17 ต.ค. 2020 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
ทำไมคิวบาถึงขึ้นชื่อเรื่องการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก
ตั้งแต่ปี 1959 กลุ่มปฏิวัติคิวบาโค่นล้มรัฐบาลทหารของ ฟุลเฆนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) สำเร็จ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ขึ้นครองอำนาจแทนและ
เปลี่ยนคิวบาเป็นรัฐสังคมนิยม คิวบาเคยมีประชากรแพทย์จำนวนมากกระจุกกันใน
เมือง แต่บุคลากรเหล่านี้กลับลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ จนทั้งประเทศ
เหลือจำนวนแพทย์ราว 3 พันคนเท่านั้น แถบชนบทมีอัตราการตายที่สูงมาก
การแพทย์คิวบาอยู่ตกอยู่ในหายนะอยู่หลายปี
รัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบาจึงต้องลงมือวางรากฐานการแพทย์ใหม่เพื่อฟื้นฟูสาธารณสุขให้กลับมาดังเดิม นักปฏิวัติชื่อก้องโลกอย่าง เช เกบารา (Che Guevara) ผู้มีดีกรีเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ประกาศว่ารัฐบาลจะรับประกันสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลให้เข้าถึงประชาชนทุกคน
แม้จะถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร แต่คิวบายังได้รับการสนับสนุนทางไกลจากสหภาพโซเวียตทั้งเงินทุนและการค้าขาย เงินจำนวนมหาศาลถูกทุ่มไปกับการพัฒนาด้านการแพทย์และการศึกษา การศึกษาในคิวบาถือเป็นการบริการสาธารณะฟรี ผู้คนจากทั่วประเทศจึงมีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษากันอย่างถ้วนหน้า รัฐยังคอยโปรโมตเรียนต่อด้านการแพทย์จนจำนวนนักศึกษาแพทย์และ
วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมาก ปัญหาด้านทุพโภชนาการหมดไป
ภายใน 10 ปี รัฐบาลคิวบาก็ฟื้นฟูด้านสาธารณสุขกลับมาใหม่ได้ จำนวน
โรงพยาบาลเพียง 58 แห่งจากปี 1959 กลับทวีคูณเป็น 257 แห่งในปี 1976 นอก
จากโรงพบายาลทั่วไปที่ผุดขึ้นใหม่แล้ว ยังมีโรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงพยาบาล
จิตเวช รวมไปถึงสถานดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาด้านเทคนิกการแพทย์ก็ก้าวหน้าควบคู่ไปด้วยกัน เมื่อถึงทศวรษ 1980 สัดส่วนเครื่องมือทางการแพทย์และยาที่ผลิตเอง
ในประเทศคิวบาก็พุ่งสูงถึง 83%
เมื่อมองย้อนไปในวิถีชีวิตชาวคิวบาก็จะพบว่าพวกเขาผูกพันกับการแพทย์มาตั้งแต่
เด็ก ในชุมชนแต่ละแห่งจะมีศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นที่เปิดให้ความรู้ด้านการแพทย์
และรักษาสุขภาพ และยังมีคลีนิคประจำชุมชนที่เรียกว่า 'โพลีคลีนิค' (Polyclinic)
ที่นี่ชาวบ้านสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำและรับการรักษาได้ฟรี
การแพทย์ที่ใกล้ชิดชุมชนแบบนี้ทำให้หมอกับพยาบาลรู้ถึงปัจจัยความเสี่ยงหรือเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านในเขตนั้นมีสุขภาพที่ดีได้
แต่ภารกิจการแพทย์ของคิวบาไม่ได้หยุดแค่ในประเทศตนเอง คิวบายังยึดหลัก
'สามัคคีนานาชาติ' (Internationalism) อันหนึ่งในนโยบายสำคัญของแนวคิด
สังคมนิยมที่มองว่านานาประเทศควรจะให้ความร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวของมนุษยชาติมากกว่ามานั่งกีดกันและขัดแย้งกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
เดียว รัฐบาลคิวบาจึงส่งออกแพทย์ไปปฏิบัติภารกิจยังต่างแดน โดยเฉพาะใน
ประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามหรือประสบภัยทางธรรมชาติ ระหว่างหายนะแผ่นดิน
ไหวในประเทศเฮติเมื่อปี 2010 คิวบายังส่งแพทย์ไปในอัตราที่มากกว่าประเทศอื่นๆ เสียอีก
ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งเหตุผลที่ส่งออกแพทย์ก็เหมือนการแลกเปลี่ยน หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย คิวบาก็ขาดคู่ค้าและพันธมิตรตัวสำคัญไป การส่งออกแพทย์จึง
กลายเป็นข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนกับประเทศต้นทางด้วย เช่นคิวบาจะได้อัตรา
แลกซื้อน้ำมันหรือก๊าซในราคาต่ำกว่าตลาดมาก
ปัจจุบันคิวบายังคงรักษาสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่สูงที่สุดในโลกได้ ด้วยจำนวน
แพทย์ 8.2 คนต่อประชากร 1,000 คน และยังคงส่งออกแพทย์ไปช่วยเหลือ 22
ประเทศทั่วโลกระหว่างวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 แม้รัฐบาลในประเทศดังกล่าว
จะอยู่ตรงข้ามขั้วการเมืองกับคิวบาก็ตาม.
เรื่อง อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพประกอบ : ชุติมณฑน์ ปทาน
โฆษณา