10 ต.ค. 2020 เวลา 10:17 • ประวัติศาสตร์
อ่างศิลารำลึก..ยลตึกมหาราช – ราชินี
ต้นกำเนิดสถานตากอากาศแห่งแรกของเมืองไทย
โดย : รัฐพล ศรีวิลาศ
โฉมหน้าของตึกมหาราช หรือ ตึกขาว ที่สร้างขึ้นโดย เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ภาพจาก www.pantip.com
ชื่ออันแสนจะคุ้นหูของ ถิ่นย่านตำบล ‘อ่างศิลา’ แห่งชลบุรี หัวเมืองตะวันออกชื่อดัง ณ กาลครั้งหนึ่งนั้นเคยถูกเรียกขานว่า ‘อ่างหิน’ มาก่อน
จะขานนาม อ่างหิน หรือ อ่างศิลา ก็มีนัยความหมายเดียวกัน นั่นเป็นเพราะชุมชนชาวประมงริมชายฝั่งทะเลแห่งนี้ ได้สั่งสมชื่อเสียงมานมนาน ในฐานะเป็นแหล่งผลิต
สร้าง ครกหินคุณภาพของเมืองไทย ตั้งแต่ยุคหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา มาแล้ว
ว่ากันว่า กลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้ามาในยุคหลังสงครามนี่แหละ ได้เกิดผุดปิ๊งไอเดีย นำเอาหินเนื้อละเอียด ที่มีอยู่ดาษดื่นในแถบตำบลอ่างศิลามาแกะสลัก แปรรูป
จนหินด้อยค่า กลายเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ ทั้งครก และของใช้อีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่สร้างชื่อในปัจจุบัน
ไม่เพียงเป็นแหล่งทำครกเท่านั้น หากแต่ อ่างศิลา ยังเป็นถิ่นเพาะเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ แหล่งสำคัญ กระทั่งเป็นปฐมบท ตำนานหน้าแรกๆ ของ สถานพักตาก
อากาศริมชายฝั่งทะเล ของประเทศอีกด้วย..
หากไล่เรียงย้อนหลังกลับไปสู่ยุคสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4 ต้องพูดว่าบรรยากาศ อ่างศิลา เวลานั้นยังเต็มล้นไปด้วยชีวิตชีวา ทุกพื้นที่ตารางนิ้ว คลาคล่ำไปด้วยชาวตะวันตกหัวสีทอง และชาวบางกอก ที่นิยมเดินทาง
ออกจาก พระนคร มาพักผ่อนตากอากาศ สูดลมทะเลอันบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษกันอย่างคึกคัก รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยคนไข้ ที่ถูกส่งตัวมารักษาบรรเทาอาการ พักฟื้นร่างกายกันที่ อ่างศิลา ก็เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 4 เอง พระองค์ยังเคยเสด็จประพาส และประทับค้างแรมบน
เรือพระที่นั่ง ลอยลำอยู่ริมอ่าวอย่างสำราญ เบิกบานพระราชหฤทัย ตั้งหลายครั้ง
หลายราตรี และเมื่อย่านตำบลริมฝั่งทะเลแห่งนี้ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากชื่อดั้งเดิมทื่อๆ คือ “อ่างหิน” ก็ถูกเปลี่ยนนามมาเป็น “อ่างศิลา” เพื่อให้ดูคลาสสิค
ไพเราะรื่นหู ฟังดูเป็นสากลยิ่งขึ้นนั่นเอง..
