่วมเพื่อเป็นสักขีพยานในวันที่ทำพิธีเปิดด้วย (ภาพล่าง)
พิธีเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2004 (2547) โดยมีท่านนางสีใส ประธานสหพันธุ์แม่หญิงลาว เป็นผู้แทนเจ้าแขวงจำปาสัก และท่านเจ้าเมืองคำไส หมื่นหลวง เจ้าเมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก (ในสมัยนั้น) เป็นประธานร่วมในพิธี โดยมีพนักงานรัฐการ (ລັດຖະການ) ที่ไทยเรียกข้าราชการ (หลังการปฏิวัติ 1975 สปป.ลาวยกเลิกระบอบกษัตริย์ หรือ ราชาจึงไม่เรียกข้าราชการ) พ่อค้า ประชาชนชนบ้านหนองหลวง นายบ้านหนองหลวงขณะนั้นคือ ท่านคำพู ฟองสมุทร(ຄຳພູ ຟອງສະໝຸດ) มีนายบ้านและประชาชนหมู่บ้านใกล้เคียงให้เกียรติ์ร่วมเป็นสักขีพยานด้วยนับร้อยคน (ภาพล่าง)
สำหรับบุคคลที่มีส่วนสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ทำให้การสำรวจแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ลุล่วงไป จนถึงการจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ผู้เขียนได้บันทึกไว้ในความทรงจำและแสดงความขอบคุณทุกท่านไว้ ในหนังสือ"อัญมณีแห่งดงบอละเวน" ตอน "ตำนานการเกิดแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวง"แล้ว
ภาพทวิบรรจบ..ภาพแรกและภาพเดียวในโลก
ภาพ "ทวิบรรจบ" ที่ปรากฏในตอนต้นของบทความนี้ อันเป็นภาพที่ผู้เขียนได้ค้นพบและถ่ายภาพไว้ได้ด้วยตนเองโดยบังเอิญ คือไม่อยู่ในแผนการสำรวจตั้งแต่แรก เป็นจุดหรือตำแหน่งที่ยังไม่มีผู้อื่นใดไปถึงและถ่ายภาพได้ ณ จุดหรือพิกัดเดียวกันนี้มาก่อนเลย ทั้งก่อนหน้านั้น (2004) จนบัดนี้ (2020) แม้ในอนาคตอาจจะมีผู้ถ่ายภาพ "ทวิบรรจบ" จากจุดใกล้เคียงจุดนี้ได้อีกหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพที่ปรากฏในบทความนี้ ก็จะยังเป็น"ภาพแรกและภาพเดียวในโลกอยู่ตลอดกาล" เพราะมันไม่ใช่แค่การถ่ายภาพปกติธรรมดา หากแต่มีเรื่ิองราวและเหตุการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นวันเวลา พิกัด สถานการณ์ ตัวละคร สภาพแวดล้อม และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่มีวันจะเหมือนกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกันได้เลย
ภาพทวิบรรจบต่อไปนี้ เป็นภาพที่ลงในหน้าปกหนังสือ "อัญมณีแห่งดงบอละเวน" ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ 2014 ฉบับภาษาไทย ส่วนภาพแรกด้านบนเป็นฉบับภาษาลาว แต่ยังไม่ได้จัดพิมพ์เผยแพร่เลยด้วยปัญหาทางเทคนิคบางประการ
บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราว
การสำรวจในวันนั้น ราวเดือนมิถุนายน 2004 มีทีมงานบ้านหนองหลวง ร่วมเดินทางด้วย 3 คน คือ ลุงคำผง (สาธารณสุขบ้านหรือแพทย์ประจำหมู่บ้าน) ลุงสอสะหวัน พรานผู้ชำนาญป่าเขตนี้ทุกตารางนิ้ว และลุงคำเจี๋ย ป้องกันความสงบบ้าน (ทหารบ้าน/กองหลอน) ตามลำดับในภาพล่าง รวม 4 คนทั้งผู้เขียน
