16 ต.ค. 2020 เวลา 11:36 • สิ่งแวดล้อม
Ep. 3 “ใบไม้เปลี่ยนสี”
 
หน้าที่ของใบไม้ เปรียบเสมือนโรงอาหาร ที่ทำหน้าที่ปรุงอาหารแล้วส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ขั้นตอนในการปรุงอาหารนี้เราเรียกว่า “การสังเคราะห์แสง” นั่นเอง
.
ในการสังเคราะห์แสงของพืช จะมี “คลอโรฟิลล์“ ทำหน้าที่ดูดพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนสารวัตถุดิบคือน้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เป็น น้ำตาลกลูโคส ไอน้ำ และ ออกซิเจน
“คลอโรฟิลล์“ เป็นรงควัตถุที่มีสีเขียว นั่นจึงทำให้เราเห็นใบไม้เป็นสีเขียว แต่จริงๆ แล้วในใบไม้ไม่ได้มีแค่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังมีรงควัตถุสีอื่นๆ ซ่อนอยู่ หลักๆ ก็จะมีอยู่อีก 3 สี คือ สีเหลือง (แซนโทฟิลล์) สีส้ม (แคโรทีนอยด์) และ สีแดง (แอนโทไซยานิน)
.
ในช่วฤดูที่มีแสงแดดจัด อุณหภูมิที่อบอุ่น และในดินมีอาหารที่เพียงพอ พืชจะมีการสร้างคลอโรฟิลล์ออกมามาก ใบไม้จึงมีสีเขียวเข้ม ก็เพราะมีปริมาณคลอโรฟิลล์อยู่สูงนั่นเอง ในฤดูการนี้ใบไม้จะเร่งผลิตอาหารและสะสมเอาไว้
พอเข้าสู่ช่วงฤดูที่แสงแดด อุณหภูมิ อาหารและน้ำ เริ่มน้อยลง ใบไม้จะเริ่มหยุดการผลิตอาหาร และดึงเอาอาหารที่สะสมไว้มาใช้แทน
พืชจะสังเคราะห์แสงน้อยลง คลอโรฟิลล์ในใบไม้ก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีส้ม เหลือง หรือสีแดง เราจึงเห็นใบไม้หลากหลายสีสันในฤดูนี้ จนกระทั่งรงควัตถุทั้งหมดสลายตัวไปหมด คงเหลือไว้แต่เพียงเส้นใยเซลลูโลสและหลุดร่วงลงสู่พื้นดิน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการปรับตัวของต้นไม้ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของต้นไม้เอง
โฆษณา