ความสวยงามคลาสสิกของ ตึกแดง หรือ ตึกราชินี ซึ่งครั้งหนึ่ง เจ้าดารารัศมี ธิดาเจ้านครเชียงใหม่ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับ ภาพจาก www.oknation.net
ความป๊อปปูล่าของ อ่างศิลา เวลานั้น ทำให้เจ้านายชั้นสูง 2 พระองค์คือ 'สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์' (ช่วง บุนนาค) และ 'เจ้าพระยาภาสกรวงศ์' ร่วมกันสร้าง
ตึกขึ้นมา 2 หลัง เพื่ออุทิศให้เป็นแหล่งพักฟื้นของผู้ป่วย กลุ่มข้าราชการ ขุนนาง ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้ชื่อไว้ว่า 'อาศรัยสถาน' โดยอาคารหลังใหญ่สีขาว
สร้างโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ส่วนตึกสีแดงหลังเล็กย่อมลงมา
สร้างโดย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ปูมกำเนิดนี้เองจึงทำให้ อาคารคลาสสิก 2 หลังนี้
กลายมาเป็น สถานที่ตากอากาศที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมืองไทย
โดยปริยาย..
พอมาถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์อาคารทั้ง 2 หลัง ขึ้นใหม่อีกหน และพระราชทานนามตึกขาวว่า
ตึกมหาราช และให้ชื่อแก่ตึกแดงว่า ตึกราชินี ไปพร้อมๆ กัน
อาคารประวัติศาสตร์ 2 หลังนี้ ตั้งอยู่บริเวณโค้งอ่าวอ่างศิลา ใกล้กับท่าหอยตลาด
อ่างศิลา มีรูปลักษณ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป 2 ชั้น ที่เรียกว่า อิทธิพลตะวันตก
แบบเมืองขึ้น มีลักษณะผสมผสานทั้งไทย จีน ฝรั่ง ปะปนเข้าไว้ด้วยกัน
ตึกมหาราช หรือ ตึกขาว มีผนังก่ออิฐฉาบปูน คลุมหลังคาทรงปั้นหยา เอียงลาดมาด้านหน้าเป็นจั่วมุงกระเบื้อง ไม่มีชายคายื่นจากผนัง ไม่มีการติดตั้งกันสาดที่บานหน้า
ต่าง แต่ใช้เป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมแทน พื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีต พื้นชั้นบนปูด้วยไม้สัก บริเวณชั้นล่างหน้ามุข มีบันไดทางขึ้นแยกออกเป็น 2 ทางสู่กลางอาคาร
ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมของ “ตึกราชินี” หรือ ตึกแดง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีส่วนระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าอาคารที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดินที่เอียงลาด
หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนหน้าของอาคารหันหน้าออกทะเล มีมุขยื่นออกมาทั้ง
ชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างบริเวณมุขเป็นผนังทึบ มีประตูซุ้มโค้ง หน้าต่างบานคู่ ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรงและระเบียงเป็นปูนปั้นลูกมะหวด ส่วนเฉลียงระเบียงลูกกรงนั้นถูกใช้สอยเป็นทางเดินและที่รับลม มีลักษณะคล้ายคลึงกับ บ้านกงสุลอังกฤษ และโปรตุเกส ในสมัยนั้นอย่างมาก
โฉมหน้าความงดงามคลาสสิกในวันนี้ของ ตึกราชินี ที่กลายมาเป็น พิพิธภัณฑ์ทรงคุณค่าอีกแห่งของ ตำบลอ่างศิลา ภาพจาก www.oknation.net
ซึ่งกล่าวกันว่า นายช่างไทยได้ออกแบบตามความต้องการของชาวต่างชาติ ที่จะใช้อาคารนี้เป็นที่พักผ่อนริมชายทะเล เป็นการเฉพาะเจาะจง
ซึ่ง ตึกราชินี หลังนี้ ครั้งหนึ่งเจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้านครเชียงใหม่ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ยังได้ทรงเสด็จมาประทับ พักรักษาพระองค์เมื่อครั้ง พ.ศ.2449 อีกด้วย..
ด้วยความมีคุณค่ามากมายทางหน้าประวัติศาสตร์ และมีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม อย่างเหนือกาลเวลา กรมศิลปากร จึงทำการขึ้นทะเล อาคารคลาสสิกแห่งอ่างศิลาทั้ง 2 หลัง ให้เป็นโบราณสถานของชาติ และมีการปรับปรุงพื้นที่ภายในตัวอาคาร จัดตั้งขึ้นเป็น พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดชลบุรี มาจนถึง
ทุกวันนี้..
โฆษณา