15 ต.ค. 2020 เวลา 13:39 • สิ่งแวดล้อม
Ep. 2 “หยากไย่”
เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยชอบแมงมุมสักเท่าไหร่ เพราะนอกจากบางชนิดจะมีพิษแล้ว หากปล่อยให้แมงมุมอยู่ในบ้านก็คงไม่พ้นสร้างปัญหาการสร้างใย จนเกิดเป็น “หยากไย่” ติดตามผนัง
.
จริงๆ แล้วแมงมุมนั้นทำตัวให้เป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพราะพวกมันทำหน้าที่ในการควบคุมประชากรแมลงและสัตว์ขนาดเล็กๆ ที่เป็นพาหะนำโรค เช่นเพลี้ย แมลงวัน แมลงสาบ
ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับ “หยากไย่” หรือเส้นใยแมงมุมกันสักหน่อย
เส้นใยแมงมุมนั้น เป็นเส้นใยโปรตีนธรรมชาติ  เมื่อโปรตีนถูกหลั่งออกมา จะถูกเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง หลังจากนั้นแมงมุมก็จะใช้ขาในการถักทอโปรตีนเหล่านี้ให้เป็นเส้นใยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างที่เราเห็นนั่นเอง
แมงมุมสายพันธุ์ที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นสีเหลืองทอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ว่า  Araneus diadematus  (garden cross-spider) พบมากในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ และแมงมุม Nephila clavipes (golden orb-web spider) พบได้ในทวีปอเมริกา
ด้วยคุณสมบัติพิเศษของใยแมงมุมซึ่งแม้เป็นเส้นใยที่บางขนาดแค่ไมโครเมตรจนเกือบมองไม่เห็นแต่มีความเหนียว ทนทาน และยืดหยุ่นได้ดี
ที่น่าทึ่งที่สุด ก็คือ เส้นใยบางๆ ของพวกมัน มีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กกล้าที่มีน้ำหนักเท่ากัน มีความเหนียวมากกว่าวัสดุจำพวกยาง มีความยืดหยุ่นสูง สามารถยืดออกได้ถึง 4 เท่าของความยาว
ไซม่อน เพียร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอจากประเทศอังกฤษ และ นิโคลัส กอดเลย์ นักออกแบบแฟชั่นชาวอเมริกัน นำเส้นใยแมงมุมสีทองมารังสรรค์เป็นชุดราตรีแบบคลุมไหล่ปักลวดลาย ทั้งคู่ต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี และใช้แมงมุมนับล้านตัวในการผลิตเส้นใย
ผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วิกตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต (The Victoria & Albert Museum) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อต้นปี 2012 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้คนได้ชื่นชมความงามของเส้นใยแมงมุม ผ่านเครื่องแต่งกายที่มีความงดงาม นับเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สรรสร้างขึ้น
นักวิจัยยังค้นพบวิธีการนำใยแมงมุมมาเพิ่มคุณภาพการรับเสียงของไมโครโฟน สำหรับอุปกรณ์ช่วยฟังของผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยความที่เส้นใยแมงมุมที่มีความบางเป็นพิเศษ ทำให้มีความไวสูงที่สามารถตรวจจับความเร็วของคลื่นเสียงได้ถึงย่านความถี่เสียงที่ต่ำเป็นพิเศษถึง 3 Hz (เฮิรตซ์)
นอกจากนี้ยังค้นพบวิธีการนำเส้นใยแมงมุมไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่น่าสนใจมากมาย เช่น การฟื้นฟูสภาพของเส้นประสาทหลังจากที่ได้รับความเสียหาย การนำไปสร้างชุดเกราะที่มีความแข็งแรงสูง
ไม่น่าเชื่อว่า “หยากไย่” ที่รกหูรกตาเรานั้น จะเป็นวัตถุดิบที่สุดมหัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงหันมาสนใจศึกษาเส้นใยแมงมุม และไม่หยุดที่นำเส้นใยแมงมุมมาพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ
โฆษณา