16 ต.ค. 2020 เวลา 19:00 • ธุรกิจ
หาสิ่งสำคัญของชีวิตผ่านกระดาษและปากกา
.
.
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรานั้นเปลี่ยนไปเร็วมาก โลกหมุนเร็วกว่าเดิมมาก ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับอาการที่รู้สึกว่ามีของที่ต้องทำเยอะแยะไปหมด และเวลาช่างน้อยเหลือเกิน
.
รู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ทัน ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ
.
ความรู้สึกแบบนี้อาจจะเริ่มต้นจากความโกรธ หงุดหงิด และหากทิ้งไว้นานวันเข้า มันอาจจะกลายเป็นความสิ้นหวังได้
.
.
ในบางช่วงของชีวิตผมก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน
.
.
ผมคิดว่าที่เราทำอะไรไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง ส่วนนึงมาจากเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกับเรากันแน่ พอเราไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกับเรากันแน่ เราก็เลยเอาเวลาไปทำโน่นที ทำนี่ที ทำไปทำมา เรารู้สึกว่าอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง
.
เราไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกับชีวิตเราจริงๆ เพราะบางทีเราใช้วิธีการ “คิด” เอาว่าเรื่องนี้สำคัญ
.
.
แต่ผมพบว่า “ความสำคัญ” ของชีวิต ใช้วิธีการ “คิด” เอาไม่ค่อยได้ครับ
.
.
เรื่องที่สำคัญ “จริงๆ” กับชีวิตเราเกิดจากการลองทำ ลองใช้ชีวิต ลองใช้เวลาไม่ว่าจะกับผู้คนหรือกิจกรรม ฯลฯ
.
ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่คงทำอยู่แล้ว แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ถึงยังหาเรื่องที่สำคัญของชีวิตไม่เจอละ?
.
ผมคิดว่าคำตอบ คือ “เราไม่มีระบบการติดตามและประเมินผลครับ”
.
.
อ่านถึงตรงนี้คุณคงคิดว่าผมนี่มันช่างไม่มีความโรแมนติกในการใช้ชีวิตเอาเสียเลย เอะอ่ะอะไรก็จะประเมินผลอยู่ลูกเดียว
.
แต่เรื่องจริงคือสมองของเรานั้น มีความจำที่ไม่ดีเอามากๆ
.
.
ถ้าผมให้ทุกคนนึกตอนนี้ว่าเมื่อวันพุธของสัปดาห์ที่ผ่านมา เราทานอะไรเป็นอาหารในมื้อเช้า เที่ยง และเย็นบ้าง ผมเชื่อว่าคนเกือบทั้งหมดตอบไม่ถูกแน่นอน
.
และถ้าให้ถามลึกไปกว่านั้นว่าตอนทานอาหาร “รู้สึก” ยังไง เช่น เฉยๆ อร่อยมาก หรือ ฟินที่สุดในสามโลก คนส่วนใหญ่ก็จะตอบไม่ถูกเช่นกัน
.
และนี่แหละครับคือประเด็นสำคัญ
.
เราต้องมีระบบบันทึกสิ่งที่เราทำ คนที่เราเจอ และความรู้สึกของเราต่อคนและกิจกรรมนั้นๆ
.
เมื่อเราทำนานพอ เราจะพบว่า สิ่งที่เรา “คิด” ว่ามันจะทำให้เรามีความสุข ตอนที่เราได้มา เราไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น
.
.
หรือเราอาจจะพบว่า “คน” ที่เรา “คิด” ว่าเราขาดไม่ได้ ตอนที่เราอยู่กับคนๆ นั้น ความรู้สึกของเรามันไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่ความทรงจำของเราเลือกที่จะบอกว่าเราขาดเขาไม่ได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีความสุขกับคนนี้ขนาดนั้นเลยด้วยซ้ำ
.
ในขณะที่บางกิจกรรมที่เรา “คิด” ว่าไม่เห็นมีอะไรสำคัญมากมาย กลับเป็นกิจกรรมที่เติมเต็มชีวิตเราอย่างไม่น่าเชื่อ
.
ถ้าคุณบันทึกเรื่องเหล่านี้ทันที และทำอย่างต่อเนื่อง คุณจะพบเรื่องที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองเยอะมากครับ ทุกครั้งที่คุณกลับมอ่าน คุณจะได้แง่คิดเกี่ยวกับตัวเองที่เปลี่ยนไปตลอด
.
การทำแบบนี้จะช่วยตอบคำถามใหญ่ๆ ในชีวิตได้ด้วย
.
เช่น ถ้าเรามีตัวเลือกการทำงานสองงานเราควรจะเลือกงานไหนดี หรือ ถ้าเรากำลังตัดสินใจจะคบใครซักคนอย่างจริงจัง คนที่เราคุยอยู่นี่ใช่จริงๆ หรือเปล่า ฯลฯ
.
เมื่อคุณรู้ว่าอะไรสำคัญ คุณจะจัดการเวลาได้ง่ายขึ้น เพราะเราไม่มีเวลาสำหรับทุกเรื่อง แต่เราจะมีเวลาสำหรับเรื่องสำคัญครับ
.
นี่ยังรวมไปถึงเรื่องการใช้เงินด้วยนะครับว่า เราควรจะใช้เงินที่เราหามาได้อย่างยากลำบากกับอะไร เพื่อไม่ให้เราใช้เงินกับเรื่องที่เรา ‘คิด’ ว่าจะทำให้เรามีความสุข แต่จริงๆแล้วไม่มี
.
ผมคงไม่ลงรายละเอียดนะครับว่าการบันทึกต้องทำยังไง แต่ถ้าใครสนใจวิธีการ ผมแนะนำหนังสือเรื่อง “วิถีการบันทึกแบบบูโจ” เป็นเล่มที่เหมาะมากครับ
.
.
เมื่อคุณรู้อย่างแท้จริงแล้วว่าชีวิตคุณนั้นอะไรสำคัญ คุณจะเลิกใช้ชีวิตใน Zombie Mode เพราะทุกๆ วันคุณจะอยากให้เวลากับเรื่องที่สำคัญจริงๆ วันที่ดูเหมือนจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง จะมีค่าขึ้นมาทันทีครับ
.
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนเร็วแค่ไหน หรือเรื่องราวภายนอกจะโหดร้ายแค่ไหน แต่คุณจะสงบขึ้น โลกใบเดิมของคุณจะไม่เหมือนเดิมจริงๆ
.
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการหาให้เจอจริงๆ ว่าอะไรสำคัญ ผ่านการบันทึกและกลับมาทบทวนเพื่อทำความเข้าใจกับตัวเอง
.
เหมือนที่ Martina Navratilova นักเทนนิสชื่อดังเจ้าของแชมป์ 18 แกรนด์สแลมเคยกล่าวไว้ว่า...
.
.
“Keeping a journal of what’s going on in your life is a good way to help you distill what’s important and what’s not.”
.
“การจดบันทึกชีวิตของคุณเป็นวิธีที่ดี ที่จะช่วยกลั่นกรองว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ”
หาสิ่งสำคัญของชีวิตผ่านกระดาษและปากกา
โฆษณา