17 ต.ค. 2020 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
เนียลสัน เฮส์…รำลึก ห้องสมุดสีขาว และอนุสรณ์แห่งความรักนิรันดร์
โดย : รัฐพล ศรีวิลาศ (นายโปส)
เบื้องหน้า เนียลสัน เฮส์ ห้องสมุดสีขาว บนถนนสุรวงศ์ ภาพจาก www.bangkok.go.th/bangrak
ชื่อของ “ถนนสุรวงศ์” คือหนึ่งในกลุ่มถนนเส้นประวัติศาสตร์เก่าแก่ สายหลักของ
กรุงเทพฯ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โน่นแล้ว อดีตของถนนสุรวงศ์ ถือเป็นอีกหนึ่งย่านธุรกิจสำคัญที่ถูกเชื่อมร้อยเข้ากับ ถนนสายสำคัญอีกหลากสายทั้ง
เจริญกรุง สีลม และสาทร ที่ผู้คนต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี..
นอกจากจะเป็นย่านธุรกิจหลักแล้ว ถนนสุรวงศ์ ยังเป็นต้นเค้ากำเนิด เรื่องราวแรกๆ ของ ชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าสู่สยามในยุคเริ่มต้นอีกด้วย นั่นจึงเป็นเหตุให้
ถนนสายนี้จึงเคล้าปนไปด้วย กลิ่นอายของตึกรามสถาน ในบรรยากาศแบบฝรั่งตะวันตกอยู่พอสมควร
ถนนสุรวงศ์ จากปี พ.ศ.2496 หรือเมื่อ 67 ปีที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบตะวันตก ภาพจาก www.pinterest.com
เรื่องราวจุดเริ่มต้นของ ห้องสมุดแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2427 หรือ 136 ปีที่ผ่านมา ครั้งต้นรัชสมัย รัชกาลที่ 5 เมื่อ แหม่มชาวเดนมาร์คนามว่า ‘เจนนี่ เนียลสัน เฮส์’
(Jennie Neilson Hays) ได้เดินทางติดสอยห้อยตามสามี คือ
‘น.พ.โธมัส เฮย์วาร์ด เฮย์’ (Dr.Thomas Heyward Hays) อาจารย์สอนวิชาแพทย์
คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช และนายแพทย์ใหญ่แห่งโรงพยาบาลทหารเรือไทย ชาวอเมริกัน เข้ามาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
ดร.โธมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘หมอเฮส์’ ผู้นี้ ชาวไทยน่าจะคุ้นเคย
กันดีพอสมควร เพราะนอกจากจะเป็นบุคคลผู้สร้างคุณูปการแก่วงการแพทย์สมัย
ใหม่ให้กับเมืองไทยแล้ว หมอเฮส์ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง ‘ห้างขายยาอังกฤษตรางู’ ร่วมกับ ‘ดร.ปีเตอร์ กาแวน’ (Dr. Peter Gowan) นายแพทย์ชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2435 ซึ่ง
เป็นร้านขายยาทันสมัยยุคแรก ที่มีเภสัชกรประจำ ตั้งโดดเด่นอยู่ที่ปากตรอกโรงภาษี หัวมุมถนนสุรวงศ์ นั่นเอง..
