15 ต.ค. 2020 เวลา 16:41 • การเมือง
ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใดที่ไม่สูญเสีย
ทุกม็อบต้องมีคนเจ็บ-ตาย เสมอรัฐบาลถึงจะยอมออก
หลายประเทศทั่วโลกมี่เป็นประเทศทั้งแบบประชาธิปไตย และกึ่งประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การชุมนุมทางการเมืองใหญ่ๆ ต้องยอมรับเรื่องจริงที่ไม่มีวันหลีกเลี่ยงได้คือ ไม่มีการชุมนุมใดที่มีการปะทะ ไม่มีการชุมนุมใดที่ไม่สูญเสีย ไม่มีการชุมนุมใดที่ไม่มีคนเจ็บ คนตาย หรือเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หากการชุมนุมนั้นมีจุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง
การชุมนุมใหญ่โดยสันติของต่างฝ่ายขั้วความคิดทางการเมืองเพื่อยอมให้อีกฝ่ายทำตามข้อเรียกแต่โดยดีมัน "ไม่มีจริง"
เพราะเมื่อดีกรีความเข้มข้นทางการเมืองมันทวีเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือสถานการณ์ต่างๆ ที่จะขยับความรุนแรงขึ้นไปเป็นลำดับ
ฝ่ายรัฐผู้พยายามรักษาอำนาจจะใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อรักษาบัลลังก์ของตัวเองเอาไว้ ใช้ความเป็นรัฐออกทำสั่งหรือกฎหมายใดๆ เพื่อใช้อำนาจและเครื่องมือที่ตัวเองมีอยู่ เช่น กองทัพ หน่วยความมั่นคง และอาวุธยุทโธปกรณ์ ต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจ (ต่อให้จะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม)
ฝั่งผู้ประท้วงก็จะมีการตอบโต้กลับโดยสิ่งที่มีคือ แรงของมวลชน หรืออาวุธต่างๆ ที่พอจะหาได้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อปริมาณคนมากๆ ก็ย่อมมีแรงมาก แต่ประสิทธิภาพการทำลายล้างจะไม่เสถียร
ตามประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากลัวกว่าการเผชิญหน้ากันแบบซึ่งๆ หน้าก็คือ การสร้างสถานกาณร์ความวุ่นวายจากมือที่ 3 หรือ มือมืดที่มองไม่เห็น ที่แฝงตัวเข้ามาปั่นให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนนำไปสู่การที่รัฐใช้ความชอบธรรมเพื่อออกคำสั่งที่รุนแรงขึ้นในการปราบปรามได้ โดยใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่อันตรายที่สุดของการมีม็อบ เพราะเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครเป็นยังไง ต้องการอะไร และคิดจะทำอะไร
หากเมื่อมันถึงขั้นที่สถานการณ์ต่างๆ ถึงจุดขีดสุด ระเบิดเวลาของการปะทะจะเกิดขึ้น ในตอนนั้นการเรียกร้องใดๆ จะไม่มีผล เพราะเมื่อคราวที่ปากกระบอกปืนหันเข้าใส่ฝูงชนแล้ว คำว่า "ทำเกินกว่าเหตุ" หรือ "รังแกประชาชน" จะถูกตัดออกจากสารบบทันที มีเพียงคำว่า "ต้องจัดการภารกิจให้เสร็จ" ไม่มีคำว่าปราณี ต่อให้ต้องยิงประชนชนที่เป็น เด็ก ผู้หญิง หรือคนแก่ ที่ร่วมชุมนุมตรงนั้นก็พร้อมลั่นไก จะไม่มีความว่าเมตตาหรือความเป็นมนุษย์ใดๆ อีกต่อไป เพราะภารกิจมันจะถูกยกระดับสู่การยิง และฆ่า เพื่อสลายการชุมนุมเท่านั้น
หากมองภาพไม่ออกให้คิดย้อนไปถึงวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงโดนยิงตายในช่วงสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 หรือที่ชัดที่สุดคือม็อบฮ่องกงที่แม้แต่เด็กนักเรียน นักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนของชาติก็โดนจัดการไม่ต่างอะไรกับนักโทษ เพราะคำจำกัดความมันถูกปักหมุดไปแล้วว่าเป็นพวก "ก่อความไม่สงบ"
การเรียกร้องโดยชุมนุมอย่างสันติ เพื่อกดดันให้รัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงระบอบใดๆ จากที่เคยเป็นมาไปสู่สิ่งใหม่ มันไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะยอมลงจากอำนาจแต่โดยดี เพียงเพราะการมายืนปราศรัยโจมตีเฉยๆ อย่างแน่นอน แต่มันจะเกิดขึ้นจนกว่าจะมีคนเจ็บ คนตาย หรือมีความเสียหายใหญ่หลวงเป็นที่ประจักร จากการปะทะกันของพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อถึงเวลานั้นจะมีการประกาศลาออก ยุบสภาฯ ยอมลงจากอำนาจ...อย่างไม่เต็มใจ แต่คนเหล่านี้จะไม่ตาย และอาจกลับมาสู่เส้นทางการเมืองได้ใหม่ในอนาคตแน่นอน ซึ่งรวมไปถึงคณะรัฐมนตรีที่ต้องสิ้นสุดหน้าที่ ณ เวลานั้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หายไป ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองเหมือนทุกๆ สมัยที่ผ่านมา
มันคือความจริงที่ต้องยอมรับว่า ถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องมีคนตายคนเจ็บมหาศาล ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น แต่บทเรียนที่ผ่านมาในอดีต หรือในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมันเป็นแบบนั้น ซึ่งมันคือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครจะทิ้งอำนาจของตัวเองไปทั้งๆ ที่มีอาวุธให้ใช้ครบมือ
1
การชุมนุมถือเป็นการกระทำได้ตามกฎหมาย แต่มันก็เป็นการยอมรับการถูกจัดการจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน ดังนั้นไปชุมนุมก็ต้องระมัดระวังตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ ณ วันนั้นๆ มันจะเลยเถิดไปถึงขั้นไหน
1
ปล.ที่เขียนคือไม่ได้เชียร์ฝั่งไหน แต่เขียนจากประสบการณ์ชีวิตที่เคยทำงานในสายข่าวมาตลอดสิบปี ผ่านมาหลายสนามข่าวม็อบ ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นขอให้รู้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นผลจากการกระทำทั้งสิ้นไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม
ถ้าไปร่วมม็อบก็ต้องยอมรับว่าอาจต้องเจอการจัดการจากเจ้าหน้าที่ ที่อาจทำให้ถึงขั้นบาดเจ็บ หรือเล่นกันถึงตายได้ คำว่าปราณี ไม่มีจริงเมื่อถึงคราวที่ต้องใช้กำลัง
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จัดการม็อบและรัฐบาลก็ต้องยอมรับผลการสั่งลงมือถ้าหากจะต้องลงจากอำนาจ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า เขาจะไม่ตายกลางถนนอย่างแน่นอน
โฆษณา