13 ต.ค. 2020 เวลา 15:30 • อาหาร
Ep. 1 ความรู้เรื่อง “เ ห็ ด”
พอเข้าช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึง เดือนสิงหาคม เรียกได้ว่าเป็นช่วงฤดู “เห็ดหลาก” ก็คือมีเห็ดหลายชนิดที่เติบโตได้ดีในช่วงเวลานี้
แต่ปีนี้ฝนมาล่าช้าไปหน่อย เพิ่งจะได้น้ำกันเต็มๆ ก็ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม นี่เอง ฤดูเห็ดหลากก็เลยล่าช้าออกไปด้วย เพราะเห็ดจะเจริญเติบโตได้ดีต้องมีความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
เห็ดร่างแห
พอพูดถึงเห็ด หลายคนเข้าใจว่าเห็ดคือ พืชชนิดหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวก “รา” ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าราจำพวกอื่นๆ มีเส้นใยสามารถรวมตัวกันเกิดเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เราสามารถมองเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า
ในระบบนิเวศ เห็ด มีความสำคัญในการย่อยสลายอินทรีย์สารใหเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ในทางเศรษฐกิจเห็ดบางชนิดยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย
เห็ดนอกจากจะมีความสาคัญทางด้านอาหารแล้ว ยังมีอีกหลายชนิดที่สามารถใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดโรค และเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้อีกด้วย
แม้เห็ดในธรรมชาติมีหลายชนิดที่กินได้ แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่มีพิษ เพราะฉนั้นคนเก็บจะต้องมีความชำนาญ รู้จักชนิด ลักษณะ เฉพาะของเห็ดแต่ละชนิดเป็นอย่างดี
การจำแนกเห็ดพิษเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเห็ดในสกุลเดียวกัน บางชนิดรับประทานได้ บางชนิดเป็นพิษ ดังนั้นจึงควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่รู้จักเท่านั้น เนื่องจากความเป็นพิษของเห็ดบางชนิดรุนแรงถึงตาย บางชนิดทำให้เกิดอาการอาเจียน หรือท้องร่วง
สำหรับเห็ดพิษในประเทศไทย แบ่งตามความเป็นพิษออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่
• กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เช่น เห็ดระโงกหิน
• กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น เห็ดเหลือง
นกขมิ้น
• กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร
เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
ในปี 2563 (มกราคม - สิงหาคม) มีรายงานจากกระทรวงสาธารณะสุขเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติถึง 1,093 ราย และเสียชีวิต 7 ราย
กรมควบคุมโรค แนะนำว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หลังรับประทานเห็ด ให้ปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยอาเจียน ออกมาให้มากที่สุด และทำการช่วยดูดพิษโดยดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่าน (Activated charcoal) 2 แก้ว ดื่มแก้วแรกล้วงคอให้อาเจียน แล้วดื่มแก้ที่สองและล้วงคอให้อาเจียนอีกครั้ง แล้วรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์พร้อมนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือไปด้วย
ประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดป่าจำนวนมาก และเห็ดแต่ละชนิดมีความคล้ายกันมาก จึงมีทีมวิจัยที่กำลังศึกษาวิจัยเห็ดป่าแต่ละชนิดทั้งด้านกายภาพและชีวโมเลกุล เพื่อจัดจำแนกเห็ดพิษได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้พยายามจัดทำบาร์โค้ดเห็ดพิษในประเทศไทย สำหรับเป็นองค์ความรู้ เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงชนิดของเห็ดพิษที่ต้องระวังมากขึ้น
โฆษณา