17 ต.ค. 2020 เวลา 00:06 • ข่าว
"หลักการสลายการชุมนุมตามกฎหมาย"
ขอขอบคุณภาพจาก Thai PBS
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณแยกปทุมวัน ใกล้ศูนย์การค้าสยามพารากอน
เหตุการณ์ครั้งนี้มีการ "ใช้กำลัง" ต่อผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่มาชุมนุม "โดยสงบและปราศจากอาวุธ"
จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามกฎหมายซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าในสถานการณ์ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม
วันนี้ The Legal Topics จะอธิบายประเด็นดังกล่าวให้ทราบกันครับ
1. การชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานและจะสลายการชุมนุมตามอำเภอใจมิได้
การชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ
เมื่อเป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองแล้ว รัฐก็มีหน้าที่ต้อง "อำนวยความสะดวก" ในการจัดการชุมนุม และงดเว้นไม่เข้าไปจำกัดเสรีภาพดังกล่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสั่งห้าม หรือการสลายการชุมนุม เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจเอาไว้
ในส่วนของการสลายการชุมนุมนั้น กฎหมายที่ให้อำนาจดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ "พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุมสาธารณะทุกรูปแบบตั้งแต่การจัดจนถึงการเลิกการชุมนุมในสถานการณ์ปกติและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
2. ขั้นตอนในการสลายการชุมนุมตามกฎหมายในสถานการณ์ปกติ
ขอขอบคุณภาพจาก Thai PBS
ในส่วนของการสลายการชุมนุมในกรณีที่ยังไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มีขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติตามดังนี้
2.1 ต้องปรากฏว่ามีการชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายก่อน
การจะสลายการชุมนุมได้ต้องปรากฎว่ามีการชุมนุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายก่อน หากไม่ปรากฎว่ามีการชุมนุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุมไม่ได้เด็ดขาด
การชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายต้องเป็นไปตามเหตุที่ระบุไว้ใน มาตรา 21 คือ
ก) การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การชุมนุมที่ "ไม่สงบและมีอาวุธ" หรือการชุมนุมโดยไม่แจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุม เป็นต้น
ข) การชุมนุมสาธารณะที่ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง หรือในบริเวณทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล หรือสถานที่สำคัญอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
เมื่อเกิดเหตุตามข้อ ก) เจ้าหน้าที่ต้อง “ประกาศ” ให้ผู้ชุมนุม “เลิก” ชุมนุม “ภายในระยะเวลาที่กำหนด”
แต่หากเกิดเหตุตามข้อ ข) เจ้าหน้าที่ต้อง “ประกาศ” ให้ผู้ชุมนุม “แก้ไข” ให้ถูกต้อง “ภายในระยะเวลาที่กำหนด”
2.2 การสลายการชุมนุมต้องขอ “คำสั่งศาลแพ่ง” หรือ “คำสั่งศาลจังหวัด” ก่อนเว้นแต่มีเหตุร้ายแรง
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการประกาศตามข้อ 2.1 เรียบร้อยแล้วแต่ผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุมหรือยังไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ต้องร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเพื่อมี “คำสั่ง” ให้ผู้ชุมนุม “เลิก” การชุมนุมสาธารณะนั้นก่อน จะด่วนลงมือสลายการชุมนุมโดยไม่ขอคำสั่งศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ศาลยังไม่ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะได้
เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ประกาศ ศาลจะมีคำสั่งโดยออก “คำบังคับ” ให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมสาธารณะภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดต่อไป
แต่หากศาลเห็นว่า การชุมนุมไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย เช่น เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยปราศจากอาวุธ ศาลจะยกคำร้อง และเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมไม่ได้
ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐมี "ภาระการนำสืบ" ว่าการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรเพราะกฎหมาย "สันนิษฐานไว้ก่อน" ว่า การชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย
กรณีศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม คำสั่งดังกล่าวให้นำไปปิดไว้ในบริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะและประกาศให้ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปทราบคำสั่งดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ชุมนุมกระทําการใด ๆ ที่มีลักษณะ “รุนแรงและอาจเป็นอันตราย แก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดการชุมนุมและดำเนินการยุติการชุมนุมโดยไม่ต้องขอคำสั่งศาลก่อนได้ และผู้ชุมนุมมีสิทธิโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อศาลแพ่งต่อไป
ขอขอบคุณภาพจาก Thai PBS
2.3 ประกาศให้พื้นที่ชุมนุมสาธารณะเป็นพื้นที่ควบคุม
หลังประกาศและปิดคำสั่งศาลให้ผู้ชุมนุมทราบแล้วแต่ผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เจ้าหน้าที่ต้องรายงานศาลและประกาศกำหนดให้พื้นที่ชุมนุมและปริมณฑลของพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุม
หลังจากประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมแล้ว ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่กำหนดและห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต
2.4 เข้าสลายการชุมนุมเมื่อผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุม
หลังจากประกาศให้ออกจากพื้นที่ควบคุมในระยะเวลาที่กำหนดแล้วแต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมออกมา เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ “กำลัง” เข้า “คลี่คลายสถานการณ์” ได้โดยดำเนินการให้มีการยุติการชุมนุมตามยุทธวิธี “จากเบาไปหาหนัก” และตาม “หลักการใช้กำลัง”
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้อง “เตือน” ให้ผู้ชุมนุมและผู้คนในบริเวณนั้นทราบก่อนว่าจะเข้ายุติการชุมนุมด้วย
“หลักการใช้กำลัง” คือ หลักการใช้กำลังหรืออาวุธในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังเท่าที่ “จำเป็น” และต้อง “ได้สัดส่วน” กับภัยความรุนแรงที่เผชิญ เช่น หากผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนและกำลังเล็งมาที่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจใช้อาวุธกระทำการโต้ตอบเพื่อป้องกันตนเองได้
แต่หาก “ไม่มีความจำเป็น” ต้องใช้กำลัง เช่น ผู้ชุมนุมไม่ได้ก่อภยันตรายหรือมีอาวุธ หรือมีความจำเป็นต้องใช้กำลังแล้วแต่กลับใช้กำลัง “เกิน” สมควรแก่เหตุ เช่น ผู้ชุมนุมถือท่อนไม้แต่เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงใส่ผู้ชุมนุม ก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดตามกฎหมายได้
การใช้น้ำฉีด ต้องใช้เพื่อยุติการชุมนุมหรือยับยั้งป้องกันเหตุเท่านั้นและระมัดระวังไม่ฉีดไปที่อวัยวะบอบบาง เช่น ดวงตา เป็นต้น
การใช้สารควบคุมการจลาจล เช่น แก๊สน้ำตา ต้องใช้เพื่อยุติการชุมนุมหรือยับยั้งป้องกันเหตุเท่านั้น และให้ใช้ในระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม ทั้งนี้ ต้องมีการ “เตือน” ผู้ชุมนุมก่อนการใช้สารดังกล่าวด้วย
การยิงกระสุนยาง ให้ยิงไปที่เป้าหมายที่มีท่าทีคุกคามเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองหรือบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ยิงสุ่ม และเล็งยิงที่อวัยวะส่วนล่างของเป้าหมาย
อาวุธหรืออุปกรณ์ที่มีอำนาจการทำลายสูง เช่น เครื่องยิงระเบิด เอ็ม 79 ปืนกล “ห้ามไม่ให้ใช้เด็ดขาด”
ขอขอบคุณภาพจาก Thai PBS
2.5 กรณีร้ายแรงสามารถเข้าสลายได้โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล
ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทําการใด ๆ ที่มีลักษณะ “รุนแรงและอาจเป็นอันตราย แก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” เจ้าหน้าที่ “สั่ง” ให้ยุติการกระทํานั้นโดยไม่ต้องขอคำสั่งศาลก่อนได้
