18 ต.ค. 2020 เวลา 05:43 • การเมือง
การจัดการปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัว.......
🚦รอยแยกในสังคมไทย
2
เมื่อวานเขียนถึงปัญหาการแสดงจุดยืนทางการเมืองในโลกออนไลน์ไปแล้ว วันนี้ขอเขียนต่อเนื่องถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครอบครัวกันบ้าง
ก่อนอื่นขอเล่าเคสหนึ่งให้ฟังก่อน..
ผมมีญาติคนหนึ่งเป็นคุณแม่ที่มีลูกอยู่ ม.ปลาย ทุกวันนี้แทบจะพูดอะไรกันไม่ได้เลย เพราะเห็นต่างกันทางการเมือง
คนเป็นแม่บอกว่า
"วัน ๆ ลูกเอาแต่ดูทวิตเตอร์ ไม่รับสื่อช่องทางอื่นบ้างเลย
บอกให้ลองรับฟังคนอื่นบ้าง ก็ไม่ยอมเชื่อแม่ ปวดหัวมาก"
ส่วนคุณหลาน ม.ปลายก็บอกว่า "แม่ไม่รู้อะไร เชื่อแต่เรื่องเดิม ๆ อะไร ๆ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้วแม่ เราจะอยู่แบบนี้ตลอดไปไม่ได้
เราต้องเป็นประชาธิปไตยกว่านี้"
สรุปว่า ทุกวันนี้ ยังไม่คุยกัน...อยู่กันคนละมุมบ้าน...
ปัญหาในครอบครัวแบบนี้กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
เพราะเราต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของชุดความคิด ของคนต่างยุค ต่างสมัย มันมีอยู่จริง
บ้านไหนที่เห็นคล้อยตามไปในทางเดียวกันก็ค่อยยังชั่ว แต่บ้านไหนที่เห็นต่างกัน ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวใหญ่ มีคนรุ่นปู่ รุ่นย่า ลุง ป้า น้า อา
อยู่รวมกันกับคนรุ่นลูก รุ่นหลาน
แล้วดันมีความเห็นทางการเมืองคนละด้าน ....
รับรอง บ้านนี้กินข้าวไม่อร่อย
เรื่องนี้มีคำแนะนำจากคุณหมอที่เป็นจิตแพทย์ออกมาแนะนำอยู่บ่อยครั้งเมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองแบบนี้
คุณหมอแนะนำว่าเราควรบริหารจัดการความเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัวกันอย่างไร
ถึงจะลดความขัดแย้งลงได้ พัฒนาไปสู่ความเห็นร่วมที่สร้างสรรค์
เราลองร่วมกันศึกษาและนำไปปรับใช้พร้อม ๆ กันนะครับ
♥️อย่างแรกคือมีสติ สติ และสติ
ทุกครั้งที่จะคุยการเมืองกันในบ้าน ต้องตั้งสติก่อน
อย่าใช้อารมณ์เด็ดขาด ห้ามดุ ด่า
อย่าใช้คำรุนแรง
♥️ต่างคนต่างยอมรับกันและกันให้ได้ว่า ที่เราเห็นต่างกันเพราะเราได้รับข้อมูลมาแตกต่างกัน
พ่อ แม่ อาจจะเชื่อในประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่วนลูกก็เชื่อในกลุ่มสังคมของเขา ในข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เขาคุ้นเคย
♥️ฟังกันก่อน ค่อยอธิบาย
เราควรฟังความเห็นของอีกฝั่งหนึ่งก่อน ให้ต่างคน ต่างบอกถึงเหตุและผลที่เชื่อเช่นนั้นออกมาให้หมด อย่ารีบขัดคอ รับฟังจบครบถ้วน แล้วค่อยอธิบายความคิดเห็นของตัวเอง
♥️หากฟังแล้ว เกิดอารมณ์โกรธ ให้หยุดก่อน ..
หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อได้ฟังสิ่งที่ตรงข้ามกับชุดความคิด ย่อมเกิดความโกรธ ความหงุดหงิดขึ้นได้ ถ้ารีบสวนออกไป ก็จะมีแต่คำประชดประชัน คำเสียดสี สุดท้ายก็จะทำให้ความไม่เข้าใจกัน ถูกถ่างออกไปเรื่อย ๆ
♥️ผู้ใหญ่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างของความอดทน
ให้คุยกันตอนที่ทั้งสองฝ่ายมีความใจเย็น หากกำลังคุกรุ่นอยู่อย่าเพิ่งรีบคุย พ่อ แม่ ต้องรู้จักแสดงความอดทน แสดงความใจเย็นให้ลูกดู
♥️เรามีธง อย่าลืมว่าเขาก็มีธง
เราต้องยอมรับว่า สาเหตุที่เกิดความขัดแย้งเพราะต่างคนต่างมีธงในใจ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จะปักธงตัวเองลงในใจอีกฝ่าย ต้องคำนึงถึงธงของอีกฝ่ายด้วย ทางที่ดี อย่าไปปักธงของตัวเองดีกว่า ...ต่างคนต่างถือไว้เฉย ๆ พอ
♥️คิดต่างกันเป็นเรื่องปกติ
อย่าไปคาดหวังให้ความคิดของคนในบ้านต้องเหมือนกัน มันจะทุกข์เปล่า ๆ ยอมรับข้อนี้ให้ได้ว่า เราคิดไม่เหมือนกันได้ ใส่ความเห็นอกเห็นใจเข้าไปมาก ๆ ให้มากกว่าการจะเอาชนะคะคาน
♥️คุยเรื่องอื่นบ้าง
ถึงประเด็นการเมืองจะกำลังร้อนแรง แต่ในบ้าน เราก็ไม่ควรคุยวนเวียนกันแต่เรื่องการเมือง
ผ่อนคลายด้วยการหันไปคุยเรื่องอื่น ๆ ที่เบาสมอง เรื่องตลก โปกฮา
เรื่องที่เห็นไปในทางเดียวกันบ้าง
♥️ถ้าเครียดกันมาก แยกห่างกันบ้างก็ดี
ถ้าทำหลายวิธีแล้ว ดูท่าทีจะไม่ยอมลดราวาศอกกัน ให้ถอยออกมา อย่าเผชิญหน้า ต่างคน ต่างออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง เช่นออกกำลังกาย สปา เล่นโยคะ นั่งสมาธิ เล่นกีฬา หรือร้องเพลงก็ได้
♥️การเมืองเปลี่ยนแปลงได้
แต่ครอบครัวจะอยู่กับเราตลอดไป
ไม่ว่าคุณจะเชื่อและศรัทธาทางการเมืองในรูปแบบไหน ฝั่งไหนก็ตาม
สุดท้ายแล้ว การเมืองก็ไม่ได้คงอยู่
ถาวร ตัวละครการเมือง ระบบ ระเบียบ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ยึดถือไปก็ใช่ว่าจะมั่นคง
แต่ครอบครัว ความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นญาติ พี่น้อง ยังอยู่
เราไม่ได้เป็นครอบครัวกันเพราะระบอบการเมือง
เราเป็นครอบครัวกันเพราะสายเลือด สายสัมพันธ์
อันไม่ใช่สิ่งที่จะตัดกันได้เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
แยกให้ออก ระหว่างบ้านกับบ้านเมือง...
ผมหวังว่าบทความนี้จะเกิดประโยชน์นะครับ....ในเวลาเช่นนี้
นสพ.เดลินิวส์
ขอบคุณนักอ่านที่รักทุกท่าน
ติดตามอ่านบทความดี ๆ ได้ที่
โฆษณา