16 ต.ค. 2020 เวลา 03:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กระโถนฤาษี หนึ่งในพืชกาฝากที่ไม่สังเคราะห์แสง
(เรียบเรียง โดย Yingyod Lapwong)
1
ความสามารถในการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) คือ คุณสมบัติพื้นฐานที่สุดของพืชที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ในชั้นประถมฯ (หลัง ๆ นักภาษาศาสตร์จะชอบให้เรียกการสังเคราะห์ด้วยแสง) กระบวนการนี้เป็นกระบวนการสร้างอาหารของพืช โดยการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ให้กลายเป็นน้ำตาลและก๊าซออกซิเจน โดยมีสารสีเขียว หรือ คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นตัวดูดซับพลังงานแสง นั่นทำให้เรามองเห็นใบไม้ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว
ในโลกของพืช แสงคือทรัพยากรอันมีค่า
ทำให้พวกมันปรับตัว หรือมีวิวัฒนาการเพื่อแย่งชิงแสงสว่าง ไม่ว่าจะเป็นการยืดลำต้นให้สูง แผ่กิ่งก้านให้กว้าง หรือแม้แต่เลื้อยเกี่ยวเกาะต้นไม่อื่นขึ้นไปรับแสงเบื้องบน
แต่เมื่อมีผู้ชนะ ก็ต้องมีผู้แพ้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการอันแยบยล โดยพืชหลายชนิดได้วิวัฒน์ตัวเองเป็นปรสิต คอยดูดกินอาหารจากพืชชนิดอื่น แทนที่จะสร้างอาหารด้วยตัวเอง หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในชื่อของ พืชกาฝาก ซึ่งในบรรดาพืชจอมโกงเหล่านี้ บางพวกก็ยังมีใบสีเขียวที่ทำให้มันพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่บางพวกก็มีวิวัฒนาการจนไม่เหลือใบ ราก หรือลำต้นเลย มีเพียงแค่ดอกไว้สืบพันธุ์เท่านั้น!
กระโถนฤาษี หรือบัวผุด (Rafflesiaceae) เป็นหนึ่งในพืชกาฝากที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด พวกมันไม่เหลือส่วนสีเขียวไว้เพื่อสังเคราะห์แสงเลย มีเพียงส่วนของดอก ที่เกาะติดอยู่กับเถาของพืชเจ้าบ้านที่เลื้อยอยู่บนพื้นดิน มันมีลักษณะคล้ายๆ กับดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ดอกของพืชในตระกูลบัวผุดมักมีขนาดใหญ่มาก โดยมีบัวผุดชนิด Rafflesia arnoldii ที่พบได้ในเกาะสุมาตราและบอร์เนียว เป็นพืชที่มีดอกใหญ่ที่สุดในโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 1 เมตรทีเดียว
ดอกไม้กลิ่นซากศพ เป็นหนึ่งในชื่อเรียกของพืชในตระกูลบัวผุด
เนื่องจากมันมีกลิ่นเหม็นเน่าคล้ายซากศพเมื่อดอกบานเต็มที่
ในเมื่อบัวผุดไม่มีใบ และอาศัยการดูดสารอาหารจากพืชชนิดอื่น พวกมันจึงมักขึ้นอยู่ตามพื้นป่าที่ไม่มีแสง ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของนักผสมเกสรอย่าง ผึ้ง และผีเสื้อ พวกบัวผุดจึงต้องอาศัยแมลงอีกกลุ่มหนึ่ง ในการผสมเกสร นั่นก็คือ แมลงวัน ซึ่งเป็นแมลงที่ชอบหากินตามพื้นป่าและกินเศษซากสัตว์เป็นอาหาร
อย่างไรก็ตาม ดอกของบัวผุดบานแค่เพียงไม่กี่วันเท่านั้น ทำให้การผสมเกสรเกิดขึ้นในเวลาจำกัด หลังจากนั้นก็จะเกิดการติดผล ผลที่สุกจะถูกสัตว์กินและถ่ายมูลไปทั่ว เป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของป่า หากโชคดีเมล็ดนั้นตกลงบนเถาของเครือเขาน้ำ บัวผุดดอกใหม่ก็จะเริ่มวงจรชีวิตอีกครั้ง
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของบัวผุด ก็คือ พวกมันไม่ได้แค่ขโมยสารอาหารจากพืชเจ้าบ้านเท่านั้น พวกมันยังขโมยดีเอนเอ (DNA) บางส่วนจากพืชเจ้าบ้านด้วย ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในโลกธรรมชาติ หลายคนอาจจะเคยเรียนกันมาว่า การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการส่งผ่านยีนนั้นจะเกิดขึ้นในกระบวนการสืบพันธุ์จากพ่อแม่ สู่ลูก ซึ่งเราเรียกมันว่าการส่งต่อยีนในแนวตั้ง (Vertical Gene Transfer)
Vertical Gene Transfer
แต่กระบวนการส่งผ่านยีนจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันในเชิงวิวัฒนาการก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราเรียกมันว่า การส่งผ่านยีนในแนวราบ (Horizontal Gene Transfer) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าบัวผุดบางชนิดมียีนในไมโตคอนเดรียกว่า 40% ที่ขโมยมาจากพืชเจ้าบ้าน แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากระบวนการส่งผ่านยีนจากพืชเจ้าบ้านไปยังพืชกาฝาก มีประโยชน์อย่างไรกันแน่
ในตอนหน้า เราจะมารู้จักกับพืชกาฝากอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความแปลกประหลาดขึ้นไปอีก เนื่องจากพวกมันไม่ได้ขโมยอาหารจากพืชด้วยกันเอง แต่มันขโมยจากเชื้อรา!
โฆษณา