หากเจ้าหน้าที่สั่งแล้วยังไม่หยุดก็มีอำนาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้เช่นกันโดยทำตามวิธีการในข้อ 2.3 ถึง 2.4
หากผู้ชุมนุมเห็นว่าการกระทำของตัวเองไม่ใช่ความรุนแรง ไม่เห็นพ้องกับคำสั่ง ก็สามารถยื่นคําร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อพิจารณาภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่มีคําสั่ง และหากไม่เห็นพ้องกับคำสั่งศาลก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ต่อไปได้
1
หากไม่มีการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะรุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ยุติการชุมนุมโดยไม่ขอคำสั่งศาลก่อน หากกระทำเช่นนั้นไปก็ถือเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบและทำให้การสลายการชุมนุมต่อจากนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบไปด้วย
2.6 พรก.ฉุกเฉินไม่ใช่กฎหมายที่ให้อำนาจสลายการชุมนุมโดยตรง แต่เป็นกฎหมายที่ใช้ในการปราบปราม ระงับยับยั้ง กรณีอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติได้
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พรก.ฉุกเฉิน ใช้บังคับในกรณีเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ กล่าวคือ เหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของรัฐซึ่งมีมาโดยฉุกเฉินและรุนแรง กฎหมายต่าง ๆ ที่ในยามปกติที่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดฉบับนี้จะไม่นำมาใช้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายในสถานการณ์ปกติจึงไม่นำมาใช้แก่การชุมนุมในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยผลของมาตรา 3 ในพระราชบัญญัติดังกล่าว
ปัจจุบัน มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร และมีการประกาศห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังนั้น การชุมนุมในขณะนี้จึงถือเป็นความผิดตามพระราชกำหนดฯนี้ และทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่ถือเป็นความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ในปราบปราม หรือระงับยับยั้ง การกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ก็ควรปฏิบัติตามหลักการสากลในการสลายการชุมนุมโดยคำนึงถึงยุทธวิธีจากหนักไปหาเบาและหลักการใช้กำลังอย่างเคร่งครัดเพราะจะกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาลเอง
มีข้อสังเกตว่า การจะออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ต้องปรากฎเหตุฉุกเฉินตามความหมายที่กำหนดไว้ใน พรก. ดังกล่าวก่อน และต้องไม่ใช่กรณีที่ฝ่ายรัฐกระทำการยั่วยุเพื่อสร้างสถานการณ์เสียเองในลักษณะ agent provocateur หากกระทำไปเช่นนั้นก็อาจเป็นเหตุในการร้องขอต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศที่ออกตามความใน พรก. ดังกล่าวได้ด้วย
1
อย่างไรก็ตาม มาตรา 16 ของพระราชกำหนดดังกล่าวก็ "ตัดอำนาจ" ศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นั่นหมายความว่า ประเทศเราไม่ระบบ "ตรวจสอบถ่วงดุล" ความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเลย แม้แต่รัฐสภาก็อภิปรายเรื่องนี้ไม่ได้ มีเพียงกรณีเดียวที่อาจยับยั้งการออกประกาศฯนี้ได้ คือ กรณีนายกฯประกาศสถานการณ์โดยลำพังต้องให้ "ครม." อนุมัติอีกครั้งภายใน 3 วันนับแต่ประกาศ นั่นหมายความว่า หาก ครม. ไม่ให้ความเห็นชอบประกาศฯที่ออกตาม พรก. ก็ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอันสิ้นสุดลง แต่หาก ครม. อนุมัติภายใน 3 วัน ประกาศฯนั้นก็มีผลต่อไป
2.7 การสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมเป็นความผิด
การสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้อื่นอาจทำให้หน่วยงานต้นสังกัดและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการเข้าสลายการชุมนุมโดยอาศัยอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ด้วย
จะเห็นได้ว่า การสลายการชุมนุมจะกระทำตามอำเภอใจมิได้ และจะสลายได้ก็แต่โดยเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมายอาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้สั่งการและปฏิบัติงานต้องรับผิดตามกฎหมายได้
Reference
โฆษณา