เป้าหมายในการสำรวจครั้งนี้ ก็คือจุดใต้ผาน้ำตกตาดขะมึดชั้น 7 ที่หากยืนอยู่ตรงชะง่อนผาบนด่านหนองหลวง หันหน้าไปทางหมู่บ้านหนองหลวง จะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาพล่าง เป็นภาพที่ถ่ายจากกล้องธรรมดาๆระยะไกลราว 2 กม. ณ จุดนี้ หากทัศนวิสัยเปิดจะมองเห็นตาดนกมุมและขะมึดไหลต่อๆ กันลงมาหลายชั้น (ในภาพจากด้านบนลงมาคือ ชั้นที่ 1 3 5 และ 7 โดยเฉพาะชั้นที่ 7 เป็นชั้นสูงที่สุดของน้ำตกตัวนี้ สูงราว 100 เมตร (ภาพล่าง) ซึ่งจริงๆ แล้วต่อจากชั้นที่ 7 มันยังไหลลงไปอีก 2 ชั้นจนถึงจุดที่พบกับตาดเสือ (ในภาพเห็นเพียง 2 ชั้นล่าง เพราะชั้นบนที่สูงขึ้นไปมีป่าไม้และมุมกล้องบัง) ผู้อ่านที่เคยไปเยือนที่นี่มาแล้วคงจะนึกภาพออก
การเดินทางครั้งนั้น ค่อนข้างยากและเสี่ยงอันตราย เพราะต้องไต่จากหน้าผาด้านบนในแนวดิ่งลงไปราว 50-60 เมตร ตรงจุดใต้ผานกแอ่น(ภาพล่าง) ที่ยอดสูงสุดของผานี้จะสูงขึ้นไปจากทางเดินริมหน้าผาอีกราวร้อยกว่าเมตร
ผานกแอ่น (ภาพล่าง)
แต่เดิมเป็นชะง่อนผาหรือเงิบผาหินขนาดมหึมา ที่ผู้เขียนได้เห็นหลังจากมันถล่มแล้วเกือบสิบปี (ถล่มราว 1995) ครั้งที่ไปสำรวจด่านหนองหลวงครั้งแรก ราวเดือนเมษายน 2004 ซึ่งถ้าอยู่ตรงจุดชมวิวบนด่านหนองหลวง มองข้ามหุบเหวไปฝั่งตรงกันข้าม จะเห็นหน้าผายักษ์อยู่เบื้องหน้า ยังมีร่องรอยของการถล่มที่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ เพราะสภาพและสีของหินยังไม่เปลี่ยนมากนัก สอบถามทีมงานได้รับการบอกเล่าว่า แต่ก่อนเป็นเงิบผาหินที่ยื่นออกไปในหุบเหวเบื้องหน้าเกือบ 50 เมตร เนื้อที่มากกว่า 1 เฮ็คต้า หรือมากกว่า 6-7ไร่เศษ (1 HT= 6.25ไร่) ฐานด้านล่างของผายักษ์นี้หนากว่า 50 เมตร ผนังใต้หน้าผาเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นป่านับล้านตัว เวลาฝูงนกบินออกไปหากินพร้อมๆกัน มันจะดำทะมึนราวก้อนเมฆฝนขนาดมหึมา มันเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วราวพายุ มีลีลางดงาม ที่ปกคลุมไปท้่วหุบเหวและยอดเขาบริเวณนั้น จึงเรียกผานี้ว่า "ผานกแอ่น" ชาวบ้านเล่าว่าตอนที่มันถล่มมีเสียงดังราวระเบิดขนาด 100 ตันลง เหมือนในสมัยสงคราม ได้ยินไกลหลายกิโลเมตร ก้อนหินที่ถล่มกระเด็นกระดอนแล้วกลิ้งไปไกลกว่า 5 กิโลเมตร ใครที่เคยลงไปแก่งตาดหินแดง ช่วงปลายห้วยตาดตาเก็ดที่ตกลงใส่ห้วยตวยเบื้องล่าง จะเห็นร่องรอยของกองหินที่ถล่มจากผานกแอ่นนี้ ซึ่งในภายหลังที่ผาถล่มแล้ว นกแอ่นเหล่านั้นก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามเงิบหน้าผาอื่นๆ เช่น ผาตาเก็ด ผาสักการะ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่น่าจะมีจำนวนมากกว่าผาอื่นๆ
ถ้าสังเกตภาพทีมงานสามคนก่อนหน้า จะเห็นผานกแอ่นลางๆ อยู่ทางขวาของภาพ หรือทางซ้ายมือของลุงเจี่ย (สะพายปืน)
