11 ต.ค. 2020 เวลา 23:50 • การตลาด
ทัศนอุจาด (Vision Pollution) 3/5
สรุปปัญหามลภาวะทางสายตาอันเกิดจากป้ายโฆษณา
1. ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมความปลอดภัยในทางชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน อันเนื่องมาจากป้ายโฆษณาต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนเพราะตำแหน่ง สถานที่ตั้งและลักษณะของป้าย
2. ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมความปลอดภัยในทางศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเนื่องมาจากป้ายโฆษณาอันเป็นผลมาจากเนื้อหาของป้ายโฆษณา
3. ปัญหาเกี่ยวกับการบดบังทัศนียภาพและการมองเห็น ทำให้เกิดทัศนะอุจาด (Visual Pollution) ต่อสภาพแวดล้อมในเขตเมือง
ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล ได้กล่าวไว้ในบทความของนิตยสารหน้าจั่ว ฉบับ 15 (2540) เกี่ยวกับสภาพมลภาวะทางสายตา ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ที่รกรุงรังดังกล่าวนั้นมาจากสาเหตุหลัก คือ การขาดมาตรการในการดูแลสภาพของการติดตั้งป้ายและปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองในปัจจุบัน
ข้อกฎหมายในการอนุญาตให้ติดตั้งป้ายในเขตตัวเมือง ถือว่าเป็นเครื่องมือของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่ส่วนใหญ่เกิดจากการละเลยไม่ปฏิบัติตามของเจ้าของป้ายหรือบางครั้งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สภาพป้ายที่พบเห็นจนเป็นปัญหาในตัวเมืองที่มีลักษณะผิดกฎหมายที่สามารถพบเห็นโดยทั่วไปได้แก่
1. ป้ายชื่อสถานประกอบการหรือป้ายโฆษณาคร่อมเหนือทางสาธารณะ เหนือทางเท้า ถนน เกาะกลางถนน สะพานลอยคนข้าม ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ทั้งในลักษณะป้ายถาวรและป้ายชั่วคราว ซึ่งป้ายลักษณะนี้มีให้พบเห็นได้โดยทั่วไปในย่านการค้า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากป้านลักษณะนี้ คือ ก่อให้เกิดความรกรุงรัง บดบังทัศฯยภาพ กีดขวางการเดินบนทางเท้า และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่สัญจรไปมาได้
2. ป้ายที่เป็นอาคารและสร้างอยู่ริมทางสาธารณะที่มีความกว้างไม่เกิน 6 เมตร ป้ายขนาดเล็กนี้แม้จะก่อปัญหาไม่มากนักแต่ก็ทำให้เกิดทัศนะวิสัยที่ไม่ดีและทำให้มุมมองที่ค่อนข้างแคบอยู่แล้วมีขนาดเล็กลงไปอีก
3. ป้ายที่มีลักษณะเป็นโครงอาคารหรือติดตั้งอยู่บนอาคาร จะอยู่ร่นถอยหลังไปจากถนนหรือทางสาธารณะราวๆ 6.00 เมตร เป็นป้ายที่มีจำนวนมากในเมืองใหญ่ๆของประเทศ ส่วนใหญ่ติตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าของตึกแถว นอกจากจะทำให้เมืองขาดความเป็นระเบียบแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาได้ หากป้ายมีการชำรุดเพราะแรงลมหรืออายุโครงสร้างเก่าแก่ของป้ายอาจพังลงมาในที่สาธารณะเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ตามที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งในช่วงฤดูฝน
