11 ต.ค. 2020 เวลา 01:33 • สิ่งแวดล้อม
กว่าจะมาเป็น “Nature trail”
หลายๆ คนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คงรู้จัก Nature trail หรือที่เราเรียกว่า “เส้นทางศึกษาธรรมชาติ” เป็นอย่างดี แต่ก็อาจจะมีอีกหลายๆ คน ที่เคยไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ หรือสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติต่างๆ แต่ยังไม่มีโอกาสไปเดินเล่นในเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีการจัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยว เลยจะมาเล่าให้อ่านว่ากว่า กว่าจะมาเป็น Nature trail นี่เหนื่อยไม่ใช่เล่นๆ นะเออ
ศึกษาข้อมูลในพื้นที่เพื่อทำป้ายสื่อความหมาย
ในช่วงเวลาที่ทำงานกับทางมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เราเองถือว่าค่อนข้างโชคดีที่ พี่กุล ปัญญาวงค์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมูลนิธิฯในขณะนั้นเปิดโอกาสให้เราให้เราเรียนรู้การทำงานพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการ จนถึงการติดตามลงพื้นที่ทุกๆ ที่ที่มีโครงการเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในขณะนั้น เลยอยากจะมาเล่าประสบการณ์ว่างานพัฒนาเส้นทางฯ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ต้องรอบคอบคิดในหลายๆ ด้าน หลายๆ มิติ ไม่ใช่ว่าอยากทำตรงไหน แบบไหนก็ได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญหลายท่าน หลากหลายสาขาวิชาชีพ มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาเส้นทาง
พี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ และเข้าใจในเรื่องของการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นอย่างดี เราเองเคยได้ร่วมงานกับพี่นพรัตน์ แล้วรู้สึกชอบมาก เพราะตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกันพี่นพจะอธิบายบอกเล่า และถ่ายทอดความรู้ต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกัน ทำให้เข้าใจง่าย
 
ในการทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้น่าสนใจ จะต้องมองหาทรัพยากรที่โดนเด่นและสิ่งน่าสนใจในพื้นที่นั้น แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงในจุดที่เป็นถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์หายาก เพื่อไม่เป็นการรบกวนสิ่งเหล่านั้นด้วย และเส้นทางที่ดีควรเป็นเส้นทางวนกลับเป็นวงกลมโดยทางเข้าและทางออกอยู่จุดเดียวกัน หรือเข้าอีกทาง ออกอีกทาง แต่ถ้าเป็นเส้นทางที่ไปกลับทางเดิม อาจจะทำให้ผู้มาศึกษาเบื่อ และหมดความตื่นเต้นกับเส้นทางในตอนเดินกลับ
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของการสื่อความหมายในจุดต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้มาศึกษา การสื่อความหมายควรมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เพลิดเพลิน ไม่ยาวจนขี้เกียจอ่าน ไม่สั้นจนไม่รู้เรื่อง ไม่วิชาการเกินไปจนน่าเบื่อ รูปภาพประกอบก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ป้ายสื่อความหมายมีความน่าสนใจ
อย่างที่บอกเนื้อหาที่ดี จะทำให้คนที่เข้ามาศึกษาพอได้อ่านก็เกิดความเพลิดเพลิน และคิดตาม สำหรับเรา อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา เป็นอีกท่านหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวของธรรมชาติได้อย่างเพลิดเพลิน อาจารย์เป็นคนที่เล่าเรื่องได้สนุก ถ้าใครเคยเดินในเส้นทางกิ่วแม่ปาน ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จะเห็นป้ายสื่อความหมายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งภาพประกอบและเนื้อหา ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสุนทรีย์ พี่กุลเคยเล่าให้ฟังว่า พี่นพรัตน์ ซึ่งมีความรู้เรื่องของป่าไม้ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ได้สำรวจเส้นทาง และอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลง การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติในระบบนิเวศน์ ผ่านข้อมูลทางวิชาการ จากนั้น อ.เทพศิริ ได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนเล่าเรื่อง และถ่ายทอดเป็นสำนวนภาษาที่สละสลวย อ่านแล้วเพลิน รวมถึงวาดภาพประกอบป้ายสื่อความหมายเหล่านั้นด้วย
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว หัวใจสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ เรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และผู้ที่เข้ามาศึกษา นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสม กลมกลืนกับธรรมชาติ และการก่อสร้างต้องกระทบกับพื้นที่น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน ซึ่งบางพื้นที่ก็ใช้ได้เพียงแรงงานคนแบกวัสดุ อุปกรณ์ เดินเท้าเข้าไปได้เท่านั้น วัสดุที่ใช้นอกจากจะต้องดูไม่ขัดกับธรรมชาติแล้ว ความแข็งแรง ทนทาน ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน เพราะในพื้นที่ธรรมชาติป่าเขาโดยปกติแล้วจะมีความชื้นสูง วัสดุที่ใช้ก็ควรมีคุณสมบัติที่ทนต่อความชื้นได้ดีด้วย
เห็นมั๊ยล่ะ ว่ากว่าจะมาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เราๆ ท่านๆ ได้มาเรียนรู้ มาท่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การเดินสำรวจเส้นทางนี่ก็ไม่ใช่ว่าเดินครั้งเดียวแล้วได้เส้นทางเลย บางทีทีมสำรวจต้องเดินหลายรอบ เดินหลายจุด เพื่อหาจุดที่เหมาะสม หรือสิ่งโดดเด่นตามที่เล่ามา การก่อสร้างก็ยากลำบาก ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง
ที่เล่ามาทั้งหมด ก็แค่อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่มีโอกาสได้ใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติว่าลองแวะอ่านเรื่องเล่า เรื่องราวในเส้นทางระหว่างที่เดินสักนิด แล้วจะได้รู้ว่าในในแผ่นป้ายสื่อความหมายต่างๆ มันมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ที่ผู้จัดทำตั้งใจบอกเล่าถึงความสำคัญ และทรัพยากรที่โดดเด่นในพื้นที่ที่เราๆ ท่านๆ กำลังเพลิดเพลินอยู่ หรือหากจะไม่สนใจข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ว่ากัน ขอเพียงแค่ไม่โยก ไม่โหน ไม่ขย่ม ไม่ขูด ไม่ขีดเขียน ไม่งัดแงะ ไม่ออกนอกเส้นทาง ฯลฯ ก็พอ เผื่อว่าคนที่เค้าสนใจจะได้ใช้ประโยชน์บ้างก็เท่านั้นเองเนอะ 😊
โฆษณา