จากนั้นต้องเดินเลาะหน้าผาไปตามไหล่เขาที่มีทางเดินแคบๆ เพียงเมตรเศษ ขณะที่อีกฝั่งเป็นเหวลึกกว่า 300 เมตรถึงห้วยตวยเบื้องล่าง ระหว่างเดินจะได้ยินเสียงหินก้อนเล็กๆ ที่ถูกกัดกร่อนแล้วปลิวแหวกอากาศดังหวิวๆ หล่นจากด้านบนผ่านหัวเราลงมาเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่จะกระทบกับหน้าผาด้านบนที่ยื่นออกมา แล้วกระเด็นหล่นลงเหวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีไม่น้อยที่ปรากฏว่าหล่นบนทางเดินริมหน้าผา หากโชคร้ายก็อาจโดนมันเจาะกระโหลกก็ได้ เพราะหินที่หล่นจากความสูงเป็นร้อยเมตรมันก็คือลูกกระสุนปืนดีๆ นี่เอง
พอลงถึงทางเดินใต้ผานกแอ่นเราต้องเดินลัดเลาะหน้าผาต่อไปอีกกว่า 1 ชั่วโมง จีงจะถึงจุดเป้าหมายใต้ม่านน้ำตกตาดขะมึดชั้นที่ 7 (ภาพถัดไป) เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางเดินปกติ แต่เป็นทางที่นายพรานใช้เดินทางและรอคอยเหยื่อ เช่น เยืองหรือเลียงผา ที่ชอบอาศัยและหากินตามโขดหินเบื้องล่างและ ตามหน้าผาสูงชัน ซึ่งระหว่างเดินทางเราก็เห็นร่องรอยของมัน เช่น รอยเท้าที่เหยียบย่ำบนพื้น รอยหญ้าหรือป่าละเมาะที่ลู่ล้มไปตามทิศทางที่มันเดินผ่าน เห็นขี้ที่ยังสดๆใหม่ๆ เกลี่อนอยู่หลายจุดที่มันผ่านไปหรือนอนพัก ในวันนั้น เราใช้เวลาเดินทางจากหมู่บ้านจนถึงจุดเป้าหมายเกือบ 4 ชั่วโมง ท่ามกลางสายฝน ถึงจุดเป้าหมายราวเที่ยงๆ จึงพักกินมื้อเที่ยงแล้วงีบเอาบรรยากาศสุดฟินใต้หน้าผาม่านน้ำตกนั้น (ภาพล่าง)
หมายเหตุ ภาพน้ำตกที่แสดงจุดพักใต้หน้าผานี้เป็นภาพที่ถ่ายไว้ก่อนหน้า ไม่ใช่วันที่เดินทางไปสำรวจหลายวันตอนนั้นปริมาณน้ำมากกว่าในภาพ
หลังจากพักเอาแรงกันแล้ว พวกเราก็เดินทางกลับในเส้นทางเดิม ท่ามกลางสายฝนที่ตกไม่หนักมาก แต่ท้องฟ้าปิดเกือบสนิท เพราะมีเมฆหมอกเคลื่อนมาปกคลุมเกือบตลอดเวลา จะมีบางช่วงที่ฟ้าเปิดบ้างก็แค่ 3-4 วินาทีเท่านั้น
ในขณะที่เดินทางกลับจะได้ยินเสียงน้ำตกกระทบโขดหินและผืนน้ำเบื้องล่าง ได้ยินเสียงน้ำไหลกระแทกแก่งหินในลำห้วยตวย เสียงดังกระหึ่มอึกกะทึกตลอดเวลา แต่มองไม่ค่อยเห็นทิวทัศน์ตรงหน้าผาน้ำตกและแก่งหินเบื้องล่าง เพราะนอกจากจะทัศนวิสัยปิดแล้ว ที่ริมหน้าผายังมีต้นไม้น้อยใหญ่และป่าละเมาะปกคลุมตลอดแนว หนาทึบบ้างไม่ทึบบ้าง แต่ส่วนใหญ่ป่าละเมาะจะสูงเกินกว่าระดับสายตาที่จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องหน้าและเบื้องล่างไม่ได้ถนัด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพและความแข็งแรงของหน้าผา ถ้าจุดใดเป็นทางน้ำไหล น้ำจะกัดเซาะทางและหน้าผาเป็นร่อง จุดใดต้านการกัดเซาะจนลึกไม่ได้ หินก็จะหลุดร่วงลงเบื้องล่าง จุดนั้นอาจจะโล่งหรือต้นไม้เบาบาง บางจุดที่อาจเกิดการกัดเซาะเป็นร่องลึกกินเข้าไปถึงหน้าผาอีกฝั่ง ต้นไม้และป่าละเมาะก็อาจเกือบไม่มีเลย ปัจจัยเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเดินและหน้าผาตลอดเวลา โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีน้ำฝนเป็นปัจจัยหลัก
วินาทีทองที่ถ่ายภาพทวิบรรจบ...