4. ป้ายโฆษณาที่ติดตั้งช่องบังลม หน้าต่างหรือประตูของอาคาร ซึ่งป้ายลักษณะนี้พบเป็นจำนวนมากและเกือบทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่บนผนังด้านหน้าของตึกแถวที่เป็นอาคารร้านค้าที่อยู่ริมถนน การติดตั้งป้ายลักษณะนี้ ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น ทัศนียภาพสองข้างทางของถนนในเมืองขาดระเบียบ เป็นอันตรายต่อผู้ใช้สอยภายในอาคารเนื่องจากขาดการระบายอากาศที่ดี กีดขวาทางหนีไฟในบางอาคารหรือกีดกันพนักงานดับเพลิงในการเข้าไปช่วยเหลือผู้คนในอาคารเวลาเกิดเหตุร้ายหรือภัยพิบัติต่างๆ
5. การติดตั้งป้ายหรือโครงป้ายใต้กันสาดชั้นล่างของอาคารในลักษณะแขวนหรือยื่นออกมาด้านนอก เหนือทางเท้า ป้ายลักษณะเช่นนี้จะสร้างความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย รกรุงรังแก่สายตาของผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง กีดขวางทัศนะวิสัยในการมองเห็นทางเท้าของผเดินสัญจรไปมาเป็นอย่างมาก
6. การติดตั้งป้ายในที่ดินของเอกชนที่มีความสูงของป้ายเกินกว่า 15 เมตร แม้ว่าจะเป็นที่ดินส่วนบุคคล เจ้าของป้ายหรือเจ้าของที่ดินที่อนุญาตให้เช่า ให้ยืมที่ดินในการติดตั้งป้ายก็ตาม แต่การติดตั้งป้ายที่มีความสูงในพื้นที่ตนเองนั้น จะสร้างทัศนะวิสัยอันเลวร้ายต่อมุมมองวิวทัศนียภาพของเมืองและอาจเกิดภัยร้ายต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียงยามมีพายุฝนฟ้าคะนอง
7. ป้ายที่มีข้อความที่ขัดต่อศีลธรรมจรรยา จารีตประเพณี เช่นภาพสิ่งลามก ล่อแหลมอนาจาร ภาพโฆษณา สุราหรือข้อความเกี่ยวกับสุรา หรือภาพที่ทำให้ผู้คนสามารถตระหนักรับรู้เกี่ยวกับสุราได้ เป็นป้ายที่มีการโฆษณาบ่อยครั้งและพบเห็นเป็นจำนวนมาก ส่งเสริมการมอมเมา และเพิ่มยอดขายสินค้าหรือบริการที่ทำให้เกิดอบายมุขในสังคม
8. ป้ายผ้าใบหรือป้ายไวนิล (Vinyl) เป็นป้ายที่พบเห็นมากที่สุด มีจำนวนมากที่สุด เพราะราคาถูก จึงทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายนิยมใช้ในการสื่อสารโฆษณา ป้ายไวนิลจึงรกรุงรังเต็มบ้านเต็มเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะพบเห็นอย่างมากมายในช่วงเวลาเลือกตั้ง
ป้ายโฆษณาจะเป็นสิ่งที่เจริญเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทางธุรกิจ เมืองใดมีขนาดใหญ่ มีประชากรมาก เมืองนั้นก็จะมีป้ายโฆษณาเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งความไร้ระเบียบของเมืองและเกิด “ทัศนะอุจาด” (Visual Pollution) ดังที่กล่าวมา ดังนั้นในการดำเนินการแก้ไขเรื่อง มลภาวะทางสายตา นอกจากจะช่วยให้สังคม บ้านเมืองสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทัศนียภาพสวยงามช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุอันเกิดจากยวดยานและการเดินถนน ตลอดจนส่งเสริมศีลธรรมและค่านิยมอันดีงามให้แก่บ้านเมืองด้วย ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมืองอย่างจริงจังของผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ อันได้แก่เทศบาลต่างๆ ส่วนในด้านผู้ประกอบการหรือผู้ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ผ่าน “ป้าย” คือ ความตั้งใจที่จะดูแล รักษากฎระเบียบ วิธีการตามรูปแบบตามกฎหมายกำหนดแล้ว เจ้าของป้ายเหล่านั้นควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ยึดความต้องการและความปลอดภัยของมวลมนุษย์เป็นสำคัญ อย่าใช้หลักการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการตลาดมากจนเกินไป (อ่านต่อ 4/5)
โฆษณา