‘น.พ.โธมัส เฮย์วาร์ด เฮย์’ (Dr.Thomas Heyward Hays) หรือ หมอเฮส์ ภาพจาก www.readthecloud.co
‘เจนนี่ เนียลสัน เฮส์’ (Jennie Neilson Hays) แหม่มชาวเดนมาร์ค ภรรยาของ หมอเฮส์ ภาพจาก www.readthecloud.co
ในช่วงเวลา 10 กว่าปี ก่อนหน้าที่ แหม่มเจนนี่ จะเดินทางมาถึงเมืองไทย ตรงกับปี พ.ศ.2412 สองศรีภรรยาของ ‘หมอบรัดเลย์’ นายแพทย์อเมริกันลือนาม ผู้บุกเบิกวง
การพิมพ์ของเมืองไทย และ ‘หมอสมิธ’ แพทย์หลวงประจำราชสำนักสยาม ก็ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘ห้องสมุดบางกอกเลดี้ส์ ไลบราลี่ แอสโซซิเอชั่น’
(Bangkok Ladies Library Association) ขึ้นมา เพื่อให้บริการหนังสือ เป็นขุมคลัง
ความรู้แก่ชาวต่างชาติ ในเมืองไทย โดยไม่หวังผลกำไรใดๆ ทั้งสิ้น
โดยที่ตั้งของห้องสมุด ในเวลานั้น ก็ได้ถูกโยกย้าย ปรับเปลี่ยนสถานที่อยู่หลายครั้งครา โดย แหม่มเจนนี่ ผู้นี้เอง ที่ในเวลาต่อมา ได้เข้ามามีบทบาท เป็นหนึ่งในผู้ร่วม
ก่อตั้ง และอุทิศตนเป็น กรรมการดำเนินงานห้องสมุด มาเป็นระยะเวลายาวนานถึง
25 ปีเต็ม
กระทั่ง แหม่มเจนนี่ ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน จากสาเหตุอหิวาตกโรค ในปี พ.ศ.2463 ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 6 ด้วยความอาวรณ์ อาลัยรักของ หมอเฮส์ ผู้เป็นสามี เขาจึงตัดสินซื้อที่ดินราว 1 ไร่ ริมถนนสุรวงศ์ เพื่อสร้างห้องสมุดขึ้นมาอีกหนึ่งหลัง
เพื่ออุทิศให้แก่ภรรยาโดยเฉพาะ เป็นดั่งอนุสรณ์เครื่องย้ำเตือน ถึงความรักที่มีต่อ
ภรรยา และตั้งชื่อไว้ว่า ‘ห้องสมุด เนียลสัน เฮส์’ มานับตั้งแต่นั้น
1
ภาพถ่ายขาว - ดำ ของอาคารห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ในยุคสมัยแรก ภาพจาก www.neilsonhayslibrary.org/about/history
ความคลาสสิคภายในห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ เมื่อครั้งอดีต ภาพจาก www.neilsonhayslibrary.org/about/history
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาล่วงผ่านไปเพียง 2 ปี ภายหลังจากที่ ห้องสมุดอันเป็นอนุสรณ์
รักแห่งนี้ ได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2465 หมอเฮส์ ก็ล้ม
ป่วยลง และเสียชีวิตตามภรรยาไป อย่างไม่มีวันหวนกลับ โดยร่างไร้วิญญาณของ
หมอเฮส์ นั้นได้รับการฝังเคียงข้างกับภรรยา ภายในสุสานโปรเตสแตนต์ หรือ สุสานฝรั่ง บนถนนเจริญกรุง ตรงตามพินัยกรรมที่เขาระบุไว้ ตลอดกาล
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ แห่งนี้ มีความงดงามด้วยสถาปัตยกรรมทรงฝรั่งชั้นเดียว
ฉาบทาสีขาว ในรูปแบบนีโอ – คลาสสิค ที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน
โดยสถาปนิกนามกระเดื่องชาวเมืองตูริน ‘มารีโอ ตามัญโญ’ (Mario Tamagno)
ผู้เข้ารับราชการ ภายในกระทรวงโยธาธิการของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 และสร้าง
ผลงานการออกแบบ ลือชื่อไว้มากมายให้กับแผ่นดินไทย โดยเฉพาะ
พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังพญาไท ตำหนักจิตรลดา ไปจนถึง สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นายช่างใหญ่ตามัญโญ ชาวอิตาเลียน กลับเคยกล่าวเอาไว้ว่า..