ในขณะเดินอยู่ใต้หน้าผานกแอ่น ณ จุดนั้นมีต้นไม้ไม่สูงใหญ่มากนัก มันเกาะอยู่ริมหน้าผาและยื่นออกไปตรงชะง่อนผา มีช่องว่างแว้บๆนิดหน่อยในจังหวะลมพัดโบกและฟ้าเปิดไม่กี่วินาที ในเสี้ยววินาทีนั้น สายตาผมบังเอิญมองลอดช่องกวาดลงไปทั้งเบื้องหน้าจนถึงเบื้องล่าง จึงได้เห็นภาพอลังการของสายน้ำตกทั้งสองตัวและจุดที่น้ำตกไปบรรจบกันแว้บหนึ่ง แม้ไม่อยู่ในมุมมองที่ดีนัก แต่มันก็ชัดเจนจนสะกดให้ผมหยุดชะงักเสมือนต้องนะจังงังอยู่ตรงนั้นทันที แต่เพียงชั่ว 2-3 วินาทีฟ้าก็ปิดสนิทอีกครั้ง
ผมจึงขอหยุดพักเพื่อจะเฝ้ารอโอกาสที่ฟ้าเปิดครั้งใหม่ อีกทั้งไม่แน่ใจว่าหากเดินต่อไปจะมีช่องว่างให้เห็นแบบนี้อีกหรือไม่ และเพื่อจะให้เห็นภาพในมุมสูงและเปิดกว้างยิ่งขึ้น ผมจึงขอปีนขึ้นไปบนต้นไม้ที่เกาะอยู่หน้าผา แต่ทีมงานบ้านก็ห้ามไว้ เกรงจะพลาดตกเหวตายกลายเป็นโศกนาฏกรรม แต่กระนั้น ผมก็ดื้อดึงดันยืนยันจะปีนต้นไม้เพื่อเก็บภาพให้ได้ ทีมงานจึงยอมแบบไม่เต็มใจนัก แล้วเอาเชือกมัดเอวผมไว้ก่อนปีนขึ้นต้นไม้ มือข้างหนึ่งก็ต่อประสานกับทีมงานแบบมัดข้าวต้ม เพื่อช่วยยึดโยงผมไว้ด้วย
ส่วนผมพยายามก้าวขาข้ามหน้าผาไปเกี่ยวต้นไม้ที่เกาะอยู่หน้าผาอย่างทุลักทุเล มันหวาดเสียวจนขาสั่นพั่บๆ ต้นไม้มันก็รื่นมาก เท้าผมข้างหนึ่งขึ้นไปยืนบนง่ามต้นไม้ได้ แต่ต้นไม้มันเอนวูบๆวาบๆไปข้างหน้าหลายองศา ผมจึงต้องเอนตัวไปแนบกับต้นไม้ ขาอีกข้างกอดเกี่ยวต้นไม้ไว้ เอาเชือกอีกเส้นพันลำตัวเองติดกันต้นไม้แต่ไม่แน่นนักพอขยับตัวได้ ต้นไม้มันไม่ใหญ่มาก ที่รากมันเกาะเกี่ยวกับหน้าผาแบบเห็นรากโผล่ออกมา มันเอนยวบๆยาบๆ คล้ายติดสปริง น่าหวาดเสียว ดูสีหน้าทีมงานแล้วดูหน้าเจื่อนๆ ทุกคน แต่ก็พยายามเซฟผมเต็มที่ ส่วนผมแม้จะยืนบนง่ามต้นไม้ได้ แต่ก็ยังไม่อยู่ในจุดที่ถ่ายภาพได้สะดวกนัก มือก็เหลือข้างเดียว เพราะอีกข้างจับมัดข้าวต้มกับทีมงานซึ่งดูเหมือนจะเป็นลุงผง ที่เท้าข้างหนึ่งของแกยันกับต้นไม้ อีกข้างเกาะยึดหน้าผา ส่วนลุงเจี่ยกับลุงหวันก็ต่อแขนมัดข้าวต้มกับลุงผงเป็นทอดๆ พร้อมทั้งยึดปลายเชือกอีกข้างที่ผูกตัวผมไว้กับต้นไม้อีกต้นตรงหน้าผาด้านใน ดึงขาข้างที่เกาะหน้าผาของลุงผงไว้ด้วย ส่วนผมยืนถือกล้องที่เป็นกล้องปัญญาอ่อน ยาชิก้า กึ่งดิจิทัล (ระบบถ่ายเป็นดิจิทัล ระบบบันทึกใช้ฟีล์ม)ที่เพิ่งถอย ออกมาใหม่เพื่องานสำรวจบ้านหนองหลวงโดยเฉพาะ ซื้อแบบเงินผ่อนรวมดอกเบี้ยก็ราว 13,000 กว่าบาท เรียกว่าทุ่มเททุ่มทุนสุดตัว อ้อ วันนั้นผมถือกล้องปัญญาอ่อนไป 2 กล้อง อีกตัวเป็น Olympus แต่ฟีล์มและแบตตารี่ก็หมดก่อนหน้าแล้ว
