15 ต.ค. 2020 เวลา 00:34 • ปรัชญา
จากพระสูตรก้อนเกลือท้ายบทความ จะเห็นได้ว่าบาปกรรมสามารถ ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ถ้าบาปน้อย ก็ทำให้ไม่ส่งผลได้ ด้วยการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
ดังนั้น การปฏิบัติธรรม มีอะไรบ้าง
1.การฟังธรรม
2.การถือศีล เช่น ศีล5 อุโบสถ8 กุศลกรรมบท10
3.การนั่งสมาธิ
4.การเจริญสติ ขณะอยู่ทางโลก
เราจะปฏิบัติธรรมตอนไหนได้บ้าง ขอตอบว่า ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาเลยครับ ให้ตั้งสติ ไว้ที่กาย จะลมหายใจ หัว มือ เท้า ก็ได้ อย่าให้มีความคิดและอารมณ์ใดเกิดขึ้น ( นิวรณ์5 )
ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และจะทำอะไรต่อไป ถ้าสิ่งนั้นเป็น อกุศล เช่น การผิดศีล นิวรณ์5 การไม่สำรวมอินทรีย์ การเพลินไปกับอารมณ์ การเสพกาม แบบ ขาดสติ เป็นต้น ให้รีบทิ้งเสีย หรืออย่าให้มันเกิด ประคองจิตไว้แบบนี้ตลอดทั้งวัน จนเข้านอน ก่อนนอนก็ให้ ทำสมาธิ ตั้งจิต ว่าเราจะหลับไป ไม่ให้ฝันไปหาอกุศลใดๆ
1
ทีนี้ การจะมีกำลังสติ ให้ได้ตลอดทั้งวัน ต้องสร้างกำลังสมาธิก่อน ให้ นั่งสมาธิ 5-15 นาที เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
ส่วนการฟังธรรม แล้วแต่สะดวก เช่น ตื่นนอน ขับรถ รอรถ ก่อนนอน หลังอาหาร
จุดสำคัญคือ ฟังแล้ว ต้องใคร่ครวญ พิจารณา ข้อธรรม แล้วน้อมเข้ามาสู่ตน นำไปปฏิบัติต่อ ครับ
ส่วนการวัดผล นั้นให้วัดจาก กิเลส ที่ลดลง เช่น มีอารมณ์โกรธ แล้วหายไวขึ้นเ หรือ ทานอาหาร น้อยลง ฟังเพลงน้อยลงการลืมของหรือการซุ่มซ่าม น้อยลง การทำงานผิดพลาดน้อยลง
เป็นต้น
กรรมเปรียบด้วยก้อนเกลือ ตามคำตรัสพระศาสดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย เช่นนั้นแหละ บาปกรรมนั้นย่อมให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนที่มาก
บุคคลเช่นไร ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้น ก็นำเขาเข้านรก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปรกติอยู่เป็นทุกข์ เพราะวิบากเล็กน้อย บุคคลเห็นปานนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็บุคคลเช่นไรเล่า ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่
มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้
บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะแต่ส่วนมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในขันใบน้อย
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในขันเพียงเล็กน้อยนั้น พึงเค็มดื่มกินไม่ได้เพราะก้อนเกลือโน้นใช่ไหม
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ใช่พระเจ้าข้า ฯ
พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ
ภิ. เพราะในขันน้ำมีน้ำนิดหน่อย ฉะนั้นน้ำนั้นจึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือนี้ พระเจ้าข้า ฯ
พ. เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือ
ลงในแม่น้ำคงคา
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แม่น้ำคงคาพึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นหรือไม่ ฯ
ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ
ภิ. เพราะในแม่น้ำคงคานั้น มีห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น ห้วงน้ำใหญ่นั้นจึงไม่เค็ม ดื่มได้ เพราะก้อนเกลือโน้น พระเจ้าข้า ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต หน้าที่ ๒๓๗-๒๓๙/๒๔๐ ข้อ ๕๔๐
โฆษณา