ห้องสมุด เนียลสัน เฮย์ ต่างหาก คือผลงานการออกแบบที่เขารักมากที่สุด
‘มารีโอ ตามัญโญ’ (Mario Tamagno) สถาปนิกใหญ่ผู้ออกแบบ ห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ ภาพจาก www.th.wikipedia.org/wiki/มารีโอ_ตามัญโญ
ห้องสมุดทรงฝรั่งสีขาวหลังนี้ มีรูปโฉมความสวยเด่นอยู่ที่ ผังอาคารที่มีความ
สมมาตร ทั้งความยาว และความกว้าง เท่ากันในทุกๆ ด้าน มีทางเข้าเป็นโถงรูปทรงกลมที่โอ่โถง มีหลังคาโดมแบบทรงโค้ง สไตล์อิตาเลียน และมีผังอาคารเป็นตัว H
เฉกเช่นเดียวกับ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ประกอบกับ เสาคอรินเทียน สูงชะลูดดูหรูหรา รับกับหน้าต่างทรงโค้งที่สง่างาม วางกั้นผนังไว้ 2 ชั้น ที่มีช่องอากาศตรงกลาง สำหรับถ่ายเทอากาศ ไล่ความชื้นที่จะมา
ทำลายหนังสือ ส่วนของหลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าว มีหัวเสาที่วิจิตรบรรจง ด้วยการสลักลวดลายทุกต้น ผนังโดยรอบอาคารเป็นหน้าต่างบานเกล็ดใน
ซุ้มโค้งคั่นด้วยเสาอิง อีกทั้งใต้ตัวตึกยังถูกขุดให้เป็นบ่อน้ำ เพื่อแผ่กระจายความ
เย็นให้กับตัวอาคารอีกด้วย..
ความโอ่โถงงดงามของซุ้มโค้ง และหัวเสาสีขาวของห้องอ่านหนังสือ ภายใน ห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ ภาพจาก www.readthecloud.co/location-neilson-hays
ห้องสมุดสีขาวอนุสรณ์แห่งความรักของ หมอเฮส์ ที่ถือกำเนิด อยู่คู่เมืองหลวงของ
ประเทศไทย มายาวนานเกือบ 100 ปี แห่งนี้ นับเป็นห้องสมุดที่เป็นเจ้าของ
คอลเลกชันหนังสือภาษาต่างประเทศทั้งเก่าและใหม่ จำนวนมากกว่า 20,000 เล่ม
มากที่สุดในประเทศไทย
เป็นดั่งสวรรค์ของคนรักหนังสือ ที่เปิดให้บริการแก่ผู้เป็นสมาชิกของห้องสมุด อย่าง
เหนียวแน่น นอกจากนี้แล้ว เนียลสัน เฮส์ ยังมีส่วนของ ‘โรทันดา แกลลอรี่’
อันเป็นพื้นที่สำหรับใช้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนในวาระต่างๆ ทั้งจาก
ศิลปินชาวไทย และต่างชาติ ที่เข้าร่วมแสดงผลงานตลอดทั้งปีอีกด้วย
จากเรื่องราวจุดกำเนิด และความเป็นมากว่าศตวรรษของ เนียลสัน เฮส์ คงไม่เกิน
เลยแต่อย่างใด ที่เราจะขนานนามแก่ ห้องสมุดสีขาวบริสุทธิ์แห่งนี้ ว่าเปรียบได้ดัง
‘ทัช มาฮาล’ ใจกลางกรุงเทพมหานคร นั่นเอง...
ความสวยงาม ร่มรื่นภายนอกของ ห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ ในปัจจุบัน ภาพจาก www.readthecloud.co/location-neilson-hays
ภาพถ่ายขาวดำของ หมอเฮส์ และแหม่มเจนนี่ ประดับอยู่ภายในกรอบ วางตั้งอยู่บนชั้นหนังสือ เคียงคู่ ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ไปตราบนาน ภาพจาก www.adaymagazine.com/neilson-hays-library-of-love
เรียบเรียง และเขียนปรับปรุงใหม่จาก บทความ เนียลสัน เฮส์... ห้องสมุดอนุสรณ์
ความรัก จาก คอลัมน์ The Classic Place โดย รัฐพล ศรีวิลาศ วารสาร Advanced
Thailand Geographic ปีที่ 14 ฉบับที่ 116 พ.ศ.2552
แหล่งข้อมูล อ้างอิงเพิ่มเติม
โฆษณา