ในช่วงที่ยืนบนง่ามกิ่งไม้เตรียมการถ่ายภาพ แล้วชูกล้องขึ้นเหนือหัวด้วยมือขวา เพราะในระดับสายตาก็มองเห็นวิวจุดที่จะถ่ายภาพได้ไม่หมด นิ้วชี้แตะค้างไว้ที่ปุ่มชัตเตอร์ หันหน้ากล้องไปทางเป้าหมาย รอจังหวะฟ้าเปิดอยู่หลายนาที สักพักใหญ่ฟ้าก็เป็นใจทำท่าว่าจะเปิดแน่ๆ พอฟ้าเริ่มเปิดได้จังหวะวินาทีทอง ผมก็กดชัตเตอร์รัวๆได้แค่ 4-5 แชะเท่านั้น กล้องก็ขัดข้องใช้ไม่ได้อีกเลย ต้องลงจากต้นไม้มาแก้ไขเพื่อจะกลับขึ้นไปใหม่ แต่ก็ไม่สำเร็จ ตอนนั้นอดคิดไม่ได้ว่าอาจเป็นเพราะเจ้าป่าเจ้าเขาบันดาลให้ถ่ายภาพได้แค่นั้น เพราะไม่ได้บนบานศาลกล่าวขออนุญาตท่านก่อน หรือไม่ก็เพราะทีมงานภาวนาไม่ให้ใช้กล้องได้ จะได้ไม่ขึ้นไปเสี่ยงชีวิตอีก เมื่อขึ้นไปใหม่ไม่ได้จึงเลิกล้มความตั้งใจเดิม แต่นึกในใจว่ายังไงจะต้องรีบกลับมาจุดนี้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด ท่ามกลางความโล่งอกของทีมงานอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าภาพที่ถ่ายจะใช้ได้ซักกี่ภาพ เพราะต้องถอดเอาฟีล์มไปล้างดูเสียก่อน แต่ขณะนั้นก็ยังเปิดฝาหลังกล้องเอาฟีล์มออกเองไม่ได้ ฟีล์มม้วนนั้นจึงแช่หมักความชื้นอยู่ในกล้องตัวนั้นอีกหลายวัน
2-3 วันต่อมาผมเอากล้องกลับไปให้ช่างที่ศูนย์จ.อุบลฯ ที่ซื้อกล้องเพื่อเช็คอาการ ปรากฏว่ากว่าจะเปิดฝาเอาฟีล์ออกจากกล้องมาล้างได้ก็ใช้เวลาพอดู เพราะกลไกภายในเสียหาย ระบบแผงวงจรช็อต ซึ่งแม้จะอยู่ในช่วงรับประกัน ทางร้านก็ไม่สามารถเคลมให้ได้ เพราะถือว่าเราใช้ไม่ถูกวิธีตามปกติ มันไม่ใช่กล้องกันน้ำ หากจะส่งซ่อมก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าซ่อมเองที่ราคาซ่อมกับซื้อใหม่ก็คงพอกัน สรุปก็เป็นอันว่าต้องทิ้งกล้องตัวนั้นไปเลย แล้วก้มหน้าก้มตาผ่อนงวดที่ค้างต่อไปอีกหลายเดือน
ส่วนฟีล์มที่นำไปล้างก็ได้ภาพที่พอใช้ได้เพียงภาพเดียว ก็คือภาพที่ปรากฏบนหน้าปกหนังสือ "อัญมณีแห่งดงบอละเวน" ที่เห็นด้านบนนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงกล้าประกาศว่าภาพ"ทวิบรรจบ"ภาพนี้เป็นภาพที่นำออกเผยแพร่สู่สาธารณะเป็น"ครั้งแรกและเป็นภาพแรกในโลก" ขณะเดียวกันยังเป็น "ภาพเดียวในโลก" ไปตลอดกาลด้วยเช่นกัน
จริงๆแล้ว ก็อยากจะประกาศไปอีกด้วยว่ามันเป็นภาพแรกและภาพเดียวที่ลงทุนแพงที่สุดในโลก(ของผม)ด้วย...
Mr.Roger Green
10 October 2020
บันทึก
15
7
25
15